ภาษีกำไรขายหุ้น

การเสนอให้จัดเก็บ “ภาษีกำไรขายหุ้น” หรือ Capital Gains Tax ของสภาพัฒน์


ลูบคมตลาดทุน : ธนะชัย ณ นคร

การเสนอให้จัดเก็บ “ภาษีกำไรขายหุ้น” หรือ Capital Gains Tax ของสภาพัฒน์

ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย

หากจำกันได้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เสนอไปยังรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง และทุกครั้งเรื่องจะเงียบหายไป

จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ทางกระทรวงการคลัง เขาก็ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่

ยิ่งล่าสุดได้คุยกับผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากร

เขาก็บอกเป็นทำนองว่า “เป็นเรื่องเก่ามาเล่าใหม่”

นั่นคือ สภาพัฒน์ มักจะใช้โอกาสที่ได้ไปพูดในงานสัมมนาต่าง ๆ และมักจะหยิบเรื่องนี้มาพูดทุกครั้ง

ในมุมมองของสภาพัฒน์ที่ยังไม่ยอมถอยเรื่องนี้

เขามองว่า การจัดเก็บภาษีกำไรขายหุ้น จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประชากรไทยได้อีกทางหนึ่ง

เข้าใจว่าสภาพัฒน์ มองว่า คนเล่นหุ้น หรือนักลงทุนในตลาดหุ้นเป็น “คนรวย” หรือมีอันจะกิน ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้นมีทุกระดับ

หรือไล่ตั้งแต่กลุ่มวัยรุ่นที่เรียนมหาวิทยาลัย คนเพิ่งเริ่มทำงาน หรือทำงานประจำมานานแล้ว กลุ่มนักลงทุนจริง ๆ และกลุ่มคนที่ใช้ชีวิตหลังเกษียณ

คนที่ร่ำรวยจากตลาดหุ้นจริง ๆ หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มีจำนวนไม่มากหรอก

ในมุมกลับกันคนที่ขาดทุนจากตลาดหุ้นอาจมีจำนวนมากกว่าด้วย

ดังนั้น ประเด็นเรื่อง “ลดความเหลื่อมล้ำ” ด้วยการเก็บภาษีจาก Capital Gains Tax จึงดูแล้วไม่ค่อยสมเหตุสมผล

ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมีนโยบายเรื่องการเปิดเสรีตลาดทุน

นโยบายต่าง ๆ ที่ขัดต่อการเปิดเสรี หรือจะเป็นอุปสรรคจึงไม่ควรถูกนำมาใช้

จะว่าไปแล้ว ทุกวันนี้ภาษีที่จัดเก็บจากตลาดหุ้นมีมาจากหลายธุรกรรม เช่น บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เงินปันผล

ส่วนธุรกรรมการซื้อขายหุ้น จะมีการหักภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากค่าคอมมิชชั่นที่นักลงทุนต้องเสียให้กับโบรกฯ อยู่แล้ว และหากยังมี Capital Gains Tax อีก ตลาดหุ้นคงมีแต่จะถอยหลัง

เรื่องนี้ แน่นอนว่าคนในวงการตลาดหุ้นคัดค้านแน่นอน

มีการเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ด้วยกัน

พบว่า ไม่มีประเทศไหนเลยที่จัดเก็บภาษีประเภทนี้

อย่างในย่านอาเซียน ไม่มีแน่นอน

ส่วนประเทศที่จัดเก็บนั้น จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ ที่ตลาดหุ้นเขาเกิดมาแล้ว 200 ปี นักลงทุนเข้าใจเรื่องการลงทุนอย่างดี และอีกหลาย ๆ ปัจจัย

ฉะนั้น เรื่องภาษีอะไรต่าง ๆ ที่เขาจัดเก็บ เขาก็จะศึกษาแล้วว่า ไม่ได้มีผลกระทบกับตลาดหุ้นหรือการลงทุน

จึงมีข้อเสนอกลับไปว่า เวลาจะเสนอเรื่องอะไร ก็ควรจะเปรียบเทียบกับขนาดของตลาดหุ้น ขนาดเศรษฐกิจของประเทศ และอีกหลาย ๆ ปัจจัยเข้ามาประกอบ

ทว่า เรื่องนี้ยังอาจจะพอเบาใจได้

เพราะเป็นการเสนอมาจาก “ช้าราชการประจำ” อย่างสภาพัฒน์

ไม่ได้เป็นแนวคิดของนักการเมือง หรือรัฐมนตรีที่ทำงานด้านเศรษฐกิจ ที่ส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจเรื่องของตลาดหุ้นมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เชื่อว่าเรื่องนี้ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจจะไม่เห็นด้วย

หรือ “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลังที่ให้สัมภาษณ์กับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ก็บอกเป็นทำนองไม่ค่อยเห็นด้วยซักเท่าไหร่

โดยบอกว่า เป็นหน้าที่ของกรมสรรพากร และจะต้องศึกษาให้รอบคอบ

ขณะที่กรมสรรพากรเองก็บอกแล้วว่านี่คือ “เรื่องเก่า”

แม้ว่าจะไม่ได้บอกชัดเจนว่าจะเก็บหรือไม่เก็บนั้น

แต่มีการบอกเป็นนัยว่า ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้แน่นอน

หรือหากจะเกิดขึ้นจริง ๆ

นั่นหมายความว่า ตลาดหุ้นไทยจะต้องพร้อม 100% หรือไปสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ นั่นแหละ

 

Back to top button