TRT คว้างานผลิตหม้อแปลง 333 MVA มูลค่ากว่า 267.8 ลบ. จ่อส่งมอบไตรมาส 1/63

TRT คว้างานผลิตหม้อแปลง 333 MVA มูลค่ากว่า 267.8 ลบ. จ่อส่งมอบไตรมาส 1/63


นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT เปิดเผยว่า ในปี 2562 นี้ ถือได้ว่าบริษัทฯ ประเดิมเปิดศักราชใหม่ด้วยผลงานที่โดดเด่น สามารถคว้างานจัดซื้อจัดจ้างในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เลขที่สัญญา S100664-3161-TIEC-TX-04 ในงานจัดซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 333.33 MVA 500 kV นำไปใช้งานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง อุบลราชธานี 3 จำนวน 6 ยูนิต รวมมูลค่างานกว่า 267,831,700 บาท โดยได้รับเกียรติจาก นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมลงนาม

โดยการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ที่ทางบริษัทฯได้รับความไว้วางใจจาก กฟผ. ในครั้งนี้ จะส่งมอบภายในวันที่ 27 มกราคม 2563 และ 27 มีนาคม 2563 บริษัทฯ มีความภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะถือได้ว่าเป็นบริษัทฯ เพียงแห่งเดียวของคนไทยที่สามารถผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดกำลัง 500 kV หรือขนาดใหญ่นี้ได้ จากความตั้งใจในการพัฒนาบุคลากรของเราที่ไม่หยุดนิ่ง ให้มีความรู้ความสามารถในด้านวิศวกรรมไฟฟ้าทัดเทียมอุตสาหกรรมไฟฟ้าของโลกได้

นอกจากนี้ ผลประกอบการของบริษัทฯ ในปี 2561 ที่ผ่านมามีรายได้จากการขาย 2,094.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 364.16 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 21.05% เนื่องจากมีการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงเพิ่มขึ้น และบริษัทในเครือมีรายได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ บริษัทฯ มีรายได้จากการบริการ 440.70 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนเล็กน้อย 4.48 ล้านบาท หรือ 1.01% เนื่องจากรายได้บริการหม้อแปลงของบริษัทฯ ลดลง จากเหตุผลที่กล่าวมาแล้ว ในภาพรวม ปี 2561 บริษัทฯ และบริษัทในเครือ มีกำไรขั้นต้นจากการขาย และบริการ 21.90% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 20.10%  นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กล่าวปิดท้าย

ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า งานจัดซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของ กฟผ. ในครั้งนี้ เป็นโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

โดยโครงการดังกล่าว เป็นการเสริมความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ในระดับ 500 kV Main Grid เพื่อรองรับโครงการพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งรองรับโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพรวมกันทั้งหมดประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก

นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการส่งไฟฟ้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ไปยังศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคกลาง และเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าของประเทศ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย

 

Back to top button