อ้อยที่รอเคี้ยว

หลังจากอดทนรอคอยมาเกือบ 1 ปี ในที่สุดข้อตกลงซื้อขายกิจการ ตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ระหว่าง บริษัททำธุรกิจผลิตไฟฟ้า โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. (ที่ปตท.ถือหุ้นทางอ้อม ผ่านบริษัทลูกที่ถือหุ้นใหญ่ อย่าง พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และไทยออยล์ (TOP))  เพื่อเข้าซื้อกิจการ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ต่อจากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม กลุ่ม ENGIE จากฝรั่งเศส ก็ได้รับการอนุมัติจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล 

หลังจากอดทนรอคอยมาเกือบ 1 ปี ในที่สุดข้อตกลงซื้อขายกิจการ ตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 ระหว่าง บริษัททำธุรกิจผลิตไฟฟ้า โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. (ที่ปตท.ถือหุ้นทางอ้อม ผ่านบริษัทลูกที่ถือหุ้นใหญ่ อย่าง พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และไทยออยล์ (TOP))  เพื่อเข้าซื้อกิจการ บริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW ต่อจากผู้ถือหุ้นใหญ่เดิม กลุ่ม ENGIE จากฝรั่งเศส ก็ได้รับการอนุมัติจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

การอนุมัติดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังจากที่อุปสรรคสำคัญถูกขจัดออกไป นั่นคือการที่ GLOW ได้ทำการขายหุ้นใน SPP1 ให้กับกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) แล้ว ซึ่งจะทำให้เข้าเงื่อนไขการรวมกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดการลดการแข่งขันการให้บริการพลังงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก

การเปลี่ยนแปลงเชิงเทคนิคด้วยวิศวกรรมการเงินเพียงพลิกฝ่ามือ ทำให้เกิดอภินิหาริย์ทางกฎหมายนี้ จะทำให้แผนยุทธศาสตร์ โตทางลัด ของปตท. ที่จะทำให้เป็นกลุ่มทุนมีกำลังผลิตไฟฟ้าของ GPSC เพิ่มขึ้นราว 1.5 เท่า มาที่ระดับ 4,800 เมกะวัตต์ (MW) บรรลุเป้าหมาย

แผนยุทธศาสตร์รุกคืบเป็นเจ้าใหญ่ด้านการผลิตไฟฟ้า เกิดขึ้นภายใต้ข้ออ้าง 4 ข้อรองรับความชอบธรรมในการทำข้อตกลงดังกล่าว (ซึ่งเดิมคาดว่าจะจบได้ภายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา) ได้แก่

1) จะทำให้ GPSC เป็นผู้นำในตลาดผลิตไฟฟ้าทางลัดจากพอร์ตของ GLOW

2) อัตรากำไรสุทธิของ GLOW ที่เหนือกว่า GPSC มาก จะเพิ่มเสน่ห์ให้ฝ่ายหลังเกินคุ้มต้นทุนที่จ่าย

3) จะสร้างพลังผนึกทางยุทธศาสตร์ให้กับ GPSC ที่อยู่ในธุรกิจที่ ความใหญ่คือเกณฑ์วัดธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ

4) ผลพลอยได้คือมีลูกค้าระยะยาวให้กับก๊าซธรรมชาติที่เครือ ปตท.ขุดและหามาได้ยาวนาน

ความสำคัญของดีลนี้ อยู่ที่ว่า GLOW ถือเป็นกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าและผู้ให้บริการด้านสาธารณูปโภคทางอุตสาหกรรมในภาคเอกชนรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีฐานการผลิตไฟฟ้าหลัก 8 แห่ง กำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งสิ้น (Installed capacity) 3,207 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำทั้งสิ้น 1,206 ตัน/ชั่วโมง กำลังผลิตน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 5,482 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และกำลังการผลิตน้ำเย็น 3,400 ตันความเย็น

ประเด็นเปราะบางของดีลซื้อขายกิจการดังกล่าว ไม่ใช่เรื่องเงื่อนไขหรือราคาซื้อขายระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ แต่อยู่ที่ลูกค้าที่ซื้อไฟฟ้าบางส่วนของ GLOW อยู่เดิม ที่เกรงว่าการเปลี่ยนเจ้าของ GLOW เป็นรายใหม่ จะกระทบอำนาจต่อรองซื้อไฟฟ้าฝั่งผู้ซื้อ

คำร้องเรียนจากลูกค้าซึ่ง “ทรงอิทธิพล” ที่ซื้อไฟฟ้าจาก GLOW ถึงความกังวลว่าการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้เกิดการผูกขาดกิจการไฟฟ้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ GLOW และ GPSC ครองส่วนแบ่งตลาดอยู่รวมกันประมาณ 80% โดยที่ GPSC มีลูกค้าหลักอยู่ในธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ส่วน GLOW นอกเหนือจากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว ยังมีลูกค้าหลักคือกลุ่ม บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือชื่อแบรนด์เอสซีจี ซึ่งทำธุรกิจปิโตรเคมี ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

คำร้องเรียนดังกล่าว มีคนยินดีรับฟังโดยดี เพราะ กกพ.ได้เรียกทุกฝ่ายมาให้ข้อเท็จจริงแล้ว เพื่อเข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์ ตามระเบียบอำนาจที่ กกพ.มีอยู่ เพราะถ้าเทียบกำลังผลิตทั้งประเทศก็ไม่น่าจะเข้าข่ายผูกขาด แต่ถ้าพิจารณาเฉพาะพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม โดยธรรมชาติของ SPP Cogeneration ก็จะต้องผูกขาดอยู่แล้ว

มีคนบางคนชอบให้ผูดขาดสองราย มากกว่ารายเดียวเท่านั้นเอง

ดีลซื้อขายกิจการที่ทำท่าผ่านฉลุย แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่าไม่ใช่ ซื้อของถูก แต่เป็น ซื้อของแพง และดีกว่า ซึ่งที่ปรึกษาการเงินอิสระก็ยืนยันสนับสนุน แม้จะซื้อในราคาสูงกว่าตลาดมากพอสมควร

ปลายปีที่ผ่านมา กกพ.มีมติล้ม (ชั่วคราว) ดีลการซื้อขายกิจการ ที่ระบุรายละเอียดว่า GPSC ตกลงซื้อหุ้นทั้งหมดจากกลุ่ม ENGIE ใน GLOW ทั้งทางตรงและอ้อม 69.11% ที่ราคาหุ้นละ 96.50 บาท โดยเป็นการซื้อเงินสด คิดเป็นเงินรวม 97,559 ล้านบาท และยังต้องเตรียมเงินสดอีกก้อนหนึ่งเพื่อที่จะทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ที่เหลือ 30.89% หรือเทนเดอร์ออฟเฟอร์ ในราคาที่ 96.50 บาทตามกติกา ทำให้ต้องใช้เงินซื้อกิจการครั้งนี้จำนวน 141,166 ล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าหากดีลจบจะถอน GLOW ออกจากตลาดหุ้น

ภายใต้เงื่อนไข “ปลาเล็กกินปลาใหญ่” ในทางปฏิบัติ ในระยะสั้น GPSC จำต้องพึ่ง สะพานเงินกู้ หรือ bridge loan ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 12 เดือน วงเงินไม่เกิน 142,500 ล้านบาท เพื่อรองรับการเข้าทำธุรกรรมครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งกู้ยืมบางส่วนจาก PTT และ PTTGC รวมทั้งกู้ยืมจากสถาบันการเงิน

ผลของการออกสะพานเงินกู้ ทำให้ GPSC ต้องยอมรับในเงื่อนไขของสินเชื่อระยะสั้นที่กำหนดให้บริษัทต้องปรับโครงสร้างเงินทุน โดยพิจารณาเพิ่มทุนไม่เกิน 74,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นภายในเดือนเมษายน 2562

การเพิ่มทุนจากทุนจดทะเบียนเดิม 1.498 หมื่นล้านบาท อีก 7.40 หมื่นล้านบาท หรือเกือบ 5 เท่าตัว ให้กลายเป็นทุนจดทะเบียน 8.898 หมื่นล้านบาท สามารถผ่านวาระในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2561 ของ GPSC จะอนุมัติการเข้าซื้อหุ้น GLOW ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น 99.98% ของเสียงทั้งหมด และยังอนุมัติการออกหุ้นกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศในวงเงินรวมไม่เกิน 68,500 ล้านบาท (แต่ไม่มีการอนุมัติการเพิ่มทุนใหม่) ไปแล้วก็ตาม

มติของ กกพ. ที่ถือเป็นปฏิบัติการ “หมูจะหาม เอาคานเข้ามาเสือก” จึงทำให้ข้อตกลงที่มีลักษณะ “อ้อยกำลังคาปากช้าง” ไม่สามารถถูกกลืนลงคอได้

ท้ายสุด การปรับเปลี่ยนเงื่อนไข โดยเจรจาให้ BGRIM มารับซื้อโรงฟฟ้าตัวปัญหาไปจาก GLOW อุปสรรคก็จบลง

กล้วย ๆ แค่นั้นเอง ก็กลับมติของ กกพ. และเปิดทางสว่างให้ กลุ่มทุนฝรั่งเศส ENGIE ที่หากดีลจบ ก็โล่งจากการขายกิจการถอนทุนบวกกำไรกลับบ้าน หลังจากเข้ามาซื้อกิจการเดิมเมื่อกว่า 15 ปีก่อน ในขณะที่ GPSC ก็แค่ปรับเป้าการผลิตใหม่ว่า หลังซื้อกิจการแล้ว จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนเพิ่มก้าวกระโดดจาก 1,530 MW เป็น 4,748 MW ลดลงอย่างไม่มีนัยสำคัญ

เรียบร้อยโรงเรียน ปตท. โดยปริยาย

แล้วปรากฏการณ์จากใครบางคนที่ต้องการล้มดีล รวมทั้งข้ออ้างเหมาโหลที่อ้างกันมาจากรัฐธรรมนูญแล้วด้วยข้อความคล้ายกัน คือ “ห้ามภาครัฐทำธุรกิจแข่งกับเอกชน ภายใต้ข้อยกเว้นว่าสามารถดำเนินการได้กรณีจำเป็น” ก็ผ่านพ้นไป

อ้อยที่รอในปาก GPSC ก็รอเวลาถูกเคี้ยวอย่างเป็นทางการ

เอวัง

Back to top button