พาราสาวะถี

เป็นไปตามคาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 และผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจะไปยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นโทษสถานเบา เพราะก่อนหน้านั้นอดีตกรธ.บางรายออกมาพูดในเชิงชี้นำว่า กฎหมายไม่ได้ระบุระยะเวลาในการลงโทษไว้ เท่ากับว่าถ้าพรรคถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต


อรชุน

เป็นไปตามคาดตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์สั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 และผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคจะไปยื่นจดทะเบียนจัดตั้งพรรคไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นโทษสถานเบา เพราะก่อนหน้านั้นอดีตกรธ.บางรายออกมาพูดในเชิงชี้นำว่า กฎหมายไม่ได้ระบุระยะเวลาในการลงโทษไว้ เท่ากับว่าถ้าพรรคถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต

ทั้งนี้ เมื่อฟังจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่าแม้ผู้ถูกร้องจะกระทำผิดในข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดมีเจตนาจะล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ จึงพิจารณาตัดสิทธิ์ตามสมควร ซึ่งดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปตามที่ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ให้ความเห็นไว้ก่อนหน้าว่า เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดโทษไว้ก็ถือเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาบทลงโทษได้

ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นอย่างไร คนการเมืองไม่ได้สนใจอยู่แล้ว เมื่อเป้าหมายที่รออยู่ข้างหน้าคือการเลือกตั้ง นักการเมืองและพรรคการเมืองจึงต้องห้ำหั่นกันให้ถึงที่สุด ยิ่งการเลือกตั้งหนนี้มีการแข่งขันสูงและใช้วิธีพิสดารพันลึก ระหว่างศึกก็ไม่รู้ว่าศัตรูที่ถืออำนาจอยู่ในมือจะโชว์อภินิหารอะไรอีกหรือไม่ ทุกพรรคจึงทั้งเดินหน้าขายฝัน ชูประชานิยม พร้อม ๆ กับตั้งการ์ดระวังตัวกลัวอุบัติเหตุการเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

เลือกตั้งหนนี้ที่รู้กันยังมีแค่เอาไม่เอาประยุทธ์ ประชาธิปไตยหรือสืบทอดอำนาจ แม้จะมีคนพยายามปลุกผีทักษิณมาหลอกหลอน ลูกไม้เดิมหวังเพิ่มคะแนนเสียงแต่กระแสสังคมไม่คล้อยตาม สิ่งที่พ่นผ่านปากของคนที่อาศัยหัวโขนอดีตแกนนำม็อบชัตดาวน์ประเทศ ยังเป็นได้แค่เพียงสร้างความฮึกเหิมให้พวกเดียวกัน โดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เออออห่อหมกด้วย

อย่างไรก็ตาม เข้าใกล้โค้งสุดท้ายมากเท่าไหร่ สิ่งที่จะได้เห็นคงเป็นอาการดิ้นรนของพรรคที่พยายามจะดิ้นหนีภาวะต้องเลือกสองฝ่าย โดยพยายามขุดทางเลือกที่สามขึ้นมาแต่ไม่สำเร็จ ด้วยเหตุนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงผุดไอเดียใหม่ว่าด้วยการประกาศจุดยืนของประชาธิปัตย์ไม่สังฆกรรมกับพรรคทุจริต คำถามคือแล้วมีพรรคไหนบ้าง

พรรคของตัวเองไม่เคยมีปัญหาเรื่องที่ชูเป็นจุดขายอย่างนั้นหรือ แล้วที่สั่งให้อดีตรัฐมนตรีไขก๊อกเพื่อโชว์สปิริตเกิดจากการทุจริตหรืออะไรมิทราบ นี่แหละปัญหาของพรรคเก่าแก่ด้วยความที่แทงกั๊กอันเนื่องมาจากบทบาทและประวัติศาสตร์ของตัวเองที่ไม่เคยดิ้นหลุดจากอำนาจอีแอบ การไปตั้งรัฐบาลในค่ายทหารรอบงูเห่าภาคสองเป็นภาพฟ้องที่ชัดเจน

การประกาศจุดยืนดังว่าแทนที่คนทั่วไปที่ไม่ใช่กองเชียร์จะยกย่อง สรรเสริญ กลับมองไปอีกด้าน นี่คือการเปิดทางดอกแรกสำหรับพรรคที่ไม่ชนะเลือกตั้งแน่ จะไปจับมือกับพรรคไหนตั้งรัฐบาล ทางที่ดีเพื่อให้คนตัดสินใจง่ายขึ้น บอกให้ชัดไปเลยว่าสาเหตุที่เลือกอยู่กับพรรคนี้เพราะอะไร เขาไม่ได้สืบทอดอำนาจ เขามาตามระบบ เดินตามครรลองของประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคยอมรับได้ทุกอย่างจะได้จบ ๆ และชัดเจนกันไป

แต่ก็ต้องเข้าใจและเห็นใจคนที่วางอนาคตหัวหน้าพรรคไว้เป็นเดิมพัน หากได้ส.ส.ไม่ถึงร้อยที่นั่งจะลาออก ซึ่งนั่นก็เป็นชั้นเชิงที่คนอ่านเกมกันก็รู้แล้วว่าแค่เรียกคะแนนสงสารคืออย่างไรก็น่าจะได้ตามนั้น หากมั่นใจจริง ต้องบอกว่าถ้าไม่ชนะเลือกตั้งจะพิจารณาตัวเอง นั่นสิของจริงกว่า ความจริงการเมืองไทยวันนี้รู้และเข้าใจกันเป็นอย่างดีว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดและรู้สึกอย่างไร มิเช่นนั้น คงไม่คิดวิธีการที่จะอยู่ต่อให้ตกเป็นขี้ปากอย่างเช่นทุกวันนี้

ขณะที่พรรคนายใหญ่ ด้วยความมั่นใจในฐานเสียงหลักอย่างภาคเหนือและอีสาน จึงไม่ได้ออกอาการอะไรให้ตกเป็นเป้ามากนัก เพราะพรรคเครือข่ายถูกเล่นงานสะบักสะบอมให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว ดังนั้น การเดินเกมด้วยการลงพื้นที่หาเสียง ส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและแกนนำคนสำคัญไปกระทุ้งในพื้นที่ซึ่งยังมีจุดอ่อนก็เชื่อว่าน่าจะเพียงพอต่อการเก็บคะแนนได้ตามเป้าหมาย

ในส่วนของส.ส.เขตไม่ได้กังวล แต่ที่คนแดนไกลเป็นห่วงคือ คะแนนเสียงไม่ตกน้ำซึ่งจะแปรสภาพมาเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ วันนี้พรรคตระกูลเพื่อทั้งหลายไม่มั่นใจว่าจะเข้าเป้าขนาดไหน ไม่ได้หวังว่าจะมีคะแนนมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้ ในทางหนึ่งก็ยอมรับสภาพกันว่า ยังไงเสียต้องไปเป็นฝ่ายค้านในสภาค่อนข้างแน่ แต่ก็เผื่อไว้ว่าถ้าได้ส.ส.มากพอ อาจจะทำให้บางพรรคเปลี่ยนใจหันมาจับมือกันสั่งสอนเผด็จการได้

แม้ในความเป็นจริงต่างเชื่อกันว่าพรรคสืบทอดอำนาจจับมือส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง ดันผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจต่อแน่ และอาจจะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรหลังจากเลือกนายกรัฐมนตรี แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ทั้งหมดมันขึ้นอยู่กับการต่อรองหลังจากนั้น สิ่งสำคัญมากกว่าคือการทำหน้าที่ฝ่ายค้านสมัครเล่นของพรรคนายใหญ่ ที่ไม่น่าจะระคายเคืองหรือทำอะไรรัฐบาลสืบทอดอำนาจได้ ผลงานที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ เพราะส่วนใหญ่ตั้งใจจะมายืนอยู่ฝั่งบริหารอย่างเดียว

หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลสืบทอดอำนาจ จะเป็นไปในลักษณะของภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวมากกว่า แต่บริบทที่เปลี่ยนไปคือม็อบกลุ่มการเมืองเหมือนในอดีตจะไม่มีทางเกิดขึ้นอีก ด้วยปัจจัยที่บรรดาแกนนำทั้งหลายต่างรู้ดี จึงจะเป็นเรื่องของกลุ่มปัญหาความเดือดร้อนล้วน ๆ ซึ่งนั่นหมายถึงว่า รัฐบาลหน้าจะมีเวลาไม่มากที่ต้องเร่งสร้างผลงาน หากเป็นอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การเมืองภาคประชาชนอาจจะลุกฮือขึ้นมาเผด็จศึกเร็วกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้ ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

ดูจากความเคลื่อนไหวของแกนนำพรรคสืบทอดอำนาจแล้ว พอจะเห็นทิศทางว่าหลังการตั้งรัฐบาล ด้วยความที่ไม่มีอำนาจพิเศษและมาตรายาวิเศษอยู่ในมือแล้ว ผู้นำเผด็จการนอกจากจะมีหัวโขนนายกฯแล้วก็จะนั่งควบเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมไปด้วย โดยที่ไม่รู้ว่าความศักดิ์สิทธิ์ในตำแหน่งจะเทียบเคียงได้กับเก้าอี้หัวหน้าคสช.หรือไม่ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นผลทางจิตวิทยาที่ทำให้สมาชิกพรรคมั่นใจว่า เมื่อเลือกให้ท่านอยู่ต่อประเทศชาติก็จะมั่นคง (ฮา) เอาที่สบายใจ (ไว้ก่อน) ก็แล้วกัน

Back to top button