สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 14 มี.ค. 2562


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 ดีดตัวขึ้นปิดที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 4 เดือน ขานรับข้อมูลเศรษฐกิจที่สดใสของสหรัฐ และการฟื้นตัวของหุ้นโบอิ้ง นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงหนุนหลังจากรัฐสภาอังกฤษมีมติไม่เห็นชอบต่อการที่อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไร้ข้อตกลง

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,702.89 จุด เพิ่มขึ้น 148.23 จุด หรือ +0.58% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,810.92 จุด เพิ่มขึ้น 19.40 จุด หรือ +0.69% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,643.41 จุด เพิ่มขึ้น 52.37 จุด หรือ +0.69%

 

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) ท่ามกลางการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวน เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่รัฐสภาอังกฤษลงมติคว่ำข้อตกลงการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีในวันอังคาร และจับตารอการลงมติกระบวนการ Brexit แบบไร้ข้อตกลงในวันพุธ ซึ่งหลังจากปิดตลาด รัฐสภาอังกฤษมีมติด้วยคะแนนเสียง 321 ต่อ 278 เสียง ไม่เห็นชอบต่อการที่อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไร้ข้อตกลง

ดัชนี Stoxx Europe บวก 0.63% ปิดที่ 375.60 จุด

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,306.38 จุด เพิ่มขึ้น 36.14 จุด หรือ +0.69% และ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,572.41 จุด เพิ่มขึ้น 48.24 จุด หรือ +0.42% ขณะที่ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,159.19 จุด เพิ่มขึ้น 8.04 จุด หรือ +0.11%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่รัฐสภาอังกฤษปฏิเสธข้อตกลงการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ของนางเทเรซา เมย์ในวันอังคาร และรอดูการลงมติต่อไปในวันพุธว่ารัฐสภาจะอนุมัติกระบวนการ Brexit แบบไร้ข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งหลังจากปิดตลาด รัฐสภาอังกฤษก็มีมติ 321 ต่อ 278 เสียง ไม่เห็นชอบต่อการที่อังกฤษจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) โดยไร้ข้อตกลง

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,159.19 จุด เพิ่มขึ้น 8.04 จุด หรือ +0.11%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่าสต็อกน้ำมันดิบร่วงลงในสัปดาห์ที่แล้ว สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวช่วยให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. พุ่งขึ้น 1.39 ดอลลาร์ หรือ 2.4% ปิดที่ 58.26 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ย. 2561

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 88 เซนต์ หรือ 1.3% ปิดที่ 67.55 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) โดยสัญญาทองคำกลับมายืนเหนือระดับ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์ได้อีกครั้ง เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของกระบวนการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 11.20 ดอลลาร์ หรือ 0.86% ปิดที่ 1,309.30 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 4.3 เซนต์ หรือ 0.28% ปิดที่ 15.456 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 9.8 ดอลลาร์ หรือ 1.18% ปิดที่ 841.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 16.70 ดอลลาร์ หรือ 1.1% ปิดที่ 1506.70 ดอลลาร์/ออนซ์

 

เงินปอนด์แข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (13 มี.ค.) หลังจากรัฐสภาอังกฤษลงมติไม่เห็นชอบต่อการที่อังกฤษแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยไร้ข้อตกลง ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐขยายตัวเพียงเล็กน้อยในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นหลักฐานล่าสุดที่สนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.3217 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3084 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 1.1329 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1296 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.7090 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7087 ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.03 เยน จากระดับ 111.27 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0032 ฟรังก์ จากระดับ 1.0069 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3303 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3362 ดอลลาร์แคนาดา

Back to top button