สรุปภาวะตลาดต่างประเทศวานนี้
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 15 มี.ค. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับขึ้นเพียงเล็กน้อยเมื่อคืนนี้ (14 มี.ค.) ขณะที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปิดตลาดในแดนลบ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ยังไม่คืบหน้า โดยความกังวลในเรื่องดังกล่าวเป็นปัจจัยฉุดหุ้นบริษัทผลิตชิปซึ่งต้องพึ่งพารายได้จากจีน ขณะที่หุ้นกลุ่มธุรกิจสร้างบ้านร่วงลงหลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐลดลงเกินคาดในเดือนม.ค.
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,709.94 จุด เพิ่มขึ้น 7.05 จุด หรือ +0.03% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,808.48 จุด ลดลง 2.44 จุด หรือ -0.09% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,630.91 จุด ลดลง 12.50 จุด หรือ -0.16%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนรอรัฐสภาอังกฤษลงมติว่าจะขยายเวลาการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (EU) จากกำหนดเส้นตายในวันที่ 29 มี.ค.หรือไม่ โดยหลังจากปิดตลาด รัฐสภาอังกฤษลงมติด้วยคะแนนเสียง 412-202 เสียง เรียกร้องให้ EU ขยายกำหนดเส้นตายการถอนตัวของอังกฤษออกจาก EU (Brexit) ออกไปอีก 3 เดือน หรือจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. แต่ข้อเรียกร้องนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทาง EU
ดัชนี Stoxx Europe บวก 0.78% ปิดที่ 378.52 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,349.78 จุด เพิ่มขึ้น 43.41 จุด หรือ +0.82% และ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,587.47 จุด เพิ่มขึ้น 15.06 จุด หรือ +0.13% ขณะที่ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,185.43 จุด เพิ่มขึ้น 26.24 จุด หรือ +0.37%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (14 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนขานรับต่อการที่รัฐสภาอังกฤษลงมติปฏิเสธการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบไร้ข้อตกลงเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา และตลาดยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มธนาคาร แม้หุ้นกลุ่มเหมืองลดลงหลังถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ชะลอการขยายตัว
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,185.43 จุด เพิ่มขึ้น 26.24 จุด หรือ +0.37%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกติดต่อกันเป็นวันที่ 4 เมื่อคืนนี้ (14 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงขานรับสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ปิดตลาดอ่อนแรงลง หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 35 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 58.61 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ย. 2561
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 32 เซนต์ หรือ 0.5% ปิดที่ 67.23 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (14 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ และจากการที่นักลงทุนเทขายทำกำไรหลังจากสัญญาทองคำพุ่งขึ้นติดต่อกันสองวันทำการก่อนหน้านี้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สัญญาทองคำปิดตลาดร่วงหลุดจากระดับ 1,300 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 14.20 ดอลลาร์ หรือ 1.08% ปิดที่ 1,295.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 28.5 เซนต์ หรือ 1.84% ปิดที่ 15.171 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 14.6 ดอลลาร์ หรือ 1.73% ปิดที่ 827.10 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 7.90 ดอลลาร์ หรือ 0.5% ปิดที่ 1514.60 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (14 มี.ค.) ขณะที่นักลงทุนจับตาความคืบหน้าเกี่ยวกับกระบวนการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) โดยรายงานล่าสุดระบุว่ารัฐสภาอังกฤษลงมติเรียกร้องให้สหภาพยุโรป (EU) ขยายกำหนดเวลาการแยกตัวออกไปจากเดิมในวันที่ 29 มี.ค.
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 111.74 เยน จากระดับ 111.03 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0041 ฟรังก์ จากระดับ 1.0032 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3323 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3303 ดอลลาร์แคนาดา
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1300 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1329 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 1.3236 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3217 ดอลลาร์ และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7063 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7090 ดอลลาร์สหรัฐ