“ศรีสุวรรณ” ร้องกกต.เอาผิด 9 พรรคใหญ่ปั้นนโยบายแจกเงินไม่แจงที่มา-ผลกระทบส่อขัดรธน.
“ศรีสุวรรณ” ร้องกกต.เอาผิด 9 พรรคใหญ่ปั้นนโยบายแจกเงินไม่แจงที่มา-ผลกระทบส่อขัดรธน.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(18มี.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการวมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เพื่อให้มีคำสั่งไปยัง 9 พรรคการเมืองใหญ่ อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย
เนื่องจากพบว่า ในการโฆษณาหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่ของนโยบายจะมีลักษณะการใช้เงิน การแจกเงิน อย่างมากมายเข้าข่ายเป็นนโยบายประชานิยม เช่น การขึ้นค่าแรง 400-425 บาท ปริญญาตรี 18,000-20,000 บาท เบี้ยเด็ก 1,200 บาท เบี้ยวัยรุ่น 2,000 บาท เบี้ยคนชรา 1,800 บาท ข้าวหอมตันละ 18,000 บาท ฯลฯ
ซึ่งการกำหนดนโยบายและการโฆษณาหาเสียงดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ม. 258 ก. (3) ประกอบ ม. 57 ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ด้วย กล่าวคือ นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้ (1) วงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ (2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และ (3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เพื่อที่จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตัดสินใจที่จะลงคะแนนให้กับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้
แต่ปรากฏว่านับตั้งแต่มี พรฎ.ให้มีการเลือกตั้ง สส. ออกมา พรรคการเมืองส่วนใหญ่ที่ลงชิงชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม ม. 57 ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เลยและอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.62 ประกอบ พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศล้มเหลวเหมือนดั่งประเทศเวเนซูเอล่าในขณะนี้ได้
ด้วยเหตุดังกล่าว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จำนำความมาร้องเรียนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้สั่งพรรคการเมืองต่าง ๆ ดำเนินการให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่ กกต.กำหนดก่อนการลงคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งหากพรรคการเมืองใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกต. ดำเนินการลงโทษ โดยปรับไม่เกิน 5 แสนบาท และปรับอีกวันละ 1 หมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามมาตรา 121 ของ พรป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ต่อไป
ซึ่งหาก กกต. ยังเพิกเฉยต่อการแจ้งและบังคับให้พรรคการเมืองต่างๆปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายข้างต้นแล้ว อาจทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 นี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งสมาคมฯอาจพิจารณานำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งให้การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้เป็น “โมฆะ” ต่อไป