ITD เปรมชัย และ เสือดำ
สัปดาห์นี้ ชะตากรรมของหุ้นยักษ์ก่อสร้างมือหนึ่งของไทย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จะขึ้นกับเสือดำ
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
สัปดาห์นี้ ชะตากรรมของหุ้นยักษ์ก่อสร้างมือหนึ่งของไทย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD จะขึ้นกับเสือดำ
กรณีเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ด้านตะวันตก จับกุมตัว นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ. พร้อมพวกอีก 3 คน บริเวณจุดตั้งแคมป์พบเครื่องกระสุนจำนวนมากและซากสัตว์ป่า อาทิ เสือดำ ไก่ฟ้า และ เก้ง จะมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น วันนี้ท่ามกลางการลุ้นระทึกว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาในทางไหน
ไม่ว่าคำตัดสินของศาลจะออกมาทางไหน ก็ล้วนไม่เป็นผลดีต่อนายเปรมชัย และ ITD ทั้งสิ้น
ในกรณีศาลชี้ว่าผิดจริง นายเปรมชัยจะต้องเสียชื่อและถูกประณามในคดีความที่เปราะบางต่อความรู้สึกของสังคม แต่ถ้าศาลสั่งว่ายกฟ้องหรือมีความผิดแค่เล็กน้อย ภาพลักษณ์การเป็นอภิสิทธิ์ชนของนายเปรมชัยจะโดดเด่น และทำให้สะเทือนถึงกระบวนการยุติธรรมที่จะถูกนินทาว่า “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย”
สำหรับนักลงทุน คำถามคือราคาหุ้นและภาพลักษณ์ของ ITD จะถูกกระทบจากกรณีเสือดำมากน้อยแค่ไหน คำตอบต้องแยกแยะออกเป็น 2 ส่วน คือ 1) นายเปรมชัยจะหลุดจากการเป็นประธานบริหารและกรรมการ ITD หรือไม่ 2) ผลประกอบการของ ITD จะเป็นเช่นใด
อย่างแรก หากพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่เป็นทางการ จะพบว่า โครงสร้าง ITD เริ่มเข้าข่ายหุ้นเกือบไร้เจ้าของชัดเจน เพราะตระกูลกรรณสูตถือหุ้นรวมกันไม่เกิน 25% (ไม่นับนอมินี หรือที่อำพรางในรูปคนอื่น ๆ) ที่เหลือเป็นส่วนของรายย่อยมากถึง 73%
ที่น่าสนใจอยู่ที่ว่าตระกูลกรรณสูตที่ถือหุ้นใหญ่มายาวนาน ผ่านนายเปรมชัย และนางนิจพร จรณะจิตต์ มีการขายหุ้นทิ้งออกมาเป็นระยะในหลายปีนี้ แล้วไม่ได้ทำการซื้อกลับคืน จนดูเหมือนเข้าข่าย “ถอยเพื่อทิ้ง” อย่างไม่ทราบเหตุผล
เคยมีคนนำสถิติที่สืบค้นจากตลาดหุ้นไทยเผยแพร่ว่า ช่วง 5 ปีมานี้ (2558-2562) นายเปรมชัยได้ขายหุ้นออกมาเป็นระลอก ในลักษณะระบายออกเป็นช่วง ๆ เช่น ในปี 2560 เลือกขายในเดือน มิ.ย.-ก.ค. และเดือน ต.ค.-ธ.ค. จำนวน 20 ล็อต รวม 71.01 ล้านหุ้น ได้รับเงินทั้งสิ้น 298.80 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ยังคงขายออกอีกจำนวน 13 รายการ รวม 42.51 ล้านหุ้น ได้เงินทั้งสิ้น 120.54 ล้านบาท ในระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.เท่านั้น หุ้นที่ขายออกไป ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของนักลงทุนรายย่อย
ไม่ใช่แค่นนายเปรมชัย เพราะยังมีพี่สาว นางนิจพร จรณะจิตต์ ที่ได้ขายหุ้นในมือออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน อาทิในปี 2560 ขาย 2 ล็อต ในเดือน มิ.ย. จำนวน 3.78 ล้านหุ้น เป็นเงิน 17.05 ล้านหุ้น และปี 2561 ขาย 7 รายการ จำนวน 17.09 ล้านหุ้น ได้เงินประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนราคาขาย ได้สูงสุดที่ 3.03 บาท
หากพิจารณาจากพฤติกรรมการขายหุ้นของนายเปรมชัยนางนิจพร คาดว่าในปีนี้ยังคงมีหุ้นรอการขายอีกจำนวนหนึ่ง แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลงมาก เหลือเพียง 2 บาทต้น ๆ ก็ตาม
เหตุผลของการขายหุ้นทิ้งของกลุ่มที่ก่อตั้งและครอบงำอำนาจบริหารยาวนานของ ITD โดยไม่นำปัจจัยอื่นมาพิจารณา ก็สามารถอธิบายว่า เกิดจาก ITD ไม่สามารถเป็นห่านที่ให้ไข่เป็นทองคำอีกต่อไป จะบอกว่าเลยจุดสูงสุดของธุรกิจมาแล้ว ก็คงไม่ผิด
ข้อเท็จจริงจากตัวเลขงบการเงินบอกถึงอย่างหลังได้ชัดเจน
ดูจากราคาหุ้นอย่างเดียว ราคาหุ้นของ ITD ปัจจุบันที่ต่ำกว่า 2.20 บาท ถือว่าต่ำกว่าบุ๊กแวลู 2.60 บาท แต่เมื่อพิจารณาจากกำไรสะสมที่บางมาก เพียงแค่ตัดมาจ่ายปันผลแค่หุ้นละ 0.014 บาท หรือ 1.4 สตางค์ก็กลับไปติดลบอีกครั้งแล้ว สะท้อนให้เห็นผลประกอบการที่ยังเปราะบางต่อความสามารถทำกำไร
ในงบสิ้นงวดปี 2561 ล่าสุด จะเห็นว่า รายได้จากการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง แม้มีรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง การขายและให้บริการจำนวน 60,644 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วเป็นจำนวน 5,406 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเนื่องจากการเพิ่มรายได้ของบริษัทย่อยในต่างประเทศและจากโครงการขนาดใหญ่ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น อาทิเช่น โครงการรถไฟฟ้ากรุงธากา บังกลาเทศ สัญญา CP-03 และ CP-04 โครงการรถไฟทางคู่มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ C1 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มสัญญาที่ 3 โครงการรถไฟทางคู่ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการขยายอายุการใช้งานท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 1 RC-670 แต่ต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง การขายและให้บริการก็เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วใกล้เคียงกัน เป็นจำนวน 5,419 ล้านบาท คิดแล้วต้นทุนเพิ่มในอัตรามากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น
ผลลัพธ์ทำให้แม้จะกลับมาทำกำไรเป็นปีที่สองต่อเนื่องกัน แต่กำไรต่อหุ้นที่ลดลงจากปีก่อน 0.07 บาท เหลือ 0.05 บาท ก็ไม่ใช่สัญญาณที่ดีเด่นอะไร
อัตรากำไรสุทธิที่ต่ำกว่า 1% เกิดจากภาระหนี้เงินกู้ที่เพิ่มพูนขึ้น สิ้นงวดปี 2561 สูงถึง 8.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นค่าดี/อี มากกว่า 6 เท่า และมีภาระดอกเบี้ยจ่ายมากถึงปีละ 2.39 พันล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 200 ล้านบาท
แม้ว่าภาพลักษณ์ทางธุรกิจของ ITD ยังไม่ถึงกับเลวร้ายน่ากังวล เพราะ บริษัท ทริสเรทติ้ง ยังคงยกให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรับเหมาฯ ที่มีรายได้สูงสุดในตลาด มีข้อดีคือสามารถรับงานได้หลายประเภท ทั้งในและต่างประเทศ มีโครงการที่ยังไม่ส่งมอบ สูงถึง 1.5 แสนล้านบาทเมื่อปีที่ผ่านมา และแนวโน้มธุรกิจรับเหมาฯ ในทางบวกอีก 2-3 ปี จากนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจำนวนมาก แต่ถ้าหากนายเปรมชัยถูกเงื่อนไขบังคับให้ต้องออกจากตำแหน่งบริหาร หรือมีเรื่องทางลบที่ไม่คาดเดาล่วงหน้าเกิดขึ้น สถานการณ์ที่มีปัจจัยบวก น่าจะส่งผลต่อรายได้ของบริษัทในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่พ้น
คนถือหุ้น ITD น่าจะร้อน ๆ หนาว ๆ มากเป็นพิเศษในสัปดาห์นี้