“สรรพากร” ตอกหน้า “กรณ์ จาติกวณิช” ยัน Blind Trust โปร่งใสตรวจสอบได้!
"สรรพากร" ตอกหน้า "กรณ์ จาติกวณิช" ยัน Blind Trust โปร่งใสตรวจสอบได้!
จากรณี ‘ธนาธร’ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โอนทรัพย์สิน 5,000 ล้านบาท ให้กับ Blind Trust เพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของบางฝ่ายว่าอาจทำให้ตรวจสอบได้ยาก ล่าสุด กรมสรรพากร ยืนยันว่า Blind Trust ไม่ใช่วิธีหลบภาษี และสามารถตรวจสอบได้
โดยล่าสุดวันนี้ (19 มี.ค.62) นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรณีที่มีพรรคการเมืองโอนทรัพย์สินทั้งหมดเข้าไปอยู่ในกองทุน Blind Trust ว่า การโอนทรัพย์สินเข้าไปไว้ใน Blind Trust เป็นการบริหารจัดการทรัพย์สินปกติ เหมือนกองทุนต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งต้องขออนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. โดยเฉพาะเรื่องรายได้ ผลประโยชน์ผลตอบแทน จากการโอนทรัพย์สินไปไว้ในกองทุน ผู้ที่บริหารจัดการต้องทำหน้าที่นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาษี เงินปันผล ทุกประเภท
ทั้งนี้ การตั้งกองทุน Blind Trust ไม่ใช่วิธีที่จะเอาไปหลบภาษีได้ ผู้ที่โอนทรัพย์สินทั้งบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ยังมีภาระหน้าที่เสียภาษีอยู่เหมือนเดิม ไม่สามารถละเว้นได้หรือหลบเลี่ยงภาษีได้ กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ที่บอกว่า Blind Trust ไม่ได้หมายความว่า Blind แล้วจะหลบซ่อนสรรพากรได้ ถ้าไม่เสียภาษีให้ถูกต้อง ก็ต้องตรวจสอบ ส่วนการนำไปลงทุนต่างประเทศ ถ้ามีรายได้ ก็ยิ่งต้องรายงานภาษีต้องครบถ้วน ดังนั้น Blind Trust จึงไม่ใช่เป็นแหล่งหลบเลี่ยงภาษี
ด้านนายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การที่บุคคลทั่วไปประสงค์จะจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคลเพื่อการบริหารจัดการทรัพย์สินก็สามารถทำได้ โดยแต่งตั้งบริษัทที่มีใบอนุญาตจัดการกองทุนส่วนบุคคล
อย่างไรก็ดี หากเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งรัฐมนตรี การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ซึ่งบริษัทที่รับจัดการทรัพย์สินของรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว โดยไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต.
อนึ่งก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โอนทรัพย์สิน 5,000 ล้านบาท ให้กับ Blind Trust บริหารว่า
“ยิ่งมองไม่เห็น ยิ่งตรวจสอบไม่ได้” จากการแถลงข่าวเรื่อง ‘Blind Trust’ ของคุณธนาธร ทำให้มีสื่อบางรายได้ทักท้วง สรุปความได้ว่า การอ้างว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการทำเช่นนี้ เป็นการอ้างไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากเคยมีนักการเมืองอีกหลายท่าน รวมทั้งผมด้วย เคยทำเช่นนี้มาก่อนแล้ว.. ผมขอชี้แจงตามนี้ว่า
“Blind Trust” ยังไม่มีจริงในประเทศไทย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ เพราะฉะนั้นที่คุณธนาธรลงนามไปนั้น ไม่ใช่ Blind Trust และไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน
คุณธนาธรได้โอนทรัพย์สินให้สถาบันการเงินดูแล อันนี้หลายคนน่าจะเคยทำเหมือนกัน ผมก็เคยและวันนี้ก็ยังมีอยู่ โดยที่ผมก็ได้ลงนามสัญญาให้เขาบริหารโดยอิสระเช่นเดียวกัน
ผมเองเคยมี Trust อยู่ที่ต่างประเทศ และรายงานรายละเอียดทั้งหมดกับ ปปช. ตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องการรายงานบัญชีทรัพย์สิน
แต่หลายปีมาแล้วผมได้ตัดสินใจทำสวนทางกับที่คุณธนาธรพยายามที่จะทำ คือผมยกเลิก Trust ที่มีอยู่ เพราะผมคิดว่าความโปร่งใสสำคัญกว่า ผมคิดว่าประเด็นที่น่ากังวลที่สุดในสิ่งที่คุณธนาธรได้ประกาศวันนี้ ไม่ใช่ว่าท่านเป็นคนแรกหรือไม่ แต่ที่ท่านบอกว่าทรัพย์สินที่ท่านโอนไปนี้จะ “มองไม่เห็น” เพราะเมื่อทุกคนบอดสนิทกับข้อเท็จจริงว่า ท่านมีทรัพย์สินอะไรบ้าง การตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นไม่ได้
จริงๆ แล้ววิธีที่ชัดเจนที่สุดที่จะปลดปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนคือการขายขาด (แต่อย่าขายให้ Nominee กันอีกนะครับ) แต่หากไม่ขาย ผมว่าที่ดีที่สุดคือเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะว่า เรามีทรัพย์สินอะไรบ้าง เพื่อให้มีการตรวจสอบได้ และที่ไม่ควรคือการโอนเข้าไปในที่ๆ “มองไม่เห็น”