พาราสาวะถี

ไม่มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย หลังเลือกตั้งทุกอย่างไม่ได้จบกันง่ายแบบที่คิด เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อการสืบทอดอำนาจ วางกับดักไว้ทุกทาง สุดท้ายก็กลายเป็นว่าองคาพยพของเผด็จการเพื่อการสืบทอดอำนาจต้องมาติดหล่มเหมือนกัน ที่สดใสมีแค่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีซึ่งมี 250 เสียงส.ว.ลากตั้งรอโหวตให้ผู้นำเผด็จการกลับมามีอำนาจอีกกระทอกเท่านั้น


อรชุน

ไม่มีอะไรที่เหนือความคาดหมาย หลังเลือกตั้งทุกอย่างไม่ได้จบกันง่ายแบบที่คิด เพราะรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อการสืบทอดอำนาจ วางกับดักไว้ทุกทาง สุดท้ายก็กลายเป็นว่าองคาพยพของเผด็จการเพื่อการสืบทอดอำนาจต้องมาติดหล่มเหมือนกัน ที่สดใสมีแค่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีซึ่งมี 250 เสียงส.ว.ลากตั้งรอโหวตให้ผู้นำเผด็จการกลับมามีอำนาจอีกกระทอกเท่านั้น

ส่วนเสียงของส.ส.เพื่อไปชี้ขาดสำหรับงานในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อรัฐธรรมนูญวางกลไกให้ผลการเลือกตั้งเป็นเบี้ยหัวแตก สิ่งที่ฝ่ายสืบทอดอำนาจจะต้องแลกเพื่อการได้ไปต่อคือ ต้นทุนที่สูงลิ่ว ไม่ว่าจะโดยตำแหน่งเสนาบดีที่ลำพังแค่การจัดสรรภายในพรรคตัวเองก็ว่ายากแล้ว เมื่อเสียงของพรรคที่จะดึงเข้าร่วมมีความหมายและทรงพลัง เก้าอี้ที่คิดว่าจะจัดสรรให้กันเองก็มีอันต้องเปลี่ยนมือ

ไม่เพียงแต่สัดส่วนรัฐมนตรีเท่านั้นที่ต้องแบ่งกันให้ลงตัว แต่ค่าเลี้ยงดูปูเสื่อซึ่งนอกจากในพรรคแกนหลักที่ควักกันไปบานเบอะแล้ว เพื่อแลกกับการได้เสียงเข้ามาค้ำยันรัฐบาลสืบทอดอำนาจ จึงต้องตกลงกันในเรื่องของสินน้ำใจที่จะดูแลกันไปตลอดระยะเวลาของอายุรัฐบาล หากอยากมีเสถียรภาพมากก็ต้องจ่ายหนักทั้งรายเดือนและขวัญถุงด้วย

ดีดลูกคิดแล้วไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมาโดยเชื่อมั่นว่าไม่เสียของนั้น แท้จริงแล้วต้องเสียทรัพย์กันมหาศาลแบบที่คาดไม่ถึงเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะผลพวงของการที่ตั้งตุ๊กตาในการเขียนกฎหมายเพื่อกำจัดพรรคของคนแดนไกล มุ่งหวังที่จะให้พรรคเล็กพรรคน้อยมาช่วยอุ้มให้ผู้นำเผด็จการได้ไปต่อ และเชื่อมั่นว่าด้วยเครื่องมือที่มีอยู่จะสามารถทุบพรรคที่เคยครองเสียงข้างมากได้ แต่สุดท้ายเมื่อฆ่าไม่ตาย มันจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่คอยทิ่มตำและการจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดหลังเลือกตั้งมันก็คงไม่ง่ายอีกต่อไป

นี่ไม่ต้องพูดถึงประเด็นที่ว่าฝ่ายหนึ่งอ้างเรื่องจำนวนส.ส.ที่ได้มากกว่า อีกฝ่ายอ้างคะแนนป๊อบปูลาร์โหวต เพราะหากสถานการณ์ปกติไม่ว่าจะใช้หลักการใดมาจับ พรรคที่ได้ส.ส.มากก็ย่อมมีความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ดี ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องมารยาททางการเมือง เอาแค่ว่าถ้าไม่ยึดเสียงส.ส.แล้วจะต้องไปต่อรอง รวบรวมเสียงกันมาเพื่ออะไร

ในความเป็นจริงไม่ว่าจะผ่านกฎหมายใด สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นปกติคือ นายกรัฐมนตรีมีโอกาสที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ตลอดเวลา ถ้าบอกว่าใช้เสียงป๊อบปูลาร์โหวตอ้างเป็นความชอบธรรมในการตั้งรัฐบาล เวลายกมือไม่ไว้วางใจเสียงที่อ้างนั้นใช้ได้หรือไม่ ตรรกะเท่านี้มันก็อธิบายทุกอย่างได้หมดแล้ว

เพียงแต่ว่าในบริบทขององคาพยพเผด็จการที่หน้าทนและใช้วิธีการแบบศรีธนญชัยมาตลอด ต้องทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมในการที่ทำให้ตัวเองได้ไปต่อ แน่นอนว่า ด้วยการลงทุนที่ได้ทุ่มไป หากไม่สามารถเป็นรัฐบาลย่อมเสียหายอย่างย่อยยับ ดังนั้น จึงต้องตาใสกันแบบนี้ ที่น่าจับตาคือเงื่อนเวลาที่ทิ้งไว้สำหรับกกต.ในการประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการถึงวันที่ 9 พฤษภาคม อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

อย่าลืมว่ายังมีใบเหลือง ใบส้ม ใบแดง อยู่ในมือ 7 เสือกกต. ไม่มีใครลืมและยังเรียกร้องกันอยู่เวลานี้ ถึงการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเต็มไปด้วยความเคลือบแคลงขององค์กรอิสระที่บริหารจัดการเลือกตั้งทั้งระบบ ยอดผู้ลงชื่อถอดถอนกว่า 7 แสนรายชื่อนั้นเป็นสิ่งที่บ่งบอกชัดเจน และยิ่งเห็นอาการแถของคนในองค์กรที่ถูกถามเรื่องศรัทธาของประชาชนคงจะหวังความโปร่งใสในกระบวนการทำงานขององค์กรนี้ยาก

การที่คนในองค์กรไม่ได้แยแสต่อปฏิกิริยาของประชาชน ซึ่งเป็นผู้เสียภาษีเพื่อเป็นค่าตอบแทนให้ตัวเองที่ปฏิบัติงานในองค์กร คอยแต่จะรับคำสั่งจากอำนาจที่อยู่เหนืออำนาจอันชอบธรรมที่ตัวเองมี เท่านี้ก็เลิกคิดกันได้ว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมามันจะเป็นที่ยอมรับ และคนส่วนใหญ่จะเชื่อกันว่านี่เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม

ต้องอย่าลืมว่าคนไทยส่วนใหญ่เกลียดการเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝ่ายที่มีอำนาจแล้วทำตัวอยุติธรรม คนไทยไม่อาจยอมรับกันได้ แต่ในเมื่อเลือกที่จะเดินกันแบบนี้ ต้องรอดูกันว่า ผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการที่ออกมาหน้าตาจะเป็นอย่างไร ที่แน่ ๆ ถ้าให้ประเมินผลการปฏิบัติงานต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ เชื่อได้เลยว่าส่วนใหญ่ให้สอบตก และน่าจะเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการเลือกตั้งของประเทศไทย ที่ถูกมองว่าอัปลักษณ์ ตลบแตลงมากที่สุด

สำหรับสูตรตั้งรัฐบาลที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่เวลานี้ ถ้าในแง่คะแนนเสียงส.ส.ต้องบอกว่าฝ่ายประชาธิปไตยที่มีเพื่อไทยเป็นหัวหอกกุมความได้เปรียบ แต่โจทย์หินและยากที่จะผ่านไปได้คือ ไม่มีทางที่จะไปชนะโหวตเลือกนายกฯได้ เพราะถูกขวางโดยส.ว.ลากตั้ง 250 เสียง คำถามที่ตามมาคือ มันจะเกิดภาวะยักแย่ยักยันกันไปอย่างนี้โดยไร้ทางออกอย่างนั้นหรือ

ความพยายามในการผ่าทางตันของพรรคนายใหญ่ด้วยการเปิดทางให้มีการเสนอชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเป็นแคนดิเดตนายกฯแทนรายชื่อของพรรคตัวเอง ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกและข้อเสนอที่ยั่วยวน ต้องไม่ลืมว่าเสี่ยหนูเองก็ไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนไปในทางหนึ่งทางใด แต่การจะเดินไปในแนวนี้ให้สุดทาง ฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องรวบรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียงขึ้นไปเพื่อปิดสวิตซ์ส.ว.ลากตั้ง ซึ่งยากเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่พรรคตัวแปรอีกพรรคอย่างประชาธิปัตย์ ใจคงไปอยู่กับพลังประชารัฐแน่ แต่ถ้าภูมิใจไทยไม่ไปด้วย โอกาสที่จะพากันไปลงเหวก็มีสูง เป็นรัฐบาลแล้วได้เสียงส.ส.ไม่ถึง 250 ที่นั่ง ไม่มีทางที่จะไปรอดล้านเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ปมที่ว่าด้วยงูเห่าจึงมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งสถานการณ์การเมืองหากผลเลือกตั้งกว่าจะไปถึง 9 พฤษภาคมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า คนไทยก็จะอยู่กันไปด้วยภาวะอึมครึมเช่นนี้ โดยที่ถ้าลากยาวกันไปถึงเวลานั้นบางทีอาจจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นก็เป็นได้

Back to top button