ปิดดีล IPO ครึ่งแรกปี 58

สังเกตจากการซื้อขายหุ้น IPO ในตลาดแรก แล้วเข้าจดทะเบียนต่อเพื่อขายในตลาดรองช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีการซื้อขายใน SET 8 ตัว, IFF 1 ตัว, PFUND/REIT 1 ตัว และ mai 4 ตัว รวมทั้งหมด 14 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีผลลับที่แตกต่างกันออกไป โดยมีทั้งสมหวังและผิดหวังในการเทรดวันแรกจนมาถึงปัจจุบันตามสภาพ


สังเกตจากการซื้อขายหุ้น IPO ในตลาดแรก แล้วเข้าจดทะเบียนต่อเพื่อขายในตลาดรองช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีการซื้อขายใน SET 8 ตัว, IFF 1 ตัว, PFUND/REIT 1 ตัว และ mai 4 ตัว รวมทั้งหมด 14 ตัว ซึ่งแต่ละตัวมีผลลับที่แตกต่างกันออกไป โดยมีทั้งสมหวังและผิดหวังในการเทรดวันแรกจนมาถึงปัจจุบันตามสภาพ

 

ล่าสุดหุ้นน้องใหม่ อย่างหุ้น HPT หรือ บริษัท โฮม พอตเทอรี่ จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรกได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นเดียวกับช่วงการเสนอขายหุ้นไอพีโอ เนื่องจากตัวธุรกิจมีความน่าสนใจ คือการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบดินเผาประเภทไฟน์ไชน่า (Fine china) เพื่อใช้บนโต๊ะอาหารและเป็นเครื่องใช้ในครัว

อีกทั้งการใช้งานในโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร หรือที่อยู่อาศัย อาทิ จาน ชาม ชุดน้ำชา ชุดกาแฟ และแก้ว เป็นต้น โดยบริษัทผลิตสินค้าภายใต้ตราสินค้าของผู้สั่งผลิต และมีสินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัท ได้แก่ เพทาย (PE’TYE) และฮาร์ทแอทโฮม (Heart@Home) โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักในต่างประเทศร้อยละ 99.17 ของรายได้จากการขายของบริษัท

ส่งผลให้ HPT เข้ามาปิดดีลช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ได้ดีเยี่ยมด้วยราคาหุ้นเทรดวันแรก วันที่ 29 มิ.ย. 58 ปรับตัวขึ้นมาปิดที่ 2.64 บาท เพิ่มขึ้น 164% จากราคาขาย IPO ที่ 1 บาทต่อหุ้น สวนทางกับตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงหนัก ถือเป็นการปิดฉากได้อย่างสวยหรู เหมือนกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่หุ้น IPO เจิดจรัส   

 

ช่วงไตรมาสแรกปี 2558 เป็นช่วงเวลาที่โดดเด่นของหุ้นจอง หรือหุ้น IPO มีจุดเด่นอย่างชัดเจนที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อย่าง PLANB, SCN, S11, TPCH, NDR, TREIT และไตรมาสสองมี PMTA, TVT ซึ่งหุ้นทุกตัวที่เข้ามาซื้อขายในตลาดแรก แล้วเข้าจดทะเบียนต่อเพื่อขายในตลาดรอง ประสบความสำเร็จแบบหน้าชื่นตาบาน และโชว์ศักยภาพของปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายด้านพร้อมกัน นับตั้งแต่พื้นฐานของกิจการที่มีความแข็งแกร่ง ความสามารถของที่ปรึกษาการเงินที่ดี และการตั้งราคาของอันเดอร์ไรเตอร์ที่พอเหมาะพอควร

ส่วนหุ้นช่วงไตรมาสสองอย่าง PLAT, SLP และ GPSC เกิดสถานการณ์พลิกผัน โดยมีอาการแกว่งตรงกันข้าม คือราคาหุ้นหลุดจองอย่างชัดเจน หรืออาจเป็นเพราะช่วงแรกๆ ได้รับอานิสงส์ หรือแรงเหวี่ยงจากความสำเร็จของราคาหุ้นจอง IPO เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองอีกปีหนึ่ง และภาวะตลาดไตรมาสสองผิดไปจากไตรมาสแรก เพราะแรงกดดันรอบด้าน ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าการซื้อขายแผ่วเบาลง

โดยจุดผกผันสำคัญของการเปลี่ยนแปลงมุมมองของนักลงทุนที่ชอบไล่ล่าหุ้นจองอยู่ที่ราคาหุ้น PLAT ตั้งแต่เปิดตลาด จนกระทั่งถึงปัจจุบันยังไม่สามารถกลับมาที่ราคาจองได้อีกเลย ถือว่าเป็นหุ้นในความทรงจำที่เป็นฝันร้ายของนักลงทุน ทั้งที่ว่าไปแล้วเป็นหุ้นพื้นฐานดีเด่นอย่างมาก

ประเด็นน่าสนใจคือ แม้หุ้น PLAT ถือเป็นหุ้นที่มีผลประกอบการและโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ แต่การตั้งราคาขายหุ้นจองหรือราคาไอพีโอที่ระดับ 43 เท่า ถือว่าเป็นการตั้งราคาที่กล้าหาญมากเกินจำเป็น อาจจะเป็นเพราะความโลภเข้าสิงของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏคือหุ้นหลุดจอง

 

จนมาถึงหุ้น SLP ที่เกือบเอาตัวไม่รอด ปิดเทรดวันแรกที่ 2.16 บาท เท่ากับราคาขาย IPO ที่ 2.16 บาท ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายทั้งศักยภาพของบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง จากการเป็นผู้ผลิตฉลากสินค้าและงานพิมพ์คุณภาพสูง ประกอบกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่หุ้น GPSC มีความเจ็บช้ำตามมาติดๆ เข้าซื้อขายวันแรกก็หลุดจอง ราคาหุ้นปิดต่ำกว่าราคา IPO ทำให้นักลงทุนฝันร้ายอีกตัว คำถามที่ตามมาคือ “หุ้นจะดีดกลับเมื่อไร” ทั้งที่บริษัทมีจุดเด่น เป็นบริษัทมีฐานะเป็นแกนนำ (Flagship) ในการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม PTT ซึ่งหนุนให้ GPSC มีโอกาสขยายธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังอาศัยความสัมพันธ์อันดีของกลุ่ม PTT กับหน่วยงานของรัฐ และบริษัทอื่นที่เป็นคู่ค้า เพื่อให้บริษัทได้เข้าร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง

 

สถานการณ์ที่เปลี่ยนผันของหุ้น IPO ที่ราคาหุ้นกลับมาหลุดจอง ทำให้นักลงทุนผวาชั่วขณะ แต่เมื่อมีหุ้น HPT ที่ราคาหุ้นปิดเหนือจองอย่างแข็งแกร่งอย่างปาฏิหาริย์ขัดกับภาวะตลาด ต้องยอมรับฝีมือผู้บริหารบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้อย่างถูกทาง อานิสงส์นี้อาจทำให้นักลงทุนหวนกลับมาสนใจหุ้น IPO อีกครั้ง

เนื่องจากยังมีหุ้น IPO ยังค้างท่อรออีกหลายบริษัทให้นักลงทุนผู้ทัดสันเข้าลงทุน

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขว่านักลงทุนจะต้องทำความเข้าใจทิศทางของหุ้นจองที่เข้าเทรดวันแรกให้ชัดเจน เพื่อจะได้เลือกเข้าซื้อหุ้นก่อนการเข้าเทรดได้ถูกต้อง และจะไม่ขาดทุนได้อย่างไร 

ความผันแปรของราคาหุ้นที่เข้าเทรดในตลาดรองนั้น เป็นเรื่องการเก็งกำไรเป็นสำคัญ ซึ่งสามารถวิเคราะห์เชิงเทคนิคและพื้นฐานได้ และอาจจะทำให้ผู้ซื้อหุ้น IPO กำไรหรือขาดทุนได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงว่าจะแม่นยำเพียงใด

 

ในทางวิชาการหรือปฏิบัติ ตัวเลขเกี่ยวกับพื้นฐาน ผลตอบแทน และตัวเลขประกอบการทั้งหลาย คือสิ่งที่จะชี้ขาดคุณภาพของราคาหุ้นได้ดี แต่เชิงเทคนิคแล้ว มีคนเคยทำการศึกษา พบว่าแบบแผนของทิศทางราคาหุ้นจองหลังการเข้าเทรดวันแรกผ่านไปแล้ว จะมีแบบแผนของความเคลื่อนไหว 6 แบบ ดังต่อไปนี้

1) ลงตลอด (All the way Down)คือเปิดมาก็มีแรงเทขายออกมาตลอด เป็นเวลานานต่อเนื่อง ซึ่งหุ้นพวกนี้เกิดจากการกำหนดราคาสูง และขายทำกำไรได้ตลอด คือพวกเน้นเอาหุ้นเข้าตลาดมาขายอย่างเดียว ไม่มี ไม่เคยมี และไม่สนใจจะมีมาร์เก็ตเมกเกอร์ดูแล

2) ลงตลอดนานแล้วค่อยๆ ขึ้น (L-Shape) หุ้นถูกเทขายตั้งแต่วันแรก และอ่อนตัวต่อเนื่อง จนเริ่มมาเก็บสะสมราคาอีกครั้ง ค่อยยกขึ้นใหม่ ซึ่งรูปแบบนี้อาจจะเกิดจากผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการซื้อกลับคืนเพราะหวงสมบัติ แต่งกอยากได้เงินจากตลาดพร้อมกันไป

3) ขึ้นตลอด แล้วเทขายแบบทุบ (Blow up for sell) มีการไล่ราคาซื้อตั้งแต่เริ่มขายวันแรก ต่อเนื่องไปนานกว่า 3 เดือนหรือมากกว่า จนราคาปรับตัวขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว จึงมีการขายแบบทยอย จากนั้นซึมยาวนี่ก็เป็นฝีมือของมาร์เก็ตเมกเกอร์ที่หวังเล่นราคาแบบจูงหมาน้อยขึ้นดอย?

4) ลงหาเป้าแล้วกระชากขึ้นแรง (V-Shape) เกิดแรงขายหุ้นตั้งแต่วันแรก และลงรุนแรงต่อเนื่อง จนผู้ที่ได้หุ้นจองต่างกลัวและขายหุ้นจนหมด จากนั้นดึงราคาหุ้นกลับอย่างรวดเร็ว เป็นรูปตัว V

5) ขึ้นสวรรค์ทางเดียว (All the way up)ราคาหุ้นจะปรับตัวขึ้นตั้งแต่วันแรกยาวนานต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือนขึ้นไป โดยมีการวางแผนมาอย่างดี และมี Story ต่อเนื่องสม่ำเสมอ บางรายทำราคาปรับตัวขึ้นไปกว่า 3 เท่า

6) ไร้รูปแบบเพราะเจ้าของทิ้ง (No pattern) หุ้นที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ไม่มีความสนใจในหุ้น ไม่เคยคิดสร้างความนิยม หรือประชาสัมพันธ์ใดๆ หรืออาจไม่เข้าใจกลไกในตลาดทุน ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม จึงไม่มีรูปแบบใดชัดเจน โดยอาจเป็นหุ้นที่มีขนาดเล็กและสภาพคล่องต่ำมาก

 

อีกประเด็นหนึ่งที่นักลงทุนต้องพิจารณาคือ ภาวะของตลาด เพราะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ดี มีการเติบโตโดดเด่น บริษัทจดทะเบียนจะมีผลประกอบการโดดเด่น ส่งผลให้โอกาสที่ราคาหุ้นจะเป็นขาขึ้น เป็นไปได้ง่ายขึ้น แต่หากตรงกันข้าม โอกาสที่ตลาดจะเป็นขาลงก็จะเกิดขึ้น และหุ้นจองที่ระดมทุนไปแล้ว มีโอกาสที่จะถูกแรงกดดันของตลาด

ประเด็นนี้ทำให้นักลงทุนจำนวนมาก มองว่าในภาวะที่ตลาดมาดี การซื้อหุ้นในตลาดจะดีกว่าซื้อหุ้นจอง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ที่สำคัญ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตัวบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องใช้ความระมัดระวัง ทั้งการเปิดเผยข้อมูล หรือการตั้งราคา และรักษาผลประกอบการที่เหมาะสม เพื่อที่จะไม่ต้องเผชิญกับฝันร้ายในภายหลัง

หากหุ้น IPO เป็นตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวก็ทำให้มีเสน่ห์!!

 

table20150701

Back to top button