คำแนะนำจากบาร์เคลย์ลงทุนในตลาดเกิดใหม่
หุ้นตลาดเกิดใหม่มีผลงานแย่กว่าหุ้นทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2553 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 การประเมินมูลค่าน่าสนใจเมื่อเทียบกับหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกันการเติบโตเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั่วโลก ควรจะทำให้แนวโน้มกำไรของหุ้นในตลาดเกิดใหม่ดีขึ้น
“หุ้นตลาดเกิดใหม่มีผลงานแย่กว่าหุ้นทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2553 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 การประเมินมูลค่าน่าสนใจเมื่อเทียบกับหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกันการเติบโตเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั่วโลก ควรจะทำให้แนวโน้มกำไรของหุ้นในตลาดเกิดใหม่ดีขึ้น”
ตลาดหุ้นทั่วโลกในยามนี้ ดูเหมือนว่าไม่มีที่ไหนสดใสเลย โดยปัจจัยเกี่ยวกับกรีซยังคงครอบงำในทุกตลาดมากบ้างน้อยบ้างว่ากันไป อย่างไรก็ดี มีบทวิเคราะห์จากบาร์เคลย์ที่พอจะปลอบใจหุ้นต่างชาติได้บ้างในยามนี้ ซึ่งระบุว่า หุ้นต่างชาติควรจะดีกว่าหุ้นสหรัฐในช่วงครึ่งปีหลังเนื่องจากเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ดีขึ้น
รายงานแนวโน้มปี 2558 ประจำเดือนมิถุนายนของบาร์เคลย์ระบุว่า สกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ที่สามารถแข่งขันได้มากขึ้น ต้นทุนพลังงานที่ลดลง และการผ่อนคลายนโยบายเงินอย่างรุนแรง กำลังเป็นส่วนผสมที่ทำให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
ด้วยปัจจัยเหล่านี้ บาร์เคลย์จึงได้เพิ่มตลาดเกิดใหม่เข้าไปอยู่ในกลุ่มที่ให้น้ำหนักการลงทุนมาก ในขณะเดียวกันก็ยังคงลงทุนในยุโรป (ยกเว้นอังกฤษ) และญี่ปุ่นอยู่ ส่วนตลาดสหรัฐ บาร์เคลย์ยังคงให้น้ำหนัก “ปานกลาง” โดยตั้งเป้าหมายของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ไว้ที่ 2,100 จุด
“หุ้นตลาดเกิดใหม่มีผลงานแย่กว่าหุ้นทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2553 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 การประเมินมูลค่าน่าสนใจเมื่อเทียบกับหุ้นในตลาดที่พัฒนาแล้ว ในขณะเดียวกันการเติบโตเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั่วโลก ควรจะทำให้แนวโน้มกำไรของหุ้นในตลาดเกิดใหม่ดีขึ้น” บทวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ ระบุ
อีทีเอฟตลาดเกิดใหม่ไอแชร์ เอ็มเอสซีไอ (อีอีเอ็ม) ปรับตัวขึ้น 2.8% ในปีนี้ โดยมีสามประเทศที่อยู่ในแดนปรับฐาน คือบราซิล (บาร์เคลย์คาดว่าจะถึงจุดต่ำสุดในเร็วๆ นี้) กรีซ และรัสเซีย ในทางกลับกัน ดัชนีสต๊อกซ์ ยุโรป 600 ปรับตัวขึ้น 15.7% และดัชนีนิกเกอิ ปรับตัวขึ้น 19% ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปรับตัวขึ้นประมาณ 2.6% ในปีนี้
แน่นอนว่า นักลงทุนไม่ควรจะปฏิบัติต่อประเทศในตลาดเกิดใหม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากแนวโน้มการเติบโตต่างกัน ตัวอย่างเช่น บาร์เคลย์คาดการณ์ว่า รัสเซียจะเกิดภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในปี 2559 ในขณะที่อินเดียและอินโดนีเซียควรจะ “เติบโตอย่างแข็งแกร่ง”
โดยรวมแล้ว สตอรี่ของจีนควรจะสนับสนุนให้ลงทุนในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกมีผลกระทบที่มีศักยภาพมากขึ้นต่อตลาดทั่วโลกทั้งในด้านลบและด้านบวก
แลร์รี่ แคนเตอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยของบาร์เคลย์ กล่าวว่า ในขณะที่การดีดตัวอย่างยกกำลังของหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่น่าเป็นห่วง แต่ไม่คิดว่ามันจะเป็นสิ่งที่จะมาโค่นล้มตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงประมาณหกเดือนข้างหน้า
สำหรับปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนจะต้องโฟกัสเกี่ยวกับฤดูแถลงผลประกอบการที่กำลังจะมาถึง บาร์เคลย์คาดว่า การเติบโตของกำไรในยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่อยู่ที่ประมาณ 12% หรือมากกว่านั้น ขณะที่ตลาดสหรัฐคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7%
ประโยชน์ที่ได้จากการเติบโตของกำไรเห็นได้ชัดที่สุดในหุ้นในตลาดเกิดใหม่ที่มีผลงานไม่ดี หรือดัชนีแดกซ์ของเยอรมนี ซึ่งอยู่ในแดนปรับฐานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาและยังคงปรับตัวลงจากช่วงสูงสุดในระหว่างวันที่ทำไว้เมื่อเร็วๆ นี้ มากกว่า 7%
แคนเตอร์ กล่าวว่า อาจมีโอกาสมากขึ้นในเร็วๆ นี้ที่จะซื้อหุ้นยุโรปเนื่องจากมีการปรับตัวลงในระยะสั้นเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้หรือจากการออกจากยูโรโซนของกรีซ โดยแคนเตอร์คิดว่าธนาคารกลางยุโรปจะสามารถควบคุมสถานการณ์เหล่านี้ไว้ได้
นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ กล่าวว่า นโยบายเงินที่หากู้ได้ง่ายๆ ของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่น การอ่อนตัวของเงินเยนและเงินยูโร และสัญญาณที่เศรษฐกิจดีขึ้นในทั้งสองภูมิภาคช่วยหนุนตลาดในท้องถิ่น
หุ้นญี่ปุ่นยังมีโบนัสเพิ่มมาอีกอย่างคือ มีการอนุมัติความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อญี่ปุ่นมากที่สุดเนื่องจากการลดภาษีอาจเพิ่มการส่งออกได้
ข้อเสนอการค้าเสรีในหมู่ประเทศใหญ่ๆ ในเอเชียแปซิฟิกและสหรัฐ (แต่ไม่มีจีน) ใกล้ความจริงเข้ามาอีกขั้นหนึ่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเมื่อวุฒิสภาสหรัฐผ่านความเห็นชอบต่อร่างกฎหมาย ”เร่งด่วน” ที่ให้อำนาจประธานาธิบดี บารัค โอบามา มากขึ้นในการเจรจาทำข้อตกลง
เจฟฟรีย์ ไคลน์ท็อป นักวิเคราะห์ของชาร์ลส์ ชวับ กล่าวว่า การอ่อนตัวของเงินเยนและทีพีพีควรจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่น และในรายงานแนวโน้มกลางปี ชาร์ลส์ ชวับ ก็ชื่นชมหุ้นญี่ปุ่น
บาร์เคลย์มีความเชื่อมั่นต่อญี่ปุ่นเพราะบริษัทในท้องถิ่นได้ปรับโครงสร้างเมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งทำให้มีการซื้อหุ้นคืนเพิ่มมากขึ้น และประโยชน์เหล่านั้นเป็นของผู้ถือหุ้นอย่างเต็มที่
ในตลาดหุ้นเหล่านั้น นักวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อสินทรัพย์ที่ขึ้นอยู่กับวงจรเศรษฐกิจ เช่น ภาคการเงิน และดีเฟนซีฟ เช่น หุ้นที่เกี่ยวกับผู้บริโภคอย่างเช่น อาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ และของใช้ในครัวเรือน
โจนาธาน กลิโอนนา หัวหน้าฝ่ายวิจัยกลยุทธ์หุ้นสหรัฐของบาร์เคลย์ กล่าวว่า ภาคเหล่านี้ก็ยังคงทำผลงานดีในสหรัฐเช่นกัน แต่การเติบโตภายในประเทศโดยรวมช้าเกินกว่าที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า สำหรับภาคต่างๆ ในสหรัฐ เขาชอบหุ้นการเงินเพราะมีผลตอบแทน 2% และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ปันผลโต 10%