โกหกสีขาวพลวัต2015

บ่ายวันอังคารที่ผ่านมา แรงเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมาอย่างรุนแรง ทำให้ดัชนีเกือบหลุดแนวรับที่ 1,500 จุดลงไป ดีที่ยังมีหุ้นสื่อสารเข้ามารองรับ ทำให้ดัชนีประคองตัวต่อไปได้ แต่ข้อเท็จจริงของแรงเทขายหุ้นธนาคารดังกล่าว บ่งบอกสุขภาพของหุ้นธนาคาร และเศรษฐกิจไทยชนิดที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่พยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ไม่สามารถทำได้ ต่อให้พยายามแค่ไหน


 บ่ายวันอังคารที่ผ่านมา แรงเทขายหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ออกมาอย่างรุนแรง ทำให้ดัชนีเกือบหลุดแนวรับที่ 1,500 จุดลงไป ดีที่ยังมีหุ้นสื่อสารเข้ามารองรับ ทำให้ดัชนีประคองตัวต่อไปได้ แต่ข้อเท็จจริงของแรงเทขายหุ้นธนาคารดังกล่าว บ่งบอกสุขภาพของหุ้นธนาคาร และเศรษฐกิจไทยชนิดที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่พยายามปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ ไม่สามารถทำได้ ต่อให้พยายามแค่ไหน

นักวิเคราะห์ระบุว่า เพิ่งกลับจากการพบปะผู้บริหารของธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ซึ่งเป็นหุ้นธนาคารที่เป็นขวัญใจของนักลงทุนต่างชาติอย่างมาก แล้วพบว่าตัวเลขผลประกอบการไตรมาสสอง ชวนให้ “ช็อก”

ที่ต้องช็อกเพราะว่า แนวโน้มการตั้งสำรองจากปัญหา NPL ที่สูงกว่าที่ธนาคารเคยให้แนวทางเอาไว้ในแผนธุรกิจต้นปีไปมากเกินคาด จากเดิม 1 พันล้านบาท เป็น 5 พันล้านบาท ซึ่งทำให้กำไรสุทธิไตรมาสสองจะลดลง 17% เทียบกับไตรมาสแรก และลดลงเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน 12%

ไม่เพียงเท่านั้น ประมาณการทั้งปีของการตั้งสำรองก็จะเพิ่มเป็นจำนวนมากถึง 22,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 58% ทำให้กำไรสุทธิที่เคยคาดว่าจะลดลงจากปีก่อน 5% ที่ระดับ 43,885 ล้านบาท เหลือเพียงแค่ 38,760 ล้านบาท ลดลงไปถึง 16%

การลดลงค่อนข้างมากของกำไรสุทธิ แม้ว่าสัดส่วนของ NPL เทียบกับสินเชื่อรวมยังไม่มากนัก มีผลทำให้นักวิเคราะห์สรุปว่า กำไรสุทธิที่ลดลงเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2009 ไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะบ่งชี้ว่ามีการตั้งสำรองมากเกินคาด ยังผลให้รายได้จากสินเชื่อหรือดอกเบี้ยลดลง มากกว่าความสำเร็จจากการเร่งหารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยซึ่งไม่สูงมาก ขณะที่ในมุมกลับ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานธนาคารกลับสวนทางรายได้ เพราะเพิ่มขึ้นถึง 11%

นักวิเคราะห์ระบุเพิ่มเติมอีกว่า ผู้บริหารมีมุมมองเชิงลบต่อภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและซบเซายาวนาน ทำให้ลูกค้าของธนาคาร โดยเฉพาะรายกลางและเล็กที่มีสายป่านสั้นได้รับผลกระทบรุนแรง ทำให้แนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์ค้ำประกัน และสินเชื่อถดถอย แม้เจ้าหน้าที่ธนาคารจะตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น พักเงินต้น ลดหนี้ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้ และ ฯลฯ แต่ก็ทำได้จำกัด เพียงระดับหนึ่ง ตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด

หากใช้มาตรฐานว่า ธนาคารกสิกรไทยเป็นระดับหัวแถวด้านความสามารถการแข่งขันและทำกำไร มีอัตรากำไรสุทธิระดับ 20% เป็นหุ้นยอดนิยมของกองทุนต่างชาติ ยังเจอปัญหาขนาดนี้ แล้วธนาคารอื่นๆ ที่อัตราความสามารถทำกำไรต่ำกว่า จะสาหัสแค่ไหน จึงเกิดขึ้น

ที่ผ่านมาผู้บริหารธนาคารพาณิชย์ในตลาด พยายามจะบอกเสมอว่า NPL ของธนาคารในกำกับของตนเองนั้น “เอาอยู่” และไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมในไตรมาสถัดไป แต่คำพูดดังกล่าวล้วนเป็นแค่ “โกหกสีขาว” เพื่อสร้างภาพลักษณ์และจิตวิทยาเท่านั้น

ตัวอย่างเช่นผู้บริหารของ KTB ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า สามารถทำให้ NPL ของธนาคารลดลงไปเดือนละ 1,000 ล้านบาท ก็มีคนไปขุดคุ้ยมาแฉทางสื่อออนไลน์ว่า ไม่ได้ลดลง แต่มีอัตราเพิ่มขึ้นลดลงเท่านั้น เพราะเดิมทีในไตรมาสแรกนั้น NPLเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 3,000 ล้านบาท การลดลงเดือนละ 1,000 ล้านบาท แสดงว่ายังเพิ่มขึ้นเดือนละ 2,000 ล้านบาท ไม่ได้ทรงตัวหรือลดแต่อย่างใด สุ่มเสี่ยงให้ต้องตั้งสำรองอยู่ดี

การที่ราคาหุ้นของกลุ่มธนาคารเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเกือบยกแผง เช่น KBANK ลบ 6.00 บาท SCB ลบ 5.50 บาท BBL ลบ 0.50 บาท KTB ลบ 0.40 บาท TMB ลบ 0.12 บาท BAY ลบ 0.75 บาท KKP ลบ 0.50 บาท TISCO ลบ 1.25 บาท (จะมีก็เพียงแค่ LHBANK ที่มีขนาดเล็กสุด และเติบโตต่อเนื่องสูดสุดในกลุ่มที่บวก 0.04 บาท) จึงเป็นกระแสที่ระบาดง่ายมาก เพราะนักลงทุนขาดศรัทธากับ ”โกหกสีขาว” ของผู้บริหารธนาคารเสียแล้ว

4 ปีมานี้ ธนาคารพาณิชย์กลับมาทำกำไรต่อเนื่องและล้างขาดทุนสะสม สามารถจ่ายปันผลอู้ฟู่เท่ากับ หรือเหนือกว่าธุรกิจอื่นๆ กลายเป็นภาพชินตา ทำให้คนอาจ ”ลืมอดีต” ว่าเมื่อสิบกว่าปี นับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารเหล่านี้ได้ผ่านการล้มลุกคลุกคลานอย่างไร (รวมทั้งการยินยอมให้ต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกือบจะทุกธนาคาร มียกเว้นน้อยราย) แม้ว่าในหลายปีมานี้ ธนาคารพาณิชย์จะถูกล่ามโซ่ด้วยเงื่อนไข ”Basel II” และ ”Basel III” กดดันให้ต้องดิ้นรนมากขึ้น

ความขี้เหร่ของกำไรธนาคาร ล้วนมีฐานจากของธุรกิจอื่นๆ ที่ย่ำแย่ สะท้อนจากการที่อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 3% มา 4 ปีติดต่อกัน และยังไม่มีวี่แววจะฟื้นตัว

ตัวเลขการส่งออกและนำเข้าที่ถดถอยต่อเนื่องกว่า 5 เดือน การลงทุนใหม่ๆ นอกเหนือตัวเลขอนุมัติของบีโอไอถดถอย จนเกิดภาวะเงินล้นระบบธนาคาร (แบงก์ชาติยอมรับว่า ช่วงนี้มีเงินล้นธนาคารเฉลี่ยวันละ 7-9 แสนล้านบาท) ไม่ควรเป็นข้อมูลที่แสลงหู และ ”เสียมารยาท” สำหรับรัฐบาลเผด็จการทหารที่ชาญฉลาดเลิศล้ำ

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม หดตัวลดลง 7.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังผลิต อยู่ที่ 56.91% ลดลงจาก 61.57% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก อย่างฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ (HDD) รถยนต์ โทรทัศน์ เบียร์ และเครื่องประดับ

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 5.0% ตามสินค้าสำคัญ คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์ ที่เริ่มติดลบ ในเดือนนี้ ซึ่งส่งผลให้มีตัวเลขนำเข้าสินค้าทุนหดตัว 8.0%

วันเวลาของการเล่นลิ้นเพื่อ “โกหกสีขาว” ระหว่างนิยาม เงินฝืดหรือเงินเฟ้อติดลบ ไม่มีความหมายอะไรเลย นอกจากการแก้ตัว เพราะสถานการณ์กำลังทำให้คำพังเพยเก่าแก่ของไทยที่ว่า “คนดีขอบแก้ไข คนอะไรชอบแก้ตัว” ชัดเจนยิ่งขึ้นแล้ว ยังบอกได้อีกว่า เหตุใดดัชนี SET ควรจะดำดิ่งลงไปใต้ 1,500 จุดนับแต่นี้ไป 

Back to top button