ธุรกิจโบรกฯ กับภาวะ Sunset

บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ (Broker) ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเสมอไป... ก็มีช่วงซบเซาเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ นั่นแหละ  เพราะการเป็นธุรกิจนายหน้าในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากภาวะตลาดฯไม่ดี! นักลงทุนก็ชะลอการลงทุน  และส่งผลรายได้จากค่านายหน้าลดลงไปด้วยเช่นกัน


เส้นทางนักลงทุน

บริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ (Broker) ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเสมอไป… ก็มีช่วงซบเซาเช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ นั่นแหละ  เพราะการเป็นธุรกิจนายหน้าในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากภาวะตลาดฯไม่ดี! นักลงทุนก็ชะลอการลงทุน  และส่งผลรายได้จากค่านายหน้าลดลงไปด้วยเช่นกัน

ดังภาวะตลาดหุ้นไทยช่วงปี 2561 ที่ผ่านมา จะเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงอย่างชัดเจน  หลังจากที่ช่วงต้นปีดัชนีมีการขึ้นไปทำจุดสูงสุด 1,838.96 จุด หลังจากนั้นค่อย ๆ อ่อนตัวลงเรื่อย ๆ จนช่วงท้ายปีดัชนีลงมาแถว 1,563.88 จุด ถือเป็นขาลงชัดเจน…ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่พักการซื้อขายเพื่อรอความชัดเจนในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง

ทำให้โบรกเกอร์ส่วนใหญ่มูลค่าการซื้อขายในปี 2561 ลดลง เมื่อเทียบกับช่วงปี 2560 สะท้อนต่อการลดลงของรายได้ค่านายหน้าที่มาจากส่วนของค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์รายวันเฉลี่ยในตลาดของลูกค้ารายบุคคลลดลง

ผลดังกล่าวสะท้อนไปยังผลการดำเนินงานในปี 2561 โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ นั่นเอง เพราะจากตัวเลขกำไรสุทธิของปี 2561 พบว่า จาก 9 บริษัทหลักทรัพย์ สามารถทำกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปี 2560 เพียง 1 บริษัท ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI

ส่วนอีก 8 บริษัท พบว่า กำไรสุทธิปี 2561 ลดลงจากปี 2560 จำนวน 5 บริษัท  ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH, บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ MBKET, บริษัท เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ASP, บริษัท ฟินันซ่า จำกัด (มหาชน) หรือ  FNS และบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ CNS

ขณะที่ปี 2561 ขาดทุนสุทธิเพิ่มจากปี 2560 จำนวน 1 บริษัท ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC และอีก 2 บริษัท ในปี 2561 พลิกขาดทุนสุทธิจากปี 2560 มีกำไรสุทธิ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSS และ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ  ZMICO

สำหรับรายละเอียดตัวเลขกำไรสุทธิ-ขาดทุนสุทธิดูจากตารางประกอบ

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KGI รายงานผลการดำเนินงานงบปี 2561 โดยสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 พบว่ามีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 1,083.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.16% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 886.88 ล้านบาท

เนื่องจากผลกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นด้วยบริษัทมีรายได้รวม 3,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีรายได้จากค่านายหน้า 910 ล้านบาท, รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ 687 ล้านบาท, รายได้ดอกเบี้ยให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ 164 ล้านบาท และบริษัทยังมีกำไรและผลตอบแทนจากเครื่องมือทางการเงิน 1,738 ล้านบาท

ถือเป็นบริษัทหลักทรัพย์เดียวที่สามารถทำกำไรในปี 2561…นับว่ายังเป็นดาวเด่นของกลุ่ม….พร้อมกับทางบริษัทยังมีการจ่ายปันผล 0.385 บาทต่อหุ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 18 เม.ย. 2562 และหากคิดเป็นอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ราว 7.79% เทียบกับราคาหุ้น ณ วันที่ 3 เม.ย. 2562 ที่ปิด 4.94 บาท ผลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า KGI ยังมีความแข็งแกร่ง

พร้อมกับยังเป็นโบรกเกอร์ที่บริหารจัดการธุรกิจได้ดีกว่าบริษัทหลักทรัพย์อื่น ที่ผลกำไรสุทธิเริ่มถดถอย โดยกำไรสุทธิลดลง และขาดทุนบักโกรกเป็นส่วนใหญ่

โดยเฉพาะทางด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ ZMICO รายงานผลการดำเนินงานปี 2561 โดยสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ขาดทุนสุทธิ 195.84 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 9.87 ล้านบาท  โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการปรับมูลค่าตามราคาตลาด (Mark to market) ของหลักทรัพย์จดทะเบียนแห่งหนึ่งที่อยู่ในพอร์ตเงินลงทุนของบริษัท ตามผลประกอบการและความ ผันผวนของตลาดสินค้าเกษตรและอาหาร ที่บริษัทจดทะเบียนดังกล่าวประกอบธุรกิจอยู่ อย่างไรก็ดีมูลค่าตลาดของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวยังคงสูงกว่าต้นทุนในการได้มาของบริษัท

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่บริษัท ลงทุนผ่านบริษัทร่วม บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด (KT ZMICO) ก็มีผลประกอบการขาดทุนเป็นปีแรกในปี 2561 นี้ แม้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เฉลี่ยต่อวันจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าก็ตาม แต่การแข่งขันกันอย่างดุเดือดของธุรกิจหลักทรัพย์โดยเฉพาะการลดอัตราค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ต่ำเพื่อดึงดูดลูกค้า อีกทั้งการลดลงของสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ส่งผลให้อัตราค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยและรายได้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรมปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

แม้ เคที ซีมิโก้ ยังสามารถคงสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่สูงอยู่ แต่บริษัทได้รับผลกระทบจากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายพิเศษในปีที่เกิดจากการปรับโครงสร้างองค์กรและการเพิ่มประมาณการภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเพื่อรองรับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม และสำหรับส่วนแบ่งการตลาดปัจจุบันของเคที ซีมิโก้ อยู่ที่ร้อยละ 2.07

ด้วยทุกส่วนธุรกิจของ ZMICO ลดลงจากทุกภาคส่วน อาจส่งผลให้บริษัทไปไม่รอด  ทั้งนี้การแตกไลน์ธุรกิจไปยังธุรกิจอื่นก็อาจเป็นการช่วยพยุงผลการดำเนินงานได้ในอนาคต… บริษัทจึงเข้าลงทุน 12% ในบริษัท คริสตัล ซิลด์ โปรเฟสชั่นนอลคาร์ โค้ทติ้ง จำกัด (CTS) ประกอบธุรกิจศูนย์บริการดูแลปกป้องและเคลือบสีรถยนต์แบบครบวงจร และมีธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศลาวและกัมพูชา โดยเป็นการซื้อหุ้นเดิมจำนวน  9,830 หุ้น จากบริษัท เอเชียคลาสสิคอินเวสท์เมนท์ จำกัด และ หุ้นเพิ่มทุนใหม่จำนวน 22,920 หุ้น คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 37.8 ล้านบาท ซึ่งแหล่งเงินลงทุนมาจากเงินทุนหมุนเวียนจากการดำเนินงานของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทมองว่าธุรกิจดังกล่าวมีศักยภาพในการเติบโตได้อย่างมากทั้งจากธุรกิจปัจจุบันและโอกาสในการขยายสาขาทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลหรือกำไรจากส่วนต่างของเงินลงทุนในอนาคต

ดังนั้นจากแตกไลน์ธุรกิจของ ZMICO จะเป็นตัวนำร่องและตัวอย่างให้กับโบรกเกอร์อีกหลาย ๆ แห่งที่มีผลการดำเนินงานเริ่มถดถอย โดยเฉพาะทางด้านธุรกิจนายหน้าที่อาจจะยังชะลอตัวลง หรืออยู่ในภาวะถดถอย “Sunset” ซึ่งอาจทำรายได้จะลดลงต่อเนื่องในอนาคต หากไม่อย่างนั้นจะทำให้กลุ่มบริษัทหลักทรัพย์หมดเสน่ห์ไป !

กลุ่มโบรกเกอร์ควรเรียกเสน่ห์กลับคืมา โดยการทำให้กำไรสุทธิกลับมาแข็งแกร่ง !!!

Back to top button