ย้อนรอย “เซ็นทรัลฯ” 24 ปี ไฟไหม้ 3 รอบ ฉุดหุ้นดิ่งเฉลี่ย 5%

ย้อนรอย “เซ็นทรัลฯ” 24 ปี ไฟไหม้ 3 รอบ ฉุดหุ้นดิ่งเฉลี่ย 5%


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (10 เม.ย.62) เวลา 17.40 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ชั้น 8 ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN โดยจากการตรวจสอบพบว่า เหตุเพลิงไหม้ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในวันพุธที่ 10 เม.ย.62 ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 9 ปี ที่เกิดขึ้นเหตุการณ์เพลิงไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 24 ปีที่เกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ภายใต้การดูแลของ CPN

ทั้งนี้ เหตุการณ์ครั้งแรกเกิดขึ้นกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลชิดลม เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2538 โดยเซ็นทรัลชิดลมถูกเพลิงไหม้อาคารนานกว่า 20 ชั่วโมงจึงสามารถควบคุมเพลิงได้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บสาหัส 11 คน เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,535 ล้านบาท

โดยเหตุการณ์ในครั้งนั้น ส่งผลให้ราคาหุ้น CPN ปรับตัวลดลง โดยราคาปิด ณ วันที่ 22 พ.ย.2538 อยู่ที่ระดับ 2.29 บาท ซึ่งภายหลังจากเกิดเหตุราคาหุ้นในวันที่ 24 พ.ย.2538 ซึ่งเป็นวันทำการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.24 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลง 2.2% อย่างไรก็ตาม ภายหลังราคาหุ้น CPN ได้มีการปรับตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.27 ในวันที่ 27 พ.ย.2538

สำหรับเหตุการณ์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยนับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน เริ่มใช้พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองจนถึงวันที่ 19 พ.ค. พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าสลายการชุมนุม หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร โดยจุดหนึ่งที่มีการลอบวางเพลิง และเข้าทุบทำลายอาคารคือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ส่งผลให้เซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเซน หลังเพลิงไหม้ได้ลุกขึ้นนานเกินกว่า 10 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 01.00 น. เพลิงไหม้เริ่มส่งผลให้ส่วนของห้างสรรพสินค้าเซนทรุดตัวลงจนด้านหน้าถล่มลงมา

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้บางส่วน ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการเช่าพื้นที่ที่จำเป็นต้องละเว้นให้กับร้านค้าผู้เช่า เนื่องจากไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ นอกจากนี้บริษัท ยังต้องบันทึกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโครงการทั้งหมดเอง

โดยเซ็นทรัลพัฒนาได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่ากองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ได้ทำกรมธรรม์คุ้มครองในกรณีการก่อการร้ายเอาไว้อีกกรมธรรม์หนึ่งกับ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทจะดำเนินการเบิกสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์นี้แทนเป็นจำนวนเงิน 3,500 ล้านบาท และไทยเศรษฐกิจประกันภัย ได้ดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560

ทั้งนี้ เหตุการณ์ในครั้งนั้น ส่งผลให้ราคาหุ้น CPN ปรับตัวลดลง โดยราคาปิด ณ วันที่ 19 พ.ค.2553 อยู่ที่ระดับ 10.20 บาท ซึ่งภายหลังจากเกิดเหตุราคาหุ้นหลังจากกลับมาซื้อขายอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ค.2553 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 9.30 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลง 8.8% และราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่องทำจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดเหตุที่ระดับ 9.10 บาท คิดเป็นการปรับตัวลดลงถึง 10.8% อย่างไรก็ตามราคาหุ้น CPN กลับมาสู่ระดับ 10.25 บาท ได้อีกครั้งในวันที่ 19 ก.ค.2538 คิดเป็นระยะเวลาที่ราคาหุ้นถูกกดดันจากปัจจัยลบนานถึงเกือบ 2 เดือน

ทั้งนี้หากคำนวณการปรับตัวลดลงของหุ้น CPN หลังจากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ทั้ง 2 รอบที่ผ่านมาแล้วจะพบว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลงเฉลี่ย 5%

โดยล่าสุดราคาหุ้น CPN ณ เวลา 10.19 น. อยู่ที่ระดับ 74.25 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.34% สูงสุดที่ระดับ 74.25 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 73.25 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 266.74 ล้านบาท

ส่วนราคาหุ้น CENTEL อยู่ที่ระดับ 43.50 บาท ลบ 0.25 บาท หรือ 0.57% สูงสุดที่ระดับ 43.50 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 42.75 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 102.28 ล้านบาท

Back to top button