ประธาน TMB ยันผู้ถือหุ้นอุ่นใจได้! ลุยควบ “ธนชาต” สิทธิเพิ่มทุนเทียบเท่ารายใหญ่
บอร์ด TMB ยันดีลควบรวม TMB-ธนชาต สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยเท่ากับผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งกระทรวงการคลังและกลุ่มไอเอ็นจี ย้ำการควบรวมช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้กับธนาคาร ส่วนกรณี FWD จับมือกับแบงก์ไทยพาณิชย์ ไม่กระทบ TM
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า แผนควบธุรกิจระหว่างแบงก์ทีเอ็มบี กับธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK เป็นการสร้างผลประโยชน์ให้ซึ่งกันและกัน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วส่งผลให้ผลประโยชน์กับธนาคารใหม่แข็งแกร่งมากขึ้น
นอกจากนี้ ขอยืนยันว่าสิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อยในทีเอ็มบี จะไม่เสียเปรียบผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้งกระทรวงการคลังและกลุ่มไอเอ็นจี โดยผู้ถือหุ้นรายใหญ่หากได้ประโยชน์อะไร ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยจะได้ประโยชน์อย่างนั้นเช่นเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีข่าวเกี่ยวกับราคาที่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เช่น กระทรวงการคลังจะใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของทีเอ็มบีนั้น สัดส่วนการเพิ่มทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 15 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ส่วนราคาต้องรอตรวจสอบสถานะการเงิน (due diligence) เสร็จก่อน ซึ่งคลังจะมีส่วนลด 20% จากราคาตลาดฯ ซึ่งจะต่ำกว่าราคาที่ผู้ถือหุ้นใหม่ซื้อ (ธนชาต) ทำให้นักลงทุนคงมีความกังวล เนื่องจากราคาที่คลังซื้อต่ำกว่าราคาในกระดานค่อนข้างมาก
นายประสงค์ กล่าวอีกว่า กรณีที่ธนาคารประกาศจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นงวดปี 2561 ที่ 0.07 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนการจ่ายเงินปันผลประมาณ 35% ของกำไรสุทธิที่ 11,601 ล้านบาท โดยไม่ได้เพิ่มสัดส่วนเงินปันผลให้สอดคล้องกับกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นนั้น สาเหตุมาจากธนาคารต้องการเก็บผลกำไรไว้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธนาคาร
ด้าน นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า แผนการควบรวมธุรกิจธนาคารตามที่ได้แจ้งตัวเลขกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไปแล้ว ว่าหลังควบรวมขนาดธุรกิจจะอยู่ที่ 130,000-140,000 ล้านบาท โดยเงินทุน 30% แรกมาจากธนาคารทหารไทย ด้วยการที่ธนาคารมีสภาพคล่องสูงทำให้สามารถออกตราสารหนี้เพิ่มเติมได้
ส่วน 70% ที่เหลือเป็นเงินทุนที่จะใส่มาใหม่ คิดเป็นวงเงินประมาณ 90,000 ล้านบาท โดย 50,000 ล้านบาท จาก 90,000 ล้านบาทนั้น จะมาจากบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TCAP และธนาคารโนวาสโกเทีย จากแคนาดา เป็นผู้ใส่เงินทุนดังกล่าว ส่วนวงเงินที่เหลืออีก 40,000 ล้านบาท จากผู้ถือหุ้นของ TMB คือกระทรวงการคลังและ ING ซึ่งผู้ถือหุ้นดังกล่าวจะใส่เงินเข้ามาประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนวงเงินที่เหลือกว่า 10,000 ล้านบาท จะมาจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน
ส่วนกรณีบริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ FWD ทำการศึกษาการเป็นพันธมิตรกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB นั้น ธนาคารยืนยันว่าไม่กระทบต่อตัวธุรกิจประกันชีวิตของธนาคาร เพราะในข้อสัญญามีระบุชัดเจนว่า หาก FWD ไม่สามารถออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินตามที่ธนาคารต้องการได้ ธนาคารสามารถหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของธนาคารจากบริษัทประกันชีวิตอื่นมาทดแทนได้ ส่วนสัญญาการร่วมมือการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตผ่านธนาคารระยะเวลา 15 ปีกับทางธนาคารทหารไทยวงเงินสัญญา 20,000 ล้านบาท ธนาคารทหารไทยไม่ต้องคืนวงเงินดังกล่าว และธนาคารตัดค่าเสื่อมไปในแต่ละปีเช่นเดียวกัน