โบรกฯ เชียร์ “ซื้อ” MTC รับปัจจัยบวก 2 เด้ง กำไร Q1 นิวไฮต่อ-ไม่หลุดโผ MSCI

3 โบรกฯ แท็กทีมเชียร์ "ซื้อ" MTC วางเป้าสูง 63 บาท รับปัจจัยบวก 2 เด้ง คาดกำไรไตรมาส 1/62 ทำนิวไฮต่อ รับยอดสินเชื่อโต-ไม่หลุดโผ MSCI


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจข้อมูลและบทวิเคราะห์หุ้น บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC หลังราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง โดยปิดตลาดวานนี้ (17 เม.ย.) อยู่ที่ระดับ 51.50 บาท บวก 2 บาท หรือ 4.04% ด้วยมูลค่าซื้อขาย 954.35 ล้านบาท โดยนักวิเคราะห์มองว่า MTC ได้รับปัจจัยบวกจากการพิจารณาเกณฑ์ NVDR ของ MSCI และคาดว่าผลงานในไตรมาส 1/62 จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย นักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น MTC ประเมินราคาเป้าหมาย 63 บาทต่อหุ้น โดยปัจจัยหนุนระยะสั้น คือ Core Profit ไตรมาส 1/62  ที่คาดว่าจะทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 1,037 ล้านบาท (โต 24% เทียบจากปีก่อน และโต 3% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน) เนื่องจากขยายสาขาเพิ่ม 170 แห่งในไตรมาสนี้ รวมเป็น 3,449 สาขา เทียบกับเป้าหมาย 3,900 สาขา ณ ปลายปี 2562 สัดส่วน Cost-to-income ทรงตัว

ส่วนคุณภาพสินทรัพย์ดี โดย NPL Ratio อยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% และ Coverage Ratio สูง 250% ด้านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.3 เท่า เทียบกับสิ้นปี 2561 ที่ 3.0 เท่า

นอกจากนี้บริษัทจะเริ่มทำธุรกิจเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ในครึ่งหลังปี 2562 การปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ผ่านบริษัทย่อย เมืองไทย ลีสซิ่ง จะเริ่มในครึ่งหลังปี 2562  บริษัทเชื่อมั่นว่าจะไปได้ดี เพราะบริษัทมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในแต่ละสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และให้ MTC เป็นหุ้นในกลุ่มเติบโตของปี 62 โดยบริษัทมีแผนขยายสาขาจะเพิ่ม 600 สาขาในปีนี้, คาดการณ์สินเชื่อเติบโต 35% และกำไรสุทธิขยายตัวสูงต่ออีก 30% ในเชิงกลยุทธ์

โดยนักวิเคราะห์ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น MTC ประเมินราคาเป้าหมาย 57 บาทต่อหุ้น โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ทำ New High ต่อเนื่องที่  1,050 ล้านบาท เพิ่ม 26% เมื่อเทียบจากปีก่อน และโต 5% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสินเชื่อ 34% เมื่อเทียบจากปีก่อน และโต 6% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน

อย่างไรก็ตามในด้าน NIM ยังคงลดลงต่อเนื่อง เพราะ การยกเลิกค่าธรรมเนียมจ่ายคืนหนี้ก่อนกำหนด (early prepayment fee) ในไตรมาส 2/62 คาดกำไรสุทธิโตเมื่อเทียบจากปีก่อนและเมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน จากการเติบโตของสินเชื่อตามการขยายสาขาที่ครอบคลุมมากขึ้น จึงชดเชย NIM ที่ลดลงจากต้นทุนเงินทุนที่ปรับขึ้น และ yield ที่ลดลงได้ จากแนวโน้มกำไรไตรมาส 1/62ที่ทำ new high และในปี 2562 ยังเติบโต 32% เมื่อเทียบจากปีก่อน

ประกอบกับ MTC ยังคงควบคุมคุณภาพพอร์ตได้ดี ทำให้มี NPL ต่ำ และ Coverage ratio ในระดับสูง  แต่เนื่องจากสัญญาณสินเชื่อที่โตชะลอ และ NIM ที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3/62 เนื่องจากได้รับผลจากการยกเลิก prepayment fee

นอกจากนี้ยังคาด MTC จะมีแรงซื้อกลับเนื่องจากไม่ได้ถูกถอดออกจากดัชนี (เดิมคาดหลุด) เป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นไทยรอบใหม่ ผสานการเมืองไทยเดือนนี้น่าจะนิ่ง รอความชัดเจนผลการเลือกตั้งทางการในวันที่ 9 พ.ค.

ส่วนนักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” หุ้น MTC ประเมินราคาเป้าหมาย 57 บาทต่อหุ้น (อิง PBV 7.5 เท่า ใกล้เคียงกับ 5Yr AvgPBV+0.5SD) จากการช่องทางปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และ NPLs ที่อยู่ในระดับที่ต่ำ ทั้งนี้เรามองว่าราคาหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 1 เดือน เกิดจากการคลายความกังวลต่อการถูกนำออกจากการคำนวณ MSCI

ทั้งนี้คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ที่ 1.04 พันล้านบาท (โต 25% เมื่อเทียบจากปีก่อน และโต 4% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน)  จากจำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/62 ที่ 165 สาขา ส่งผลให้มีจำนวนสาขารวมที่ 3,444 สาขา และสินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบจากปีก่อน และโต 2% เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อน และ NPLs ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่  1.19% ตามปัจจัยฤดูกาล

รวมทั้งต้นทุนทางการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่ 3.8% โดยเป็นผลจากหุ้นกู้ชุดใหม่ที่บริษัทออกในช่วงไตรมาส 4/61 ถึงไตรมาส 1/62 มีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 4.1-4.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 ถึงไตรมาส 3/61ที่ 3.7-4.1% และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองไตรมาส 1/62 เพิ่มขึ้น 10% เทียบจากไตรมาสก่อน ที่ 141 ล้านบาท คิดเป็น Credit Cost ที่ 116 bps โดยบริษัทยังสามารถรักษาระดับ Coverage ratio ที่สูงกว่า 268% ได้

ขณะเดียวกันคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ที่ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% จากสินเชื่อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องคิดเป็น 22% ตามช่องทางการเข้าถึงลูกค้าที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.9 พันสาขาในปี ฃ2562และความจำเป็นในการตั้งสำรองส่วนเกินเพิ่มขึ้นน้อยลง

โดยเชื่อว่าระดับสำรอง ณ ปัจจุบันเพียงพอต่อ TFRS9 ส่งผลให้บริษัทตั้งสำรองที่ลดลงคิดเป็น Credit Cost 135 bps จากปี 2561 ที่ 140 bps ซึ่งมองว่าธุรกิจใหม่ของบริษัทอย่างสินเชื่อเช่าซื้อที่จะเริ่มดำเนินงานในไตรมาส 3/62 นั้น จะยังเป็นแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น และต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินงานเพื่อเพิ่ม Loan Yield จากปัจจุบันที่ปรับตัวลดลงหลังไม่คิดค่า Prepayment Fee

ทั้งนี้มองว่าในระยะสั้น MTC จะได้รับผลประโยชน์จากผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ระยะยาวบริษัทยังมีความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง เพื่อรองรับธุรกิจใหม่

Back to top button