บาทอ่อน การเมืองเปราะบาง

วานนี้ ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ายืนทะลุเหนือ 32.00 บาทอีกครั้ง ถือเป็นค่าบาทที่อ่อนสุดในปีนี้ และอ่อนสุดในรอบ 4 เดือน


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

วานนี้ ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่ายืนทะลุเหนือ 32.00 บาทอีกครั้ง ถือเป็นค่าบาทที่อ่อนสุดในปีนี้ และอ่อนสุดในรอบ 4 เดือน

นักบริหารพอร์ตค่าเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยทุกสำนักพยายามบอกว่าบาทอ่อนตามสัญญาณทางเทคนิค แต่ในวงการค้าเงินยอมรับกันว่าตัวแปรภายในที่สำคัญมาจากพื้นฐานสำคัญ 2  เรื่องคือการเมืองที่ไม่นิ่ง และอนาคตเศรษฐกิจไทยที่น่าจะเติบโตช้าลง

เรื่องแรก การที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประกาศว่าให้เวลา 7 วัน เพื่อชี้ขาดว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดโดย กกต.เป็นโมฆะหรือไม่ และการที่วานนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) ไม่รับวินิจฉัยสูตรคํานวณ ส.ส.ปาร์ตี้สิสต์ ระบุเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เท่ากับลอยแพ กกต. ทำให้เกิดความไม่แน่นอนระลอกใหม่

เรื่องหลัง มีข้อมูลเชิงลบหลายด้าน เช่น

– ธนาคารโลกคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัว 3.8% และ 3.9% ในปีถัดไป ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยจากในปี 2561 ที่เติบโต 4.1% ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดว่าจะเติบโตได้ 3.8% ต่ำสุดในอาเซียน แม้จะมีคำปลอบใจต่อท้ายว่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและเทียบกับในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าแล้ว ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากไทยมีอุปสงค์ในประเทศ (จากการขาดดุลงบประมาณ) เข้ามาช่วยทดแทนการชะลอตัวของการส่งออก

– การกระตุ้นการท่องเที่ยวสะท้อนให้เห็นว่ากลไกด้านอื่นของเศรษฐกิจทำงานไม่ดี การมีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ต่ออายุมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (VOA) สำหรับคนต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน 15 วัน ซึ่งปกติจะเก็บอัตราค่าธรรมเนียมประเภทนักท่องเที่ยวชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวน 2,000 บาทต่อคน ออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมมาตรการจะหมดอายุในวันที่ 30 เม.ย.นี้ และการลดภาษีธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังตั้งอื่น สะท้อนความกังวลได้ดี

– หนี้ภาครัฐหรือหนี้สาธารณะที่ยังพุ่งต่อเนื่องจากสิ้นปี 2561 ที่เฉียด 7 ล้านล้านบาทหรือ 43.35% ของจีดีพี (เป็นหนี้รัฐบาล 5.5 ล้านล้าน โดยกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 22,600 ล้านบาท) สอดรับกับทิศทางมุ่งสู่อันตรายของสถาบันจัดอันดับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ล่าสุดระบุว่า หนี้ภาครัฐทั่วโลกพุ่ง 2 เท่า ขยับขึ้นทำสถิติสูงสุดแตะ 66 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,112 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วน 80% ของจีดีพีโลก เพิ่มขึ้นจากมูลค่าหนี้ภาครัฐในปี 2560 ถึง 2 เท่า สถานการณ์หนี้ที่พุ่งสูงโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาต้องพบกับภาวะตึงตัวทางการคลัง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยได้ในที่สุด

เรื่องหลังสุดนี้ การมีตัวเลขหนี้รัฐบาล 5,551,356.52 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจ 937,778.13 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 336,643.42 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 7,867.86 ล้านบาท เกิดจากหลายปัจจัยคือ 1) เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและการบริหารหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นตามแผนการกู้เงินที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 ที่ตั้งขาดดุลไว้ถึง 4.5 แสนล้านบาท 2) การกู้เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ถึงกำหนดการเบิกจ่ายตามแผนงานและความก้าวหน้าของโครงการจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ 3) หนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และหนี้เงินกู้ของสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย 4) หนี้ต่างประเทศ

หนี้เหล่านี้ บางรายการสามารถจะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ แต่บางอย่างก็สูญเปล่า (ดังที่ทราบกันดี)

ปัจจัยลบเหล่านี้ มีคำถามว่า อะไรทำให้กระทบต่อค่าเงินบาทมากสุด คำตอบย่อมเป็นอย่างแรก เพราะส่งผลทางจิตวิทยาต่อฟันด์โฟลว์มากสุด

แรงขายต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ของฟันด์โฟลว์ในตลาดให้ทไวไลต์ หลังจากซื้อต่อเนื่องหลังสงกรานต์ จนยอดสะสมสุทธิของต่างชาติล่าสุดวานนี้ติดลบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ทำให้การคาดเดาที่ว่าปีนี้ต่างชาติจะกลับมาหลังการเลือกตั้งเริ่มเลือนรางลงไป

แม้ว่าปีนี้นักวิเคราะห์ระดับโลกจะมีมุมมองว่า ตราบใดที่เฟดยังไม่ใส่ใจ กับการเร่งขึ้นดอกเบี้ยระลอกใหม่ แต่ค่าดอลลาร์ไม่น่าจะอ่อนลงมาก เพราะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ไม่ได้พึ่งพาปัจจัยจากเฟดอย่างเดียวเสมอไป

การถอนตัวของกองทุนเก็งกำไรในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจากไทยไปยังตลาดเอเชียอื่น แม้ยังไม่ชัดเจนว่า เป็นไปเพราะสาเหตุชั่วคราวหรือระยะกลาง แต่สัญญาณดังกล่าว ก็ใช่ปัจจัยบวกในระยะสั้นสำหรับตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปมากนัก โดยเฉพาะในยามที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเริ่มแสดงตัวเลขกำไรพิเศษในสัดส่วนที่สูงขึ้นเทียบกับกำไรจากการดำเนินงานที่ถดถอยลง

ความแปรปรวนของค่าบาทมีข้อดีต่อธนาคารแห่งประเทศไทย และธุรกิจส่งออกเท่านั้น แต่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นักลงทุนจะต้องติดตามกันต่อไป ด้วยขวัญกระเจิงที่ชวนหวาดผวาง่ายเกินระดับปกติ

ช่วงเวลาของเงินบาทที่แข็งค่ามานานนับเดือนคงจะยุติลงชั่วคราว

ได้เวลากลับสู่สามัญเสียที พร้อมกับยอมรับข้อเท็จจริงของชีวิตบางส่วน แม้จะไม่ทั้งหมด

Back to top button