ศาลรอยิงลูกโทษ?

ประธานศาลฎีกากล่าวในงานสัมมนาหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง ว่าศาลตัดสินทุกคดีต้องมีฝ่ายชนะฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะก็พึงพอใจ ฝ่ายแพ้ก็จะวิพากษ์วิจารณ์ ทุกครั้งที่มีผู้วิจารณ์ศาล ก็จะมีคำถามตามมาว่าศาลไม่ทำอะไรบ้างหรือ หรือว่าไม่รู้ร้อนรู้หนาว สังคมจะเข้าใจผิดหรือไม่ ในฐานะผู้นำองค์กรก็บอกว่าไปตอบโต้เขาไม่ได้ ใครวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ต้องอดทน คนแพ้คดีไม่มีทางเห็นด้วยกับศาล ไม่มีประโยชน์ที่จะไปพูดโต้ตอบ ก็จะกลายเป็นคู่กรณี ซึ่งศาลไม่เคยเป็นคู่กรณีกับใคร


ทายท้าวิชามาร : ใบตองแห้ง

ประธานศาลฎีกากล่าวในงานสัมมนาหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง ว่าศาลตัดสินทุกคดีต้องมีฝ่ายชนะฝ่ายแพ้ ฝ่ายชนะก็พึงพอใจ ฝ่ายแพ้ก็จะวิพากษ์วิจารณ์ ทุกครั้งที่มีผู้วิจารณ์ศาล ก็จะมีคำถามตามมาว่าศาลไม่ทำอะไรบ้างหรือ หรือว่าไม่รู้ร้อนรู้หนาว สังคมจะเข้าใจผิดหรือไม่ ในฐานะผู้นำองค์กรก็บอกว่าไปตอบโต้เขาไม่ได้ ใครวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ต้องอดทน คนแพ้คดีไม่มีทางเห็นด้วยกับศาล ไม่มีประโยชน์ที่จะไปพูดโต้ตอบ ก็จะกลายเป็นคู่กรณี ซึ่งศาลไม่เคยเป็นคู่กรณีกับใคร

“การวัดว่าใครเป็นผู้ใหญ่ไม่ได้วัดที่อายุไม่ได้วัดที่ตำแหน่งหน้าที่ แต่วัดที่ความอดทน ไม่ต้องไปทะเลาะกับเขา เรารอว่าเมื่อไหร่เขาจะมาขึ้นศาลเท่านั้นเอง เราก็จะให้ความเป็นธรรมกับเขาเหมือนทุก ๆ คน ผมเคยพูดกับผู้พิพากษาว่าดูเกมฟุตบอล ถ้าเราลงไปไล่ฟุตบอลกลางสนามเราจะเหนื่อย รอยิงลูกโทษอย่างเดียว ง่ายกว่าเยอะ บอลวางอยู่เฉย ๆ ประตูกว้าง ๆ เราเตะเข้าโกล์ง่ายกว่า”

ฟังแล้วก็ปลื้มใจ เพราะเหมือนท่านบอกว่า ศาลไม่ควรโต้ตอบคนวิพากษ์วิจารณ์ รอให้เขามาขึ้นศาล จะให้ความเป็นธรรมเหมือนทุกคน แล้วเขาจะเข้าใจ

แอบมองแง่ดีด้วยซ้ำไป ว่าท่านไม่อยากให้เอาผิดคนวิพากษ์วิจารณ์ ฐานหมิ่นศาล ฐานละเมิดอำนาจศาล ให้มีขันติอุเบกขา เพียงแต่ท่านคงจะพูดชัดกว่านี้ไม่ได้

การยอมให้วิพากษ์วิจารณ์ศาล เป็นปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งอยู่ภายใต้ทัศนะศาลเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนแตะต้องไม่ได้ ผู้วิจารณ์มักจะต้องตัวเกร็ง เพราะไม่รู้ว่าศาลยอมให้แตะต้องไหม กว่าจะรู้ก็ไปยืนหน้าศาล รอให้ท่านยิงลูกโทษเข้าโกล์

ทั้งที่ในระบอบประชาธิปไตย ศาลเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน เป็นอำนาจที่ต้องตรวจสอบได้ การที่ศาลต้องทำคำพิพากษาเป็นลายลักษณ์อักษร เผยแพร่ให้รู้โดยทั่วไป ก็เพื่อให้ตรวจสอบการใช้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ให้แสดงเหตุผลโต้แย้งได้ แม้จำต้องยอมรับว่าคำพิพากษาเป็นที่สุด

ทำไมศาลจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ก็เพราะ 13 ปีที่ผ่านมา กฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างกันทางการเมือง ศาลทุกศาลและองค์กรอิสระ ถูกม้วนเข้าไปอยู่ในความขัดแย้ง โดยหลายกรณีก็ถูกมองเป็น “คู่กรณี”

ประธานศาลฎีกาเรียกร้องให้คนไทยยอมรับกติกา ถ้าไม่เห็นด้วยก็ต้องแก้กติกา ไม่เช่นนั้นจะวุ่นวายไม่จบ แต่บริบทคือ 13 ปีที่ผ่านมา เกิดรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกติกาสูงสุด 2 ครั้ง แล้วเขียนกติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาคุมอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญ 2560 ที่แก้ไขไม่ได้ด้วยซ้ำ ขณะเดียวกันก็ออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ออกคำสั่งละเมิดสิทธิเสรีภาพ เป็นกฎหมายให้ศาลใช้ ส่งคดีที่มีผลทางการเมือง มาให้ศาลพิพากษา

ปัญหาก็คือ ในขณะที่ผู้รักประชาธิปไตยไม่ยอมรับกติการัฐประหาร ศาลยอมรับว่ารัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยอมรับคำสั่ง คปค.และ ม.44 เป็นกฎหมาย ซ้ำร้าย ตุลาการบางคนก็เข้าไปมีส่วนร่วมกับรัฐประหาร โดยเฉพาะปี 2549 ที่ไปเป็นรัฐมนตรี เป็นอธิบดี เป็น คตส. สอบสวนเอาผิดส่งศาลพิพากษา รวมถึงมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงการเมือง

บริบทนี้ไม่ใช่ก้าวพ้นได้ง่าย ๆ แม้ดูท่าที ศาลก็ต้องการก้าวพ้น ต้องการให้ประชาชนเชื่อมั่น แต่ท่ามกลางการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็ขึ้นกับการยิงลูกโทษของศาลนั่นแหละ ถ้ายิงซ้ำ ๆ มุมเดิม ทั้งโกล์และคนดูก็รู้ทาง

Back to top button