THAI วอลุ่มแน่น-วิ่งคึก 3% รับแผนล้างขาดทุนสะสม ลุ้นกำไรทะลุ 300 ลบ.ปันผลทันที!

THAI วอลุ่มแน่น-วิ่งคึก 3% รับแผนล้างขาดทุนสะสม ลุ้นกำไรทะลุ 300 ลบ.ปันผลทันที! โดย ณ เวลา 11.21 น. อยู่ที่ระดับ 13.00 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 3.17%  ด้วยมูลค่าซื้อขาย 101.60 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  หรือ THAI  ณ เวลา 11.21 น. อยู่ที่ระดับ 13.00 บาท บวก 0.40 บาท หรือ 3.17%  ด้วยมูลค่าซื้อขาย 101.60 ล้านบาท คาดเก็งกำไรข่าวเตรียมล้างขาดทุนสะสมและเล็งปันผลหากปีนี้มีกำไรเกิน 300 ล้านบาท

อนึ่งก่อนหน้า นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เปิดเผยว่า ที่ประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2562 มีมติอนุมัติการโอนทุนสำรองตามกฎหมาย 2,691,275,568 บาท และสำรองส่วนล้ำมูลค่าหุ้น 25,545,316,308 บาท รวมทั้งสิ้น 28,236,591,876 บาท เพื่อมาล้างผลขาดทุนสะสม ซึ่ง ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีผลขาดทุนสะสมอยู่จำนวน 28,533,077,895 บาท โดยจะส่งผลให้มีผลขาดทุนสะสมคงเหลือ 296,486,019 บาท และหากบริษัทสามารถสร้างผลการดำเนินงานตั้งแต่ไตรมาส 1/2562 ถึงปลายปี 2562 มีกำไรมากกว่า 300 ล้านบาท ก็อาจจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอนาคต

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการตามที่กล่าวมาในส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่งบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 27,702,989,262 บาท เพียงแต่ผลขาดทุนสะสมลดลงไป เป็นการจัดการงบการเงินให้ใช้ประโยชน์ต่อไปได้ในอนาคต และเป็นการเปลี่ยนสภาพให้เกิดงบดุลที่ดีขึ้น และมุ่งสร้างผลประกอบการให้มีกำไรมากกว่าขาดทุนสะสมภายหลังหักสำรองตามกฎหมาย

สำหรับการอนุมัติการโอนทุนสำรองเป็นไปตามกฎหมาย และเงินสำรองที่เกิดจากส่วนมูลค่าหุ้น เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัท โดยดำเนินการภายใต้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติ บริษัท มหาชน จำกัด พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม) มาตรา 119 กำหนดว่า “เมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้วบริษัทอาจโอนทุนสำรองตามมาตรา 51 ทุนสำรอง ตามมาตรา 116 หรือเงินสำรองอื่น เพื่อชดเชยผลขาดทุนสะสมของบริษัทได้ การชดเชยผลขาดทุนสะสมตามวรรคหนึ่งให้หักชดเชยจากเงินสำรองอื่นก่อน แล้วจึงหักจากทุนสำรองตามมาตรา 116 และทุนสำรองตามมาตรา 51 ตามลำดับ

“หากไม่ทำวิธีนี้ THAI ต้องสร้างกำไรให้ได้มากกว่า 28,533,077,895 บาท ถึงจะจ่ายเงินปันผลได้ ถ้าไม่ถึงก็จ่ายปันผลไม่ได้ แต่ถ้าใช้วิธีดังกล่าว ถ้าสร้างผลกำไรได้มากพอ ก็จะมีเงินเพียงพอจ่ายเงินปันผลได้ ส่วนกรณีหลังดำเนินการล้างขาดทุนสะสมเสร็จแล้ว แต่ในปี 2562 หรือปีต่อ ๆ ไป มีการขาดทุนอยู่ ก็จะนำมาบวกลบกับขาดทุนสะสมที่เหลือ 296,486,019 บาท ตามปกติ” นายสุเมธ กล่าว

ส่วนกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ใน THAI สัดส่วน 51% จะมีการขายหรือไม่นั้น ส่วนตัวคงไปตอบแทนกระทรวงการคลังไม่ได้ โดยต้องเป็นเรื่องระดับชาติต่อไป ถ้ากระทรวงการคลังขายหุ้นถืออยู่ออกมา THAI จะกลายเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัว อาจจะดี หรือแย่มากกว่านี้ก็ได้ ส่วนตัวไม่ขอให้ความเห็นในส่วนนี้

ทั้งนี้ THAI เป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจมีการควบคุมดูแลเป็นพิเศษ เชื่อว่าถ้ารัฐบาลสนับสนุน THAI ยังคงอยู่ต่อไป ต่างจากบริษัทเอกชนหลายสายการบินขนาดใหญ่เริ่มขาดทุน และอยู่ไม่ได้ รวมถึงสายการบินโลว์คอสต์มากขึ้น เพราะมันมีการแข่งขันสูง ส่วนเรื่องราคาหุ้นมองว่าถ้าผลการดำเนินงานกลับมามีกำไร หรือกลับมารุ่งเรืองเช่นเดิม ราคาหุ้นก็จะสนองแน่นอน และเข้าใจหัวอกคนที่ถือหุ้นตั้งแต่ราคา 60 บาท เป็นอย่างดี

สรุปลงทุนศูนย์ซ่อมอู่ตะเภาพ.ค.นี้

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) บริษัทยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการลงทุน หลังเมื่อเดือน ต.ค. 2561 คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) ได้อนุมัติเห็นชอบให้มีการลงทุน และในเดือน พ.ย. 2561 อนุมัติให้บริษัทแอร์บัสเป็นผู้ยื่นลงทุนเพียงรายเดียว เพื่อร่วมลงทุนเปิดศูนย์ MRO

โดยปัจจุบันทางบริษัทแอร์บัสอยู่ระหว่างการพิจารณาการดำเนินการลงทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนในเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งในส่วน THAI ได้มีการส่งตัวแทนไปร่วมติดตามงานอย่างใกล้ชิด เมื่อมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป และเมื่อเกิดการลงทุนขึ้นจริง ทางบริษัทแอร์บัส และ THAI จะร่วมลงทุน (JV) ในรูปแบบบริษัทจำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50

นอกจากนี้ ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น THAI ได้มีมติอนุมัติการงดจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2561 เนื่องจากในปี 2562 ผลการดำเนินงานยังมีผลขาดทุนอยู่ จากภาพรวมเศรษฐกิจ การแข่งขันในธุรกิจการบิน และผู้ประกอบการอื่นทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับบริษัทเช่นกัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารไม่ได้นิ่งนอนใจในการบริหารผลงานให้ THAI กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง และสามารถจ่ายเงินปันผลได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลประจำปีในอัตราไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิก่อนผลกำไรและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากงบการเงินรวม

“ตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่ผมเข้ามารับหน้าที่ คณะกรรมการบริหารได้เห็นปัญหาในหลาย ๆ เรื่องที่ต้องแก้ไข และได้ดำเนินการออกวิธีการและแนวทางหลายมาตรการให้ THAI กลับมามีกำไร ทั้งการเพิ่มรายได้, การลดต้นทุน, การบริหารความเสี่ยง, อัตราแลกเปลี่ยน, ความผันผวนราคาน้ำมัน และค่าเสื่อมของค่าเครื่องบินเก่าที่ปลดระวาง (ค่าซาก) เช่น การขายเครื่องบินเก่าออกไป เป็นต้น ตอนนี้คณะกรรมการอยู่ระหว่างการทำข้อสรุป และดำเนินการตามแผนงานที่เสนอไปให้เป็นไปตามแผน” นายสุเมธ กล่าว

ส่วนการคาดการณ์ผู้โดยสารในปี 2562 ของหลายสำนักมองว่า ปริมาณผู้โดยสารโดยรวมจะชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา ตามความต้องการเดินทางทางอากาศน้อยลง เพราะราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาตั๋ว หรือค่าเดินทางแพง อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จีนเองก็ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการใช้จ่ายน้อยลง และกระทบมายังภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงปัจจัยอื่น เช่น การปิดน่านฟ้าของบังกลาเทศ เป็นต้น ทั้งนี้ THAI ได้ติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ พร้อมปรับมาตรการ หรือกลยุทธ์ให้สอดรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้านความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่มีความผันผวน ขึ้นอยู่กับอุปสงค์ และอุปทานของน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกรวม ทั้งผลกระทบจากสภาวการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงาน เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจขนส่งทางอากาศ บริษัทได้จัดทำการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน เพื่อลดความผันผวนของต้นทุนด้านน้ำมันอากาศยาน

โดยบริษัทได้กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันให้สามารถจัดทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไม่ต่ำกว่า 20% และไม่เกิน 80% ของปริมาณการใช้ในรอบหนึ่งปีงบประมาณ และระยะเวลาประกันไม่เกิน 24 เดือน ซึ่งในปี 2562 บริษัทยังคงจัดทำการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีภาระผูกพันถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 ในสัดส่วนเฉลี่ย 46% จากปี 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 51% ของประมาณการการใช้น้ำมันทั้งหมด

ส่วนสัญญาและภาระผูกพันเช่าเครื่องบิน บริษัทได้ลงนามในสัญญาเช่าดำเนินงาน (Operating Leases) เครื่องบินจำนวน 42 ลำ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องบินตามสัญญาเช่าดำเนินงานเป็นจำนวนเงิน 4,015.09 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 130,951.42 ล้านบาท ประกอบด้วยเครื่องบิน A320-200 จำนวน 15 ลำ

A350-900 จำนวน 8 ลำ B777-300ER จํานวน 11 ลำ B787-8 จำนวน 6 ลำ และ B787-9 จำนวน 2 ลำ โดยมีเครื่องบินที่บริษัทดำเนินการรับมอบเรียบร้อยแล้วจนถึงสิ้นปี 2561 จำนวน 39 ลำ และมีเครื่องบินที่ยังไม่ถึงกำหนดรับมอบอีกจำนวน 3 ลำ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบินครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาเช่าดำเนินงานในปี 2562 จำนวน 4 ลำ, เครื่องบินครบกำหนดในปี 2553-2566 จำนวน 5 ลำ และจะครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาในปี 2567-2573 จำนวน 33 ลำ

ขณะที่ภาระผูกพันค่าเช่าตามสัญญาเช่าเครื่องบินทั้ง 42 ลำ สำหรับระยะเวลาแต่ละช่วง แบ่งเป็น ค่าเช่าภายใน 1 ปี อยู่ที่ 14,828.05 ล้านบาท, เกิน 1-5 ปี อยู่ที่ 59,664.17 ล้านบาท และเกิน 5 ปี อยู่ที่ 56,459.20 ล้านบาท ขณะที่สิ้นปี 2561 มีเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการบิน จำนวน 103 ลำ แบ่งเป็น เครื่องบินพิสัยไกลที่ใช้ทำการบินข้ามทวีป จำนวน 48 ลำ, เครื่องบินพิสัยกลางที่ใช้ทำการบินเส้นทางภูมิภาค จำนวน 35 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบที่ใช้ทำการบินเส้นทางระยะใกล้ จำนวน 20 ลำ

Back to top button