หุ้นเหล็กพลวัต2015
หุ้นกลุ่มเหล็กทั้งกลางน้ำและปลายน้ำในตลาดหุ้นไทย ล้วนมีผลประกอบการไม่ดีในปีนี้ ผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่จะขาดทุน และล่าสุด ค่าพี/อีของหุ้น เกือบทั้งหมด ไม่มี เพราะแสดงว่าขาดทุนต่อเนื่องหลายไตรมาสติดต่อกัน
หุ้นกลุ่มเหล็กทั้งกลางน้ำและปลายน้ำในตลาดหุ้นไทย ล้วนมีผลประกอบการไม่ดีในปีนี้ ผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่จะขาดทุน และล่าสุด ค่าพี/อีของหุ้น เกือบทั้งหมด ไม่มี เพราะแสดงว่าขาดทุนต่อเนื่องหลายไตรมาสติดต่อกัน
หุ้นเหล็กที่พอจะมีค่าพี/อีบ้าง ก็มักจะเป็นหุ้นเหล็กปลายน้ำ ที่ค่าพี/อี ก็สูงลิ่วเกินค่าเฉลี่ยของตลาด จะมีข้อยกเว้นก็ไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งอาศัยสถานการณ์ที่ราคาหุ้นในตลาดโลกต่ำ นำเข้าวัตถุดิบราคาต่ำมาจากต่างประเทศ
สถานการณ์เช่นนี้ ทำให้หน่วยงานราชการไทย ซึ่งมีแนวทางปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กมายาวนาน ต้องหาทางรับมือหรือแก้ไขปัญหา เพราะถือเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีเอาไว้ และปกป้อง (จะด้วยข้ออ้างอะไร ต้องไปสอบถามกันเอาเอง)
อุตสาหกรรมผลิตเหล็กของไทย เป็นอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า เกิดขึ้นตามนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม โดยมีปรัชญาเบื้องหลังว่า การมีโรงงานผลิตในไทย จะช่วยป้องกันการเสียดุลการค้าลงไปได้ ซึ่งโดยพฤตินัยกลับตรงกันข้าม
นับแต่มีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตเหล็กเป็นต้นมา มาตรการอุดหนุนธุรกิจผลิตเหล็กถูกนำมาใช้ทุกรูปแบบ แต่ก็ไม่เคยช่วยให้อุตสาหกรรมผลิตเหล็กพ้นจากอ้อมอกและการคุ้มครองของหน่วยงานรัฐเลย ขณะที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ พึงพอใจกับการด้อยความสามารถในการแข่งขัน ผ่านกระบวนการโอบอุ้มของกลไกรัฐตลอดหลายทศวรรษ
ในสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ธุรกิจเหล็กไทยได้รับแรงกระทบจากเหล็กนำเข้าที่เข้ามาแข่งขัน จนต้องหาทางร้องเรียนให้มีการนำเอามาตรการปกป้องการทุ่มตลาด หรือต่อต้านการอุดหนุนทางการค้า จากคู่แข่งขันจากภายนอก ซึ่งมักจะได้รับการหนุนช่วยเสมอมา
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผู้ผลิตเหล็กของไทย ก็ยังมีผลประกอบการที่ตกต่ำต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีคำตอบว่า เมื่อใดจะอยู่ได้โดยไม่ต้องมีรัฐโอบอุ้มหรืออุดหนุน
ล่าสุดเมื่อวานนี้ ก็มีการประชุมเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กอีกครั้งโดยกระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพใหญ่ หลังการประชุม พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ ออกมาเปิดเผยว่า ปัญหาที่สะสมมายาวนานมากกว่า 30 ปี ได้รับการปรับปรุงแก้ไขด้วยมติร่วมกันให้ความช่วยเหลือ ใน 6 มาตรการ ดังนี้
– นับตั้งแต่ 1 มิ.ย.58 เป็นต้นไป กรมการค้าภายในได้กำหนดให้เหล็กเส้น, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ, เหล็กแผ่นรีดร้อน, เหล็กกล้าแผ่นไร้สนิมรีดร้อน และเหล็กแผ่นรีดเย็น เป็นสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List : SL)
– กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลจีน เพื่อให้ลดการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์มายังประเทศไทย และตลาดอาเซียน
– กรมศุลกากรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเหล็กนำเข้า โดยแต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าเหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างผิดปกติ
– สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะเดินหน้าประชาสัมพันธ์แผนการกำหนดหรือทบทวนมาตรฐานของสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน
– กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย และคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ และเร่งศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำ (โรงงานถลุงเหล็ก) ในไทยหรือในประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลักดันให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ตั้งฐานการผลิตในไทยยินยอมให้ความร่วมมือทดสอบคุณภาพสินค้าเหล็กของไทย
– สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดแนวทางและจัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานเหล็กต้นน้ำให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ทั้ง 6 มาตรการนี้ คนที่คร่ำหวอดในวงการเหล็ก จะเห็นได้ง่ายว่านอกจากการปัดฝุ่นที่ไม่มีอะไรใหม่แล้ว ยังเป็นการประชุมฆ่าเวลาที่ไม่ได้ค้นพบทางออกอะไรเลยของหน่วยงานรัฐไทย
นอกจากไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมเหล็กกลับมาแข่งขันโดยไม่ต้องรับความช่วยจากภาครัฐซ้ำซากอีก แล้วมาตรการอุดหนุนซ้ำซากจากภาครัฐ หรือการเก็บภาษีติดลบนั้น จะสิ้นสุดลงเมื่อใด
เรื่องที่ดูจะถลำลึกมากที่สุดสำหรับมาตรการ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” อยู่ที่การเสนอให้ตั้งโรงงานผลิตเหล็กต้นน้ำ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า หมายถึงโรงงานถลุงเหล็กนั่นเอง
ความพยายามผลักดันการสร้างโรงงานถลุงเหล็กในประเทศไทย ทั้งที่ประเทศไม่มีแหล่งสินแร่เหล็กเลย ต้องนำเข้าอย่างเดียว ได้เคยปรากฏมาแล้วหลายๆ ครั้ง แต่ไม่เคยทำได้สำเร็จเพราะ 2 เหตุผลหลัก คือ 1) ธุรกิจนี้ไม่มีกำไร และมีความผันผวนของผลประกอบการที่เปราะบางอย่างมาก เรียกว่ากำไรต่ำ เสี่ยงสูง 2) ปัญหาถูกต่อต้านจากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่รุนแรง จนกระทั่งจะหาที่ตั้งเหมาะสมยากมาก
ถ้าหากคิดหรือออกแบบมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กได้แค่นี้ ไม่คิดหรือไม่ออกแบบ จะดีกว่าเสียด้วยซ้ำเนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ของธุรกิจเหล็กของไทยได้
เช่นเดียวกันกับกรณีผลประกอบการหุ้นเหล็กกลางน้ำและต้นน้ำที่ปรากฏตัวเลขผลกำไรพะงาบๆ อยู่ในตลาดหุ้นมานานหลายปีแล้ว