BEAUTY เด้งกลับ5% หลังรูดยาว 2 สัปดาห์ติด! คาดผลงาน Q2/62 ฟื้นตัว ปักธงรายได้ทั้งปีโต 20%

BEAUTY เด้งกลับ2% หลังรูดยาว 2 สัปดาห์ติด! คาดผลงาน Q2/62 ฟื้นตัว ปักธงรายได้ทั้งปีโต 20% โดย ณ เวลา 15.45 น. ราคาอยู่ที่ระดับ 4.58 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 4.57% สูงสุดที่ระดับ 4.62 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.14 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.85 พันล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY ณ เวลา 15.45 น. อยู่ที่ระดับ 4.58 บาท บวก 0.20 บาท หรือ 4.57% สูงสุดที่ระดับ 4.62 บาท ต่ำสุดที่ระดับ 4.14 บาท ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1.85 พันล้านบาท

โดยราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ติด นับตั้งแต่หุ้นยืนที่ระดับ 6.85 บาท เมื่อวันที่ 2 พ.ค.62 จนถึงการซื้อขายช่วงเช้าของวันนี้ ราคาหุ้นปรับตัวลงแล้วถึง 38.69%

นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BEAUTY เปิดเผยว่า บริษัทยังมั่นใจว่าผลประกอบการในปี 62 จะเป็นไปตามเป้าหมายรายได้เติบโตราว 20% และมีอัตรากำไรไม่ต่ำกว่า 25% แม้ว่าผลงานในไตรมาส 1/62 จะหดตัวแรงจากได้รับผลกระทบจากมาตรการของทางการจีนที่เรียกเก็บภาษีสินค้าออนไลน์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 ขณะที่ตลาดในประเทศก็ยังไม่ได้เติบโตมากนัก

ทั้งนี้ BEAUTY แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/62 มีรายได้รวม 548.7 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 904.9 ล้านบาท ลดลง 39.4% และมีกำไรสุทธิ 69.6 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 282.4 ล้านบาท คิดเป็นลดลง 75.4%

พร้อมทั้งชี้แจงว่า ตลาดในประเทศเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อกระแสข่าวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอางของบริษัทอื่นที่ไม่ผ่านมาตรฐาน อย.ส่งผลกระทบให้มีความระมัดระวังการซื้อมากขึ้นในการเลือกซื้อสินค้า แต่บริษัทมองว่าจะเป็นผลดีในระยะยาวต่อสินค้าของบริษัทที่ผลิตถูกต้องทุกรายการ อีกทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในช่วงที่ผ่านมาลดลงเป็นจำนวนมากส่งผลให้ยอดซื้อลดลงด้วย

ด้านตลาดต่างประเทศยังคงได้รับผลกระทบจากกระแสข่าวเรื่อง อย.ปราบปรามสินค้าไม่ได้มาตรฐานของบริษัทอื่น  ทำให้การส่งออกสินค้าทุกประเภทไปประเทศจีนล่าช้า ลูกค้าขายส่งของบริษัทต้องใช้ระยะเวลาในการนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายยาวนานกว่าเดิม ประกอบกับประเทศจีนมีการออกกฎหมายใหม่เก็บภาษีสินค้าขายผ่านออนไลน์

สำหรับแนวโน้มธุรกิจในช่วงไตรมาส 2/62 จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/62 และปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเริ่มเห็นสัญญาณการกระเตื้องขึ้นทั้งจากกำลังซื้อในประเทศ รวมถึงการปรับกลยุทธ์สำหรับตลาดจีนเริ่มเห็นผลบ้างแล้วเพื่อลดการพึ่งพากลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่ซื้อสินค้าของบริษัทเข้าไปขาย และการขายผ่านออนไลน์

โดยบริษัทได้ปรับกลยุทธ์โครงสร้างการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ มุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้โดยขยายธุรกิจช่องทาง Non Retail ในประเทศ เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพื่อรักษาอัตรากำไรสุทธิที่ดีต่อเนื่อง เนื่องจากช่องทางดังกล่าวมีต้นทุนดำเนินการที่ต่ำ และเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงลดการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปโดยขยายสัดส่วนการขายช่องทางต่างๆเพิ่มขึ้น

สำหรับตลาดประเทศจีนยังเน้นการรุกขยายตลาดเพราะมีขนาดใหญ่ โดยกระจายสินค้าผ่านช่องทาง Cross Border E-commerce อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าวางจำหน่ายแล้วจำนวน 8 Platforms อาทิ TMALL, JD, Kaola, VIP, YUNJI,  Little, Redbook, Beidiam, Jumei และในปีนี้มีแผนเจรจาเพิ่มจำนวน Platform อีกมากกว่า 2 รายและยังขยายจำนวน SKU สินค้าเข้าจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินการปรับกลยุทธ์เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า อาทิ Cross Boder E-commerce และ ช่องทางตลาดหลัก (General Trade) ประกอบด้วยช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ในตลาดทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน (Mainland China)  รวมถึงแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายในประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพเพื่อสร้างยอดขายในตลาดต่างประเทศเติบโต

อย่างไรก็ดี การปรับกลยุทธ์ตลาดจีนที่จริงเป็นเรื่องที่บริษัทดำเนินการเตรียมพร้อมมาอย่างต่อเนื่องด้วยการนำสินค้าหลายรายการขออนุญาตจำหน่ายในประเทศจีน เพราะต้องใช้เวลาตรวจสอบมาตรฐานค่อนข้างนาน คาดว่ากลางปีนี้จะเพิ่มรายการสินค้าที่สามารถเข้าไปจำหน่ายได้เป็น 12 รายการ (SKU) จากเดิมมี 7 SKU นอกจากนั้นจะมีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายเพื่อขายสินค้าอย่างเป็นทางการในมณฑลที่เป็นตลาดสำคัญเพิ่มเป็น 5 รายในกลางปีนี้ จากเดิมมี 4 ราย

พร้อมกันนั้นยังกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อปรับสัดส่วนต่างประเทศเพิ่มเป็น 40% ในอนาคต จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% โดยปีนี้มีแผนขยายตลาดเป็น 15 ประเทศ ซึ่งขณะนี้มีตัวแทนจำหน่ายใน 11 ประเทศ และอีก 4  ประเทศเป้าหมาย คือ  รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แคนาดา และบรูไน ขณะที่มองว่าตลาดรัสเซียและเวียดนามมีโอกาสเติบโตมากสุดในกลุ่มดังกล่าว

ทั้งนี้ รูปแบบของตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศแบ่งเป็น Product Distributor, Shop Licence, Shop in Shop และ Counter sales ซึ่งปัจจุบันแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย BEAUTY COTTAGE ในประเทศจีน 1 ราย และจะเริ่มแต่งตั้งตัวแทนในบรูไน 1 ราย อีกทั้งมีแผนออกงานแสดงสินค้าตลอดทั้งปี จากต้นปีมีออกงานแสดงสินค้าไปแล้ว 7 งาน

ส่วนตลาดในประทศจะมุ่งเน้น ช่องทาง Non Retails เช่น ช่องทางอีคอมเมิร์ซ ช่องทางสินค้าอุปโภค สินค้าประจำวัน (Consumer Product) ช่องทางการจัดกิจกรรมการตลาดที่เรียกว่า บิวตี้ เฟส (BEAUTY FEST) รูปแบบของงานแสดงสินค้าไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัด สินค้าที่จำหน่ายจะมีทั้งสินค้าของบริษัทเองและของคู่ค้าต่างๆ  ช่องทางโฮมช็อปปิ้งถือว่าเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ของบริษัท โดยมีแผนเริ่มจำหน่ายในต้นไตรมาส 3/62

รวมทั้งใช้กลยุทธ์สินค้าขับเคลื่อน (Product Driven) ซึ่งในปีนี้มีแผนสร้าง Product Hero จำนวน 57 รายการสินค้า และออกโปรโมชั่นต่างๆจัดกิจกรรมกับลูกค้าสมาชิกเพื่อผลักดันยอดขาย โดยบริษัทจะเน้นการขยายตลาดสินค้า Health Concern Product ตอบรับเทรนด์ดูแลใส่ใจสุขภาพของ”ผู้หญิงสวยและสุขภาพดี” ขณะที่สินค้าดังกล่าวให้อัตรากำไรค่อนข้างสูง ซึ่งจะช่วยผลักดันอัตรากำไรเฉลี่ยของบริษัทให้ดีขึ้นด้วย

ขณะที่ ช่องทาง Retails มุ่งกลยุทธ์การเปิดสาขาใหม่ในทำเลที่มีศักยภาพการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าสูง โดยในปี 62 มีแผนขยายสาขารวมทั้งสิ้น 15 สาขา แบ่งเป็น BEAUTY BUFFET 11 สาขา BEAUTY COTTAGE 4  สาขา ปัจจุบันมีจำนวนสาขาในประเทศรวม 363 สาขา  และมีแผนปรับดีไซน์ของร้าน BEAUTY BUFFET ให้ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค โดยจะเปิดร้านต้นแบบสาขาแรกที่มาบุญครองภายในไตรมาส 2 นี้

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายระยะยาวที่จะผลักดันให้รายได้ของบริษัทแตะ 1 หมื่นล้านบาทในปี 65 เพราะเชื่อว่าการปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ ของบริษัทจะเห็นผลสำเร็จและช่วยขับเคลื่อนรายได้ให้เติบโตได้อย่างตอ่เนื่อง หลังจากเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและมีแนวทางการแก้ไขแล้ว

 

Back to top button