ฟิทช์คงอันดับเครดิต PTTGC ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ฟิทช์คงอันดับเครดิต PTTGC ที่ 'AA(tha)' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ


บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่ระดับ ‘AA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ ที่ระดับ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินมีแนวโน้มลดลง: ฟิทช์ปรับลดประมาณการของกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานในปี 2558 – 2560 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ยังคงอ่อนแอ และค่าการกลั่นที่ได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นใหม่ อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังคงคาดว่าบริษัทฯ จะสามารถรักษาระดับของอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานได้ต่ำกว่า 1.5 เท่า แต่ความสามารถในการรองรับการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ น่าจะลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากประมาณการกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ลดลง และค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ยังคงสูง

แผนการลงทุนที่สูง แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนได้: กระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานของบริษัทฯ น่าจะเพียงพอสำหรับการลงทุนที่ผ่านการอนุมัติแล้วของบริษัทฯ จำนวน 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (59.2 พันล้านบาท) ในปี 2558 – 2562 นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีการประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่กำลังพิจารณาอยู่ในห้าปีข้างหน้าอีกจำนวน 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (150.7 พันล้านบาท) ซึ่งค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนดังกล่าวสามารถเลื่อนออกไปได้ในกรณีที่ภาวะอุตสาหกรรมไม่เอื้ออำนวย

การผลิตที่ครบวงจรและต้นทุนการผลิตที่ต่ำ: บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีการผลิตต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี บริษัทฯ มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบรวมถึงการได้รับประโยชน์จากการมีขนาดการผลิตที่ใหญ่ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตเนื่องจากวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโอเลฟินส์ได้แก่ก๊าซธรรมชาติซึ่งจัดหาได้จากภายในประเทศและมีราคาถูกกว่าวัตถุดิบประเภทอื่นเช่น แนฟทา บริษัทฯ ยังได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทฯ มีสัญญาการจัดหาวัตถุดิบระยะยาวกับ บมจ. ปตท. (ซึ่งถือหุ้นบริษัทฯ อยู่ประมาณร้อยละ 49 โดย ปตท. ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งช่วยลดความผันผวนของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบได้

ความเชื่อมโยงกับ ปตท. : ฟิทช์ได้ให้อันดับเครดิตแก่ PTTGC เพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ (Stand-alone Rating) เพื่อสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงานและความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ของบริษัทฯ กับ ปตท. ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่บริษัทฯ ได้รับจาก ปตท. เช่น การจัดหาวัตถุดิบก๊าซ ได้สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพังอยู่แล้ว

ความผันผวนตามวัฏจักรของธุรกิจ: อันดับเครดิตของบริษัทฯ ถูกลดทอนจากความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ตามวัฎจักรของธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นน้ำมันรวมถึงราคาน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนกำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ มีความผันผวน

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:

– ค่าการกลั่นที่สูงขึ้นในปี 2558 เนื่องจากอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ค่าการกลั่นจะลดลงในปี 2559

– ส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ยังคงอ่อนตัวเนื่องจากอุปทานล้นตลาด

– รวมค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนจำนวน 50% ของแผนการลงทุนที่ยังพิจารณาอยู่ โดยแบ่งกระจายการใช้จ่ายในระยะเวลา 5 ปี

– การจ่ายเงินปันผลที่ 45% ของกำไรสุทธิ

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

– ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์หระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น

– การเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทฯ โดยลำพังเองยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากแผนการลงทุนที่สูงของบริษัทฯ และคาดว่าการลงทุนใหม่ๆ เหล่านี้ยังไม่สามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทฯ ในระยะเวลาอันใกล้นี้ได้

ปัจจัยลบ:

-อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์และหนี้สินจากการดำเนินงานที่สูงกว่า 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนที่ใช้แหล่งเงินทุนจากการกู้ยืมที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และ/หรือ ค่าการกลั่นและส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีกับราคาวัตถุดิบที่อยู่ในระดับต่ำ

– ระดับความสัมพันธ์ในด้านการดำเนินงาน และความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ระหว่างบริษัทฯ กับ ปตท. ที่ลดน้อยลง

Back to top button