“เจมส์ บูลลาร์ด” แย้ม “เฟด” อาจหั่นดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อยังอ่อนแรง
“เจมส์ บูลลาร์ด” แย้ม "เฟด" อาจหั่นดอกเบี้ยหากเงินเฟ้อยังอ่อนแรง ฟา่กมติที่ประชุมย้ำคงอัตราดอกเบี้ยตามเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาเซนต์หลุยส์ ได้กล่าวในที่ประชุมสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงว่า หากเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอ่อนแรงลงก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะยังคงได้รับแรงผลักดันก็ตาม
ทั้งนี้ นายบูลลาร์ดกล่าวว่า การปรับนโยบายที่อาจจะเกิดขึ้นนั้น จะเป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อข้อมูลเศรษฐกิจที่เฟดได้รับ ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงของการที่เฟดพลาดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% และสงครามการค้านั้น ถือเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจระดับมหภาค 2 ปัจจัยสำหรับคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด (FOMC)
ส่วนในประเด็นการค้านั้น นายบุลลาร์คาดการณ์ว่า สหรัฐและจีนอาจจะบรรลุข้อตกลงการค้าในเวลาอันใกล้นี้ แต่ก็เตือนว่า หากทั้งทั้งสองฝ่ายประสบความล้มเหลว ก็จะส่งผลให้กำแพงการค้าระหว่างสองประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูงนั้น ส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลกในระยะกลาง
อนึ่งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 30 เม.ย. – 1 พ.ค. โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดยังคงเน้นย้ำถึงการใช้ความอดทนในการดำเนินนโยบายการเงิน พร้อมระบุว่า เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้
โดยรายงานการประชุมซึ่งมีการเผยแพร่เมื่อวานนี้ระบุว่า กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่า การใช้ความอดทนก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rates) นั้น ยังคงเป็นแนวทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีการขยายตัวปานกลางและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ทั้งนี้ ในการประชุมเฟดหลายครั้งที่ผ่านมานั้น กรรมการเฟดได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ รวมทั้งความไม่แน่นอนของกระบวนการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ในรายงานการประชุมครั้งนี้ ระบุว่า “กรรมการเฟดส่วนใหญ่มองว่าความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆที่ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงต้นปีนี้ ได้บรรเทาลงแล้ว ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ Brexit แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และการเจรจาการค้า”
โดยในการประชุมวันที่ 30 เม.ย. – 1 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 2.25-2.50% ซึ่งสอดคล้องกับที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ หลังจากที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีที่แล้ว โดยเฟดได้ตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันดังกล่าว แม้ถูกกดดันจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก็ตาม
นอกจากนี้ แถลงการณ์ในการประชุมวันดังกล่าวยังระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีการจ้างงานอย่างแข็งแกร่งในตลาดแรงงาน ขณะที่อัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยอยู่ที่ 3.8% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี