คัด 4 หุ้นปลอดภัยเน้นกลุ่ม “Domestic”-ปันผลสูงเสริมเกราะรับมือสงครามการค้า!
คัด 4 หุ้นปลอดภัยเน้นกลุ่ม “Domestic”-ปันผลสูงเสริมเกราะรับมือสงครามการค้า!
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจและรวบรวมบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับการลงทุนในภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวนจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศไทย เป็นปัจจัยกดดันหุ้นในกลุ่มส่งออก โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าประเภทไอที
โดยความร้อนแรงของ Trade War สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจ และน่าจะนำไปสู่การใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินหรือการคลัง ภาวะดังกล่าวทำให้ Fund Flow ยังไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าตลาดหุ้น
ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมองว่า การชะลอตัวของปริมาณการค้าโลก ส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก ขณะที่สถานการณ์ในเรื่องของสงครามการค้า หรือ Trade War ที่เป็นต้นเหตุของเรื่องดังกล่าวอยู่ในภาวะที่ร้อนแรงขึ้น และขยายตัวเข้าไปในกลุ่มสินค้าประเภทเทคโนโลยีจนเริ่มเห็นแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของ Tech War ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงทางเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ภาพรวมการใช้นโยบายการเงินของหลายประเทศออกมาในเชิงผ่อนคลาย
โดยเริ่มเห็นการปรับลดลงของอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ Fund Flow ยังมีทิศทางที่ไหลเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งก็หมายความว่ายังไม่น่าจะเห็นเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาสู่ตลาดหุ้นในช่วงเวลานี้ ประเมินว่า SET Index น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,610 – 1,630 จุด
ทั้งนี้กลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานี้ให้หลีกเลี่ยงหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ เช่น กลุ่มส่งออก กลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมี รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเทคโนโลยี แต่ควรให้น้ำหนักมากขึ้นในหุ้น Domestic Play ที่น่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์ เช่นกลุ่มนิคมฯ ที่มีตัวเลือกทั้ง FPT, WHA และ AMATA นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่ให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน อย่าง EASTW
โดยภาพรวมวัฎจักรดอกเบี้ยสหรัฐที่เข้าสู่ขาลง และความกังวลจากสงครามการค้าที่ร้อนแรงขึ้น ทำให้ Fund Flow ไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัย โดยเฉพาะตราสารหนี้ เห็นได้จาก Bond Yield 10 ปี ของสหรัฐ ล่าสุดปรับลงแรงเหลือ 2.38% เทียบกับ 2.43% ในวันก่อน ต่ำกว่า Bond Yield 10 ปี ของไทยที่ 2.46% ส่งผลให้ Fund Flow มีแนวโน้มย้ายออกจากสหรัฐ เข้ามายังตราสารหนี้ไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ยอดส่งออกไทย เดือน เม.ย. 2562 หดตัว 2.57% จากปีก่อน (หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) ที่ 1.86 หมื่นล้านเหรียญ (หน่วยบาทหดตัว 1.1% จากปีก่อน) ส่งผลให้การส่งออกงวด 4 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 62 หดตัวเฉลี่ย 1.86% จากปีก่อน เนื่องจากเดือนนี้วันหยุดเยอะ และผลกระทบจากสงครามการค้า เห็นได้จากตลาดส่งออกหลักๆยังชะลอตัว
โดยเฉพาะจีน (อันดับ 1 ราว 12%ของตลาดทั้งหมด) หดตัว 5% (หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6), ยุโรปหดตัว 5.2% (หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 7), ออสเตรเลียหดตัว 2.8% (หดตัวต่อเนื่องเดือนที่ 6) เป็นต้น ยกเว้นสหรัฐ, มาเลเซีย, เวียดนาม, อินเดียที่ขยายตัวได้ดี และพิจารณาสินค้าส่งออก พบว่าสินค้าสำคัญยังหดตัว หลักๆ คือ รถยนต์และส่วนประกอบ (สินค้าส่งออกอันดับ 1 ราว 11.5%) หดตัว 4% คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ หดตัวเป็นเดือนที่ 7 ราว 10.6%, เคมีภัณฑ์หดตัวเดือนที่ 4 ราว 2.8%, แผงวงจรไฟฟ้าหดตัวเดือนที่ 3 ขณะที่นำเข้าในเดือนเดียวกัน หดตัวราว 0.72% (หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2) ที่ 2 หมื่นล้านเหรียญ (หน่วยบาทขยายตัว 0.7% จากปีก่อน) ส่งผลให้การนำเข้างวด 4 เดือนแรกหดตัวเฉลี่ย 1.08% จากปีก่อนทำให้ดุลการค้าเดือน เม.ย. ขาดดุล 1.46 พันล้านเหรียญ
ทั้งนี้ แนวโน้มส่งออกปี 2562 คาดขยายตัว 0.5% ชะลอจาก 6.7% โดยในช่วงที่เหลือของอีก 8 เดือน(พ.ค.-ธ.ค.) หากจะให้โตตามที่คาด มูลค่าส่งออกเฉลี่ยอย่างน้อยควรอยู่ที่ 2.15 หมื่นล้านเหรียญ/เดือน (แต่เฉลี่ย 4 เดือนแรกเฉลี่ย 2 หมื่นล้านเหรียญฯ รายละเอียดดังตาราง) โดยมองว่ามีโอกาสเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากสงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยืดเยื้อ ทำให้การผลักดันการส่งออกเป็นไปได้ยาก เบื้องต้นคาดส่งออกมีโอกาสต่ำกว่าคาดและจะกระทบต่อ GDP Growth โดยอยู่ในช่วงทบทวนประมาณการ
โดยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีโอกาสชะลอตัวจากดังกล่าว เชื่อว่าปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมาจาก การลงทุนภาคเอกชน จากต่างชาติโดยเฉพาะจีนย้ายฐานการผลิตเข้ามาไทย และการบริโภคในประเทศ (C) ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบัน – ใหม่จะเดินหน้ากระตุ้นการบริโภคครัวเรือน เช่น ต่อยอดโครงการบัตรสวัสดิการให้ครอบคลุม, การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 330บาท , มาตรการลดภาษีนิติบุคคล และบุคคลธรรมดาลงอีก 10% ทุกระดับขั้นเป็นผลดีต่อหุ้นในค้าปลีก ROBINS(ราคาเป้าหมาย 70 บาท), BJC(ราคาเป้าหมาย 61 บาท)
อย่างไรก็ตามประเด็นสงครามที่ยืดเยื้อยังกดดันให้ต่างชาติขายหุ้นไทยตลอดทั้งเดือน พ.ค. กว่า 1.28 หมื่นล้านบาท (mtd) และหากพิจารณาหุ้นที่ถูกซื้อขายจากต่างชาติผ่านกระดาน NVDR พบว่า ส่วนใหญ่ต่างชาติเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากหุ้น Global มาเข้าหุ้น Domestic ดังนั้นช่วงที่ตลาดยังมีความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอกสูง การหลบเข้ามาลงทุนในหุ้น Domestic ที่มี Fund Flow คอยสนับสนุนถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีและเหมาะสมในช่วงนี้
เสริมเกราะป้องกันสงครามการค้า ด้วยหุ้น Domestic ปันผลสูง EASTW FPT
ประเด็น Trade War กลับมาร้อนแรงมากขึ้น และกำลังนำไปสู่ Tech War โดยล่าสุดสหรัฐเล็งขึ้นบัญชีดำบริษัทจำหน่ายกล้องวงจรปิดรายใหญ่ของจีน รวมถึงบริษัท ARM ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิออกแบบชิปเซ็ตรายใหญ่ของโลก ออกมาระงับการทำธุรกิจกับ บริษัท Huawei ขณะที่อัตราดอกเบี้ยโลกเริ่มเห็นขาลงชัดเจนขึ้น และกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ลดลงต่ำสุดในรอบสัปดาห์
ส่วนในประเทศคาดหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งการบริโภคในประเทศและการลงทุนภาครัฐ-เอกชน รวมถึงยังมีประเด็นเก็บภาษีในอัตรา 15% จากผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 90 วัน หลังประกาศลงในราชกิจานุเบกษาในวันที่ 22 พ.ค. 62
โดยจากการศึกษาเงินลงทุนกองทุนรวมทั้งหมดในประเทศไทย พบว่า ณ สิ้นปี 2561 มีกองทุนรวมที่ถูกบริหารจาก บลจ.ทั้งหมด 1649 กองทุน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิรวม 5.06 ล้านล้านบาท และเงินลงทุนหลักๆ อยู่ในกองทุนตราสารหนี้มากสุด คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 50% ของเงินลงทุนทั้งหมด หรือมีมูลค่ากว่า 2.51 ล้านล้านบาท แม้ประเด็นนี้จะสร้าง Sentiment เชิงลบให้กับกองทุนตราสารหนี้พอสมควร และน่าจะหนุนให้เม็ดเงินลงทุนถูกโอนถ่ายจากตลาดตราสารหนี้มายังตลาดหุ้นมากขึ้น โดยเฉพาะกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน, อสังหาฯ และหุ้นปันผลสูง
ประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ชี้นำให้หุ้น Domestic ปันผลสูง มีความน่าดึงดูดในการลงทุนมากขึ้น โดยฝ่ายวิจัยฯ ยังชื่นชอบและแนะนำ 2 กลยุทธ์การลงทุน
1. แนะนำลงทุนหุ้น Domestic ปันผลสูง
2. หุ้นนิคมฯที่น่าจะได้ประโยชน์จากประเด็นสงครามการค้าจีน-สหรัฐ เนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐและจีน ส่งผลให้บริษัทมีโอกาสย้ายฐานการผลิตมายังไทยมากขึ้น อีกทั้งยังมีโครงการ EEC ช่วยสนับสนุนสิทธิประโยชน์ รวมถึงมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานรองรับได้หลากหลายอุตสาหกรรม
โดย Top picks เลือก EASTW (ราคาเหมาะสม 13.5 บาท) หุ้นสาธารณูปโภค ปันผลสูงกว่า 4% ต่อปี ระยะสั้นยังได้รับผลบวกจากปรากฏการณ์เอลนีโญ หนุนให้ปริมาณขายน้ำดิบเพิ่มขึ้นต่อในงวดไตรมาส 2/62 และหุ้น Domestic อย่าง FPT (ราคาเหมาะสม 20.3 บาท) มีการขยายฐานธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ขณะที่ฐานกำไรจะขยายตัวโดดเด่นตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 62 จากการร่วมมือกับ Partner ต่างชาติ 2 ราย (Misui Fudosan, บริษัท PBA) คาดหวังการนำ Robot เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่ออัตราค่าบริการและอัตรากำไร รวมถึงแผนขายทรัพย์สินมูลค่าราว 640 ล้านบาท เข้ากอง FTREIT ในไตรมาส 4/62 (ก.ค.-ก.ย. 62) ซึ่งให้ Gross Margin สูงถึง 80% คาดกำไรปี 2562 เป็น 1.25 พันล้านบาท เติบโต 89.6% จากปีก่อน (ยังไม่รวม GOLD) ทั้งนี้เมื่อรวมมูลค่าเพิ่มบนหุ้น GOLD อีก 1.14 บาท จะเพิ่มมูลค่าพื้นฐาน FPT ขึ้นเป็น 21.44 บาท