“วิษณุ” การันตีสถานะ “งูเห่า” ไม่ผิดกฎหมาย! แบะท่า “พปชร.” มีแผนรับมือเสียงปริ่มน้ำแล้ว
“วิษณุ” การันตีสถานะ “งูเห่า” ไม่ผิดกฎหมาย! แบะท่า “พปชร.” มีแผนรับมือเสียงปริ่มน้ำแล้ว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ผลคะแนนในการโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานสภาฯ ที่อาจทำให้มองว่ามีการลงคะแนนให้กับผู้สมัครอีกฝั่งหนึ่ง และมีการใช้เงินจูงใจหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้อาจมีความผิดว่า ตนคงไม่รู้ข้อมูลมากไปกว่าสื่อ แต่ทั้งนี้ ส.ส.สามารถยกมือโหวตในลักษณะสวนทางกับเสียงส่วนใหญ่ของพรรคได้ เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส.
ส่วนการใช้คำว่า “งูเห่า” ในการตัดสินใจยกมือตามเสียงส่วนใหญ่ของพรรค หรือสวนทางกับพรรคนั้น ต้องดูว่ามาจากสาเหตุใด หากเป็นการยกมือให้เพราะการได้รับเงินก็ถือว่าผิด ซึ่งมีกฎหมายระบุในเรื่องนี้ไว้
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การนำชื่อประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาขึ้นทูลเกล้าฯ รัฐสภาจะต้องส่งเรื่องให้กับรัฐบาล เพราะนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการฯ โดยทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เตรียมนำส่งรายชื่อแล้ว ซึ่งคาดว่าคงจะส่งหนังสือมายังรัฐบาลภายในวันนี้ และเมื่อหนังสือมาถึงรัฐบาล นายกรัฐมนตรีก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที
ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวานนี้(26พ.ค.62) มีความกังวลหรือไม่ว่าอาจเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ตนเองไม่ได้ติดตามตลอด เพราะเห็นว่าเป็นการประชุมที่ยืดยาวเกินไป มีเพียงการติดตามเป็นระยะเท่านั้น แต่ไม่รู้สึกแปลกใจเพราะเป็นธรรมดาของการเมือง และหากย้อนไปเมื่อปี 2557 ก็จะเห็นบรรยากาศเช่นนี้ ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทุกคนอาจเห็นว่าเงียบเหงาไป และถือเป็นกลไกปกติทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องของวิชามารหรือเซียนเหยียบเมฆแต่อย่างใด
ทั้งนี้ เข้าใจว่าข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่ใช้อยู่นั้นมีมาตั้งแต่ปี 2551 ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการใช้ไปพลางก่อน และอีกไม่นานก็ต้องตั้งคณะกรรมการ เพื่อยกร่างแก้ไขข้อบังคับที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนเช่น 1-2 วันที่ผ่านมา พร้อมมองว่าเรื่องสถานที่จัดประชุมสภาฯ ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการประชุม เพราะหากเป็นสภาฯ เก่า คงแก้ปัญหาได้และใช้เวลาที่กระชับกว่านี้
ส่วนที่ถูกมองว่าหากคะแนนเสียงปริ่มน้ำเช่นนี้ จะเดินหน้าทำงานโดยเฉพาะออกกฎหมายได้หรือไม่ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะออกมาในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้นผู้ที่จัดตั้งรัฐบาลก็คงต้องพิจารณา และหาทางออกไว้ในทุกๆทาง
ส่วนจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีพรรคการเมืองมาเทียบเชิญตนเข้าร่วมกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอาจจะไปเชิญคนอื่นๆ ก่อนแล้วค่อยมาเชิญตนทีหลัง
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) ยังไม่ใช่การประชุมนัดสุดท้ายของรัฐบาลชุดนี้ เพราะการประชุม ครม.ยังต้องมีตามปกติ เนื่องจากยังไม่ทราบว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นในช่วงใด นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาเรื่องที่เป็นภาระของรัฐบาลนี้และสิ่งที่จะเกี่ยวข้องกับรัฐบาลหน้า ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้สั่งการให้สำนักงบประมาณ เตรียมการเสนอปฏิทินงบประมาณฉบับใหม่ ที่จากเดิม พ.ร.บ.งบประมาณจะต้องเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้วในขณะนี้ แต่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รอรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพิจารณา เพราะอาจมีการปรับแก้ตัวเลข ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยกับสำนักงบประมาณ ได้รับข้อมูลว่า งบประมาณที่ต้องประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค.ของทุกปีนั้น แต่ในปีนี้จะล่าช้าออกไปอีก 2-3 เดือน ซึ่งอาจหมายถึงเดือนม.ค.64 และยังเป็นช่วงที่ต้องจัดทำงบประมาณปี 2564