กลิ่นตุประมูล “พื้นที่พาณิชย์ สุวรรณภูมิ” CPN-MINT ส่อเค้าเป็น 2 มาตรฐาน!?
กลิ่นตุประมูล “พื้นที่พาณิชย์ สุวรรณภูมิ” CPN-MINT ส่อเค้าเป็น 2 มาตรฐาน!?
หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 28 พ.ค.2562 รายงานว่า จากกรณีบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ไม่ผ่านคุณสมบัติการเข้าประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สนามบินสุวรรณภูมิ ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ด้วยเงื่อนไขว่า MINT นำข้อมูลบริษัทลูกมานำเสนอจึงขัดต่อทีโออาร์ เพราะเป็นคนละนิติบุคคลกัน จึงเกิดข้อสงสัยและตั้งข้อสังเกตจากแวดวงการเงินและตลาดทุนว่า การพิจารณาของ AOT ดังกล่าว อาจเกิด 2 มาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติ มีลักษณะโครงสร้างธุรกิจเฉกเช่นเดียวกับ MINT คือต่างมีการลงทุนผ่านบริษัทลูกด้วยกันแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น ข้อมูลที่นำมาเสนอก็คือข้อมูลการทำธุรกิจผ่านบริษัทลูกเช่นเดียวกัน แต่ทำไม MINT ถูกพิจารณาว่าขาดคุณสมบัติ ขณะที่ CPN ถูกชี้ขาดว่าผ่านคุณสมบัติ และที่สำคัญทั้ง 2 บริษัทไม่ได้เข้าประมูลในรูปกิจการร่วมค้า (JV) เฉกเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้จากข้อมูลในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ลักษณะและโครงสร้างธุรกิจของ CPN มีลักษณะเช่นเดียวกับ MINT กล่าวคือ CPN ประกอบธุรกิจพัฒนาและให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ส่งเสริมการประกอบธุรกิจพัฒนาและให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้า เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม ที่พักอาศัยและศูนย์อาหาร
โดย CPN ลงทุนผ่านบริษัทลูกต่าง ๆ เริ่มจากธุรกิจศูนย์อาหาร ผ่านการถือหุ้นบริษัท เซ็นทรัลฟู้ด อเวนิว จำกัด สัดส่วน 99.99% ธุรกิจศูนย์การค้า ผ่านการถือหุ้นบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา พระราม 3 จำกัด สัดส่วน 99.99% บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา เรียลตี้ จำกัด สัดส่วน 99.99% และบริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด สัดส่วน 100%
เช่นเดียวกับ MINT ประกอบธุรกิจผู้ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงแรม รวมถึงโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย โครงการพักผ่อนแบบปันส่วนเวลาและให้เช่าศูนย์การค้าและอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบันเทิงและธุรกิจจัดจำหน่าย
โดย MINT ลงทุนผ่านบริษัทลูกต่าง ๆ เริ่มจากธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านการถือหุ้นบริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟูดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 99.73% ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ศูนย์การค้า ผ่านการถือหุ้นบริษัท รอยัลการ์เด้น พลาซ่า จำกัด สัดส่วน 99% ธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร ผ่านการถือหุ้นบริษัท เจ้าพระยา รีซอร์ท จำกัด สัดส่วน 81.24% และธุรกิจจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ ผ่านการถือหุ้นบริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 91.35%
ขณะที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ประกอบกิจการประมูลเพื่อบริหารจัดการสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุคคล คณะบุคคล และนิติบุคคล มีความแตกต่างจาก 2 บริษัทดังกล่าว
ด้าน นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว และให้ฝ่ายบริหารธุรกิจนำไปพิจารณาอย่างรอบคอบ เบื้องต้นเห็นว่าแม้ว่า MINT เป็นผู้ยื่นข้อเสนอ แต่นำเสนอประสบการณ์บริษัท เดอะไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด ที่เป็นคนละนิติบุคคลนั้น ถือว่ากระทำไม่ได้
โดยทีโออาร์ระบุชัดเจน เว้นแต่ MINT เข้ามาในรูปแบบกิจการร่วมค้า (JV) สามารถนำประสบการณ์รายอื่น ๆ มาใช้ได้ แต่ MINT ไม่ได้เสนอมาในรูปกิจการร่วมค้า ถึงจะระบุว่าเป็นบริษัทที่มีอำนาจควบคุม แต่เป็นคนละนิติบุคคล และหากวันใดที่ขายหุ้นออกไปก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามหาก MINT ไม่ยอมก็คงต้องไปฟ้องศาลฯ
“คนแข่งขันไม่ได้ซื้อซอง คนซื้อซองไม่มีประสบการณ์ เขาไม่ยอมยื่นชื่อ Joint Venture ไม่ใช่ว่าเราไม่เปิดโอกาส เป็นความเข้าใจผิดของเขา” นายนิตินัย กล่าว
ขณะเดียวกัน นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและการตลาด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT ยืนยันว่า AOT จะไม่ทบทวนข้อเรียกร้องของ MINT ที่ขอให้ AOT พิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นใหม่อีกครั้ง ในการยื่นข้อเสนองานให้สิทธิประกอบกิจการบริหารจัดการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจาก MINT ได้ยื่นเอกสารผลงานไม่ตรงตามที่เงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) กำหนด
ทั้งนี้ ตาม TOR กำหนดว่า ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องเป็นผู้ซื้อเอกสารประกวดราคา และต้องใช้ผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอ (ที่ซื้อเอกสาร) หรือผลงานของผู้ร่วมทุน (Join Venture) แต่ MINT มิได้แจ้งรายชื่อ Join Venture และใช้ผลงานบริษัทลูก คือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มายื่นข้อเสนอ ซึ่งบริษัท เดอะ ไมเนอร์ฯ มิได้ซื้อเอกสารประกวดราคา และมิใช่ Join Venture ของ MINT
“ประเด็นคือ MINT เป็นผู้มาซื้อเอกสาร วันที่ชี้แจง MINT มารับฟังและไม่ได้สอบถามประเด็นนี้ แต่เอกสารที่มายื่นกลับเอาผลงานบริษัท เดอะ ไมเนอร์ฯ มายื่น ซึ่งผิด TOR เลย เพราะบริษัทลูกนี้ไม่ได้มาซื้อเอกสารและไม่ได้เป็น Join Venture แม้ MINT จะบอกว่าตัวเองถือหุ้นในบริษัท เดอะ ไมเนอร์ฯ 80-90% แต่เป็นคนละนิติบุคคลกัน และตัว MINT เองก็ไม่ได้มีประสบการณ์ คุณสมบัติตามที่ TOR กำหนดด้วย หากเราทบทวนใหม่ให้มายื่นข้อเสนอได้ ถือว่าเป็นการทำผิด TOR อีก 2 รายที่เขาผ่านคุณสมบัติไปแล้ว เขาคงฟ้อง AOT แน่ เพราะเขาอาจบอกว่าแบบนี้เขาจะเอาผลงานของบริษัทไหนมายื่นก็ได้ ถ้าเขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่” นายวิชัย กล่าว
ทั้งนี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ AOT ทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้เอกชนเข้าใจ ซึ่ง AOT จะส่งหนังสือชี้แจงถึง MINT ภายในวันนี้ (28 พ.ค.)
ขณะที่ วานนี้ (27 พ.ค.) AOT ได้เปิดให้เอกชน 3 ราย ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นในโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มานำเสนอผลงาน (ด้านเทคนิค) คือ 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 2.กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ถือหุ้น 49% บริษัท โฮเต็ล ล็อตเต้ จำกัด ถือหุ้น 49% บริษัท บางกอกแอร์เวย์สโฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 2%
3.บริษัท โรงแรมรอยัล ออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ROH ยื่นข้อเสนอในนามกิจการร่วมค้า ประกอบด้วย ROH ถือหุ้น 36% บริษัท เอ็มไพร์ เอเชีย กรุ๊ป จำกัด ถือหุ้น 15% และ WDFG UK LIMITED (จากประเทศอังกฤษ) ถือหุ้น 49%
ทั้งนี้ AOT ได้รับฟังการนำเสนอผลงาน พร้อมซักถามกรณีมีข้อสงสัยเพื่อให้เอกชนชี้แจง จากนั้น AOT จะให้คะแนน โดยด้านเทคนิคมีคะแนนที่ 80 คะแนน และวันที่ 31 พ.ค.นี้ เวลา 09.00 น. AOT จะเชิญเอกชนทั้ง 3 รายมาเปิดข้อเสนอด้านการเงิน (20 คะแนน) และนำคะแนนเทคนิคมารวมกับการเงิน หากรายใดได้คะแนนสูงสุด AOT จะเจรจากับรายดังกล่าว ถ้าเจรจาไม่ได้ก็จะเจรจากับรายที่มีคะแนนรองลงมาทันที
โดยหลังจากนั้นจะนำผลประกวดราคาเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณารายได้ ก่อนเสนอคณะกรรมการ AOT วันที่ 19 มิ.ย. 2562 จึงจะสามารถประกาศผู้ชนะการประกวดราคาโครงการจำหน่ายสินค้าดิวตี้ฟรีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้
ส่วนงานกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น มีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ เบื้องต้น 2 ราย คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN ซึ่ง AOT กำหนดให้ทั้ง 2 ราย มานำเสนอผลงานวันที่ 29 พ.ค. 2562 และวันที่ 31 พ.ค. 2562 จะเปิดซองข้อเสนอการเงิน พร้อมประกาศผลผู้ได้คะแนนสูงสุดและทำการเจรจา โดยมีเป้าหมายนำเสนอผลการประกวดราคาต่อบอร์ด AOT วันที่ 19 มิ.ย.นี้เช่นกัน
ขณะที่ นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลางและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เปิดเผยว่า กรณีเจ้าหน้าที่ AOT ปฏิเสธไม่รับข้อเสนอของบริษัท (โดยไม่ได้ยืนยันเป็นหนังสือให้แก่บริษัท) ซึ่งให้เหตุผลว่า บริษัทขาดประสบการณ์ตามทีโออาร์ บริษัทได้ชี้แจงและไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินและยืนยันมีคุณสมบัติครบถ้วน
ส่วนประเด็นที่บริษัทนำผลงานของบริษัทย่อยมานำเสนอนั้น บริษัทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีคณะกรรมการบริหารที่มีอำนาจโดยตรง ในการบริหารควบคุม ตรวจสอบ จัดการ และกำหนดทิศทางกลยุทธ์ให้กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อยเหล่านี้ และมีอำนาจดำเนินการของธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจร้านจำหน่าย ธุรกิจศูนย์การค้าโดยตรงจากบริษัทเอง ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งหมด และมีคุณสมบัติครบถ้วนเช่นกัน