พาราสาวะถีอรชุน

คงทำได้แค่ดีใจแบบเล็กๆ สำหรับกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มวลหมู่สมาชิก 14 คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากคำสั่งของศาลทหารเมื่อวันวาน โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ พร้อมๆ กับการที่ศาลไม่อนุญาตให้มีการฝากขังเป็นผัดที่สองตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวน ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย


คงทำได้แค่ดีใจแบบเล็กๆ สำหรับกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ที่มวลหมู่สมาชิก 14 คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากคำสั่งของศาลทหารเมื่อวันวาน โดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ พร้อมๆ กับการที่ศาลไม่อนุญาตให้มีการฝากขังเป็นผัดที่สองตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวน ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม สุณัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมน ไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย กลับมองว่า การมีคำสั่งไม่ฝากขังนักศึกษาต่อ ถือเป็นแค่การสร้างภาพ เพื่อเป็นการลดแรงกดดันภายในประเทศและนอกประเทศเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว นักศึกษาทั้งหมดยังต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหารต่อไป โดยเฉพาะข้อหาร้ายแรงที่มีโทษสูงสุดคือการจำคุก 7 ปี

ขณะเดียวกันผู้ถูกดำเนินคดีไม่ได้มีเพียงแค่นักศึกษา 14 คนเท่านั้น แต่ได้มีการดำเนินคดีผู้ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มนักศึกษาเพิ่มอีก 1 คน นั่นก็คือ บารมี ไตรรัตน์ จากกลุ่มสมัชชาคนจน สรุปได้ว่า บรรยากาศปิดกั้นลิดรอนสิทธิ เสรีภาพและปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่างยังไม่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการสร้างภาพเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากแรงกดดันเพียงเท่านั้น

ไม่เพียงเท่านั้น สุณัยยังมองต่อไปว่า ท่าทีของรัฐบาลไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเนื้อแท้ และยังมองว่าความเห็นที่แตกต่างคืออาชญากรรม และการแสดงออกทางการเมืองเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ สิ่งที่ฮิวแมน ไรท์วอทซ์ ยังเรียกร้องคือต้องการให้ข้อกล่าวหาในการดำเนินคดีทั้งหมดของนักศึกษาเหล่านี้และการดำเนินคดีต่อบุคคลอื่นๆ ที่เห็นต่างจากรัฐบาลนั้นยุติลงโดยไม่มีเงื่อนไขในทันที จึงจะเป็นการบรรลุผลอย่างแท้จริงในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ

ดูเหมือนว่าความเห็นดังกล่าวจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง เพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่า ขอให้นักศึกษานำสิ่งที่ศาลได้เมตตาไปคิดว่าจะทำผิดอีกหรือไม่ เพราะหลักการของกฎหมายต้องมีการหลาบจำและยอมรับความผิด โดยย้ำด้วยว่ากฎหมายที่รัฐบาลออกมาทุกฉบับ ทั้งกฎหมายมาตรา 44 ปฏิบัติตามหลักการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งในช่วงเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะเสียสละเพื่อใคร จึงอยากให้นักศึกษารอเวลาการเลือกตั้งและประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นตามโรดแม็พ

ขณะที่ความพยายามที่จะทำให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เมื่อ พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกสปช.ออกมาปูดข้อมูลว่า มีองค์กรในต่างประเทศให้การหนุนหลังกลุ่มนักศึกษา โดยอ้างข้อมูลจากผู้ปกครองรายหนึ่งในกลุ่มนักศึกษา 14 คน อย่างที่บอก ทุกข้อกล่าวหาจะต้องแสดงหลักฐานให้ชัดเจน จะได้ไม่ถูกมองว่าเป็นการพูดกันแบบชุ่ยๆ

 ทั้งนี้ หากจะมองคำสั่งที่ออกมาของศาลทหาร ส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคงเป็นคำร้องที่ยื่นต่อศาลของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษาและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งยกหลักการของข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 มาหักล้างอำนาจตามมาตรา 44 ได้อย่างน่าสนใจ ไม่เสียชื่อนักวิชาการด้านกฎหมายชั้นนำจริงๆ

 สิ่งที่ปริญญายกมาอธิบายต่อศาลก็คือ เหตุผลของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ขอฝากขังโดยเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีนั้น พฤติกรรมที่ผ่านมาของทั้ง 14 คน ไม่ปรากฏว่าจะมีการหลบหนีแต่อย่างใด การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอฝากขังจึงเป็นเรื่องความสะดวกในการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่มากกว่า แต่เป็นสิ่งที่ไปกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาทั้ง 14 คนมากเกินไปโดยไม่จำเป็น

ประการต่อมาคือ ตามหลักนิติรัฐหรือหลักนิติธรรมนั้น ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนเป็นแต่เพียงผู้ถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ การเอาตัวไปฝากขังไว้ในเรือนจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยที่ยังไม่มีการส่งฟ้องต่อศาลคือยังไม่เป็นจำเลยด้วยซ้ำไป จึงเป็นเรื่องที่กระทบต่อความเป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรม

ถึงแม้ว่าคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่าฝ่าฝืนนั้น จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แต่มาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 3 บัญญัติให้ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย

อีกทั้งมาตรา 4 ยังบัญญัติไว้อีกว่า ภายใต้บังคับแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

การแสดงออกซึ่งความเห็นที่แตกต่างไปจากรัฐบาลเป็นสิทธิ เสรีภาพที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญมาทุกฉบับ และการได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีโดยไม่ถูกกักขังระหว่างการพิจารณาก็เป็นสิทธิตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้เป็นภาคีอยู่ด้วย การใช้และการตีความมาตรา 44 จึงต้องคำนึงถึงมาตรา 2 มาตรา 3 และมาตรา 4 ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนจึงยังเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ควรได้รับสิทธิในการต่อสู้คดีโดยไม่ต้องถูกขังในระหว่างการดำเนินคดี

                ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะมองหรือรู้สึกอย่างไรต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา แต่ถามว่าคนเหล่านี้เป็นภัยกับความมั่นคงหรือเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่ คำตอบคือไม่มี ที่น่าห่วงมากกว่าคงเป็นกลุ่มที่ออกมาหลับหูหลับตาเชียร์คณะรัฐประหาร การมอบช่อดอกไม้หรือไปยื่นหนังสือให้กำลังใจคงไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

                แต่ประเภทที่ไปปักหลัก ยั่วยุกลุ่มนักศึกษาที่จัดกิจกรรม ถามว่าฝ่ายความมั่นคงของคสช.ไม่รู้บ้างหรือ แล้วปล่อยให้เกิดการเผชิญหน้าได้อย่างไร หากเป็นยุคสมัยของนักการเมืองก็คงจะพูดกันไปแล้วว่า เป็นการอาศัยสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อให้ตัวเองได้อยู่ในอำนาจต่อไป บนความเชื่อใจบิ๊กตู่จึงคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น หากไม่อยากได้ชื่อว่าเป็นผู้นำมือเปื้อนเลือด ก็ไปสะกิดบอกพวกสอพลอเสียว่า อย่าทำอย่างนี้พี่ไม่ชอบ 

Back to top button