สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 พ.ค. 2562
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 28 พ.ค. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (28 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่า สหรัฐยังไม่พร้อมที่จะทำข้อตกลงการค้ากับจีน โดยความกังวลในเรื่องดังกล่าวได้ฉุดหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มเทคโนโลยีซึ่งมีความอ่อนไหวต่อประเด็นการค้าระหว่างประเทศ
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 25,347.77 จุด ร่วงลง 237.92 จุด หรือ -0.93% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,802.39 จุด ลดลง 23.67 จุด หรือ-0.84% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,607.35 จุด ลดลง 29.66 จุด หรือ -0.39%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเมื่อคืนนี้ (28 พ.ค.) โดยหุ้นกลุ่มธนาคารร่วงลงจากความวิตกเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อิตาลีจะถูกปรับ เนื่องจากมีระดับหนี้ และยอดขาดดุลงบประมาณสูงเกินกำหนด และนักลงทุนก็ยังคงติดตามสถานการณ์การค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ขณะที่การเดินทางเยือนญี่ปุ่นของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐเสร็จสิ้นแล้วเมื่อวานนี้
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลบ 0.22% ปิดที่ 375.90 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,312.69 จุด ลดลง 23.50 จุด หรือ -0.44% ขณะที่ ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 12,027.05 จุด ลดลง 44.13 จุด หรือ -0.37%และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,268.95 จุด ลดลง 8.78 จุด หรือ -0.12%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (28 พ.ค.) นำโดยหุ้นกลุ่มบริษัทผลิตบุหรี่หลังรายงานยอดขายลดลง ขณะที่หุ้นกลุ่มเวชภัณฑ์ขนาดใหญ่ปรับตัวลง ซึ่งส่งผลกดดันตลาดด้วย นอกจากนี้ นักลงทุนยังกังวลกับความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐและจีน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ระบุว่า สหรัฐยังไม่พร้อมที่จะทำข้อตกลงกับจีน
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,268.95 จุด ลดลง 8.78 จุด หรือ -0.12%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ (28 พ.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อุปทานน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในภาวะตึงตัว ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในวันพรุ่งนี้ รวมทั้งการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนหน้า
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 51 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 59.14 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 1.42 ดอลลาร์ ปิดที่ 70.11 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (28 พ.ค.) เนื่องจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ได้สร้างแรงกดดันต่อตลาดทองคำ โดยดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ หลังจากผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.ของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 6.5 ดอลลาร์ หรือ 0.51% ปิดที่ 1,277.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 23.5 เซนต์ หรือ 1.61% ปิดที่ 14.32 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. ลดลง 5.8 ดอลลาร์ หรือ 0.72% ปิดที่ 797.1 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 13.80 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,339.50 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (28 พ.ค.) หลังจากผลสำรวจของ Conference Board ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค.ของสหรัฐพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงจากรายงานข่าวที่ว่า สหภาพยุโรป (EU) อาจสั่งปรับอิตาลี เนื่องจากมีระดับหนี้สินและยอดขาดดุลงบประมาณสูงเกินกำหนด
ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1165 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1190 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.2655 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2679 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นแตะที่ระดับ 0.6922 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6915 ดอลลาร์สหรัฐ
ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 1.0079 ฟรังก์ จากระดับ 1.0039 ฟรังก์ และแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3490 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3444 ดอลลาร์แคนาดา แต่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 109.47 เยน จากระดับ 109.53 เยน