กรีก กับ ประชานิยมพลวัต2015

รัฐมนตรีคลัง สมหมาย ภาษี มีข้อสรุปที่เรียบง่ายว่า วิกฤตเศรษฐกิจกรีซ เป็นต้นแบบของหายนะจากนโยบายเศรษฐกิจประชานิยม ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวถือว่า ผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะโดยข้อเท็จจริงนั้น เศรษฐกิจกรีซล่มสลายเพราะนโยบายรัฐสวัสดิการตะหาก


รัฐมนตรีคลัง สมหมาย ภาษี มีข้อสรุปที่เรียบง่ายว่า วิกฤตเศรษฐกิจกรีซ เป็นต้นแบบของหายนะจากนโยบายเศรษฐกิจประชานิยม ซึ่งข้อสรุปดังกล่าวถือว่า ผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะโดยข้อเท็จจริงนั้น เศรษฐกิจกรีซล่มสลายเพราะนโยบายรัฐสวัสดิการตะหาก

ข้อสรุปที่ผิดพลาดของรัฐมนตรีคลังดังกล่าว ไม่น่าจะเกิดจากสติปัญญาของรัฐมนตรีเอง แต่น่าจะมาจากอคติส่วนตัวเป็นปฐม ที่ทำให้เกิดความโน้มเอียงเช่นนั้น

 รัฐบาลกรีซโดยเฉพาะพรรคสังคมนิยมที่ครองอำนาจมายาวนานในยุคประชาธิปไตยของกรีซหลังสงครามโลก ไม่เคยใช้นโยบายประชานิยมแต่นำเอาอุดมการณ์แบบสังคมนิยมและรัฐสวัสดิการมาใช้ออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จนกลายเป็นภาระทางการคลังที่ปะทุเมื่อ 5 ปีก่อน แล้วลุกลามมาจนถึงปัจจุบัน

โดยพื้นฐานปรัชญาของแนวทางประชานิยมกับรัฐสวัสดิการนั้น แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ประชานิยม มาจากคำว่า populism หมายถึงแนวทางนโยบายรัฐ ที่แยกเอาการแบ่งประชาชนออกเป็น 2 กลุ่มง่ายๆ ว่าเป็นพวก “ประชาคมรากหญ้า” กับ “อภิชน” ตามความเหลื่อมล้ำทางสังคม จากนั้นก็กำหนดนโยบายรัฐเมื่อมุ่งสนองความต้องการพื้นฐานของคนกลุ่มแรก ซึ่งนำมาสู่แรงกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบสังคมและการเมืองที่เปิดช่องให้คนระดับล่างของสังคมมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น

พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย นับแต่ยุโรป จนถึงอเมริกา มักจะชูนโยบายนี้ขึ้นมาเพื่อสร้างคะแนนนิยม แต่ที่โดดเด่นอย่างมากคือ ชาติในละตินอเมริกา ที่ผู้นำทั้งประชาธิปไตย ฝ่ายซ้าย และเผด็จการทหารขวาจัด กลับเลือกเอาแนวทางนี้มาใช้สร้างคะแนนนิยมกับคนระดับรากหญ้า พร้อมกับฉกฉวยโอกาสสร้างความมั่งคั่งส่วนตัวพร้อมไปด้วย

ตัวอย่างของผู้นำชาติละตินอเมริกาที่ใช้แนวทางประชานิยม นับแต่ฮวน เปรอง ของอาร์เจนตินา จนถึง ฮูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา ที่สร้างผลพวงให้เศรษฐกิจหายนะต่อมา ทำให้ภาพลักษณ์ของประชานิยมเลวร้าย และถูกนำไปเป็นวาทกรรมการเมืองกล่าวหากลุ่มการเมือง ที่สร้างกรอบนโยบายดึงดูดใจประชากรส่วนใหญ่ ว่าเป็นพวกไม่คำนึงถึงวินัยทางการเงินและการคลัง ทั้งที่ตัวอย่างที่ดีของประชานิยมมีมากมาย เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ประชานิยมในยามเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น คูปองอาหาร (Food Stamps) หรืออื่นๆ ต่อเนื่อง

ส่วนรัฐสวัสดิการนั้น เริ่มต้นโดยกลุ่มนักคิดเชิงสังคมยึดเอามโนทัศน์การปกครองซึ่งรัฐมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพลเมือง มุ่งกระจายความมั่งคั่งอย่างชอบธรรม และรับผิดชอบต่อผู้ที่ไม่สามารถจัดหาสิ่งจำเป็นขั้นต่ำได้ ด้วยการถ่ายโอนความมั่งคั่งจากคนรวย ผ่านการเก็บภาษีเข้ารัฐ แล้วกระจายกลับวงกว้างในรูปบริการสาธารณะ เช่น สาธารณสุข การศึกษา ขนส่งมวลชน หรือสู่ปัจเจกบุคคลโดยตรง เช่น ประกันสังคม

จุดเด่นของรัฐสวัสดิการ อยู่ที่กลไกการจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าที่สูงกว่าระดับปกติทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งช่วยลดช่องว่างรายได้ ทำให้ผู้ที่อ่อนแอในสังคมได้มีส่วนใช้สิทธิในความมั่งคั่งของส่วนรวม แต่มีจุดอ่อนสำคัญคือ สร้างนิสัยให้พลเมืองบางส่วนของประเทศมีจิตวิทยาแบบ “แมวอ้วน” เปิดช่องสำหรับนิสัย “ตีตั๋วฟรี” หาประโยชน์จากความเหนื่อยยากของคนที่ทำงานหนัก ส่งผลให้คนที่ทำงานเกิดความท้อแท้ ลดทอนสำนึกร่วมต่อคนในชาติ กลายเป็นปัญหา “เจตนาดี ประสงค์ร้าย” ตามมา ทำให้คนที่ร่ำรวย ต้องไปถือสัญชาติประเทศอื่นๆ ที่ภาษีต่ำกว่าแทน

ประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองของกรีซ ซึ่งผู้คนชื่นชมแนวทางสังคมนิยมลึกซึ้ง เพราะนักสังคมนิยมกรีซเป็นกลุ่มจัดตั้งหลักที่มีบทบาทสูงในการสร้างจิตสำนึกชาตินิยม และต่อสู้กับเผด็จการทหารมายาวนาน ทำให้พรรคสังคมนิยมที่ครองอำนานติดต่อกัน โอนกิจการขนาดใหญ่ของเอกชนมาเป็นของรัฐเกือบหมด ส่งผลให้จำนวนเจ้าหน้าที่รัฐในสังคมกรีกมีสัดส่วนสูงมากกว่า 1.2 ล้านคน เทียบกับประชากร 11 ล้านคน

รัฐบาลกรีซไม่เคยมีนโยบายประชานิยม มีแต่นโยบายรัฐสวัสดิการที่เอาใจพนักงานของรัฐอย่างจริงจัง ท่ามกลางความอ่อนแอของหน่วยงานรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ ทำให้เงินค่าใช้จ่ายเฉพาะบำนาญแต่ละปีของประเทศ มีสัดส่วนมากถึง 16% ของจีดีพี โดยที่อัตราถัวเฉลี่ยของเงินบำนาญเท่ากับ 96% ของเงินเดือนสุดท้ายของพนักงานรัฐแต่ละคน

ภาระที่รัฐบาลกรีซแบกไว้จากรัฐสวัสดิการจนหลังแอ่น เกิดขึ้นก่อนเข้าเป็นสมาชิกยูโรโซนแล้ว โดยรัฐบาลต้องแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง ด้วยการออกพันธบัตรเงินกู้จากต่างประเทศ แล้วทำการตบแต่งบัญชีให้สวยหรูเกินจริง ด้วยความร่วมมือของบริษัทบัญชีระดับโลกบางแห่ง เพื่อให้ดูหนี้สาธารณะต่ำเกินจริง

การตบแต่งบัญชี ทำให้รัฐบาลกรีซกดตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของตัวเองให้อยู่ในระดับต่ำ จนมีคุณสมบัติเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและยูโรโซนได้ ในปี ค.ศ. 2001 โดยที่ช่วงแรกของการเป็นสมาชิก กรีซมีอัตราการเจริญเติบโตระดับหัวแถวของสหภาพยุโรป เฉลี่ยปีละ 4% สูงกว่าค่าเฉลี่ยเพียงแค่ปีละ 1.9% เท่านั้น 

อัตราการเติบโตที่สวยหรู ทำให้พนักงานรัฐทั้งหลายที่มีสหภาพแรงงานสังกัด ฉกฉวยโอกาสเร่งกดดันรัฐบาลให้เพิ่มรัฐสวัสดิการ จนทำให้กรีซขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง เฉลี่ยปีละถึง 12.7% มากกว่า 4 เท่าของข้อตกลงสนธิสัญญามาสทริชท์ และมีหนี้สิน 150% ของจีดีพี เป็นปัญหา “ดินพอกหางหมู” เรื้อรัง จนยากจะแก้ไข

การยอมรับสภาพหนี้ 2.7 แสนล้านยูโรของรัฐบาลกรีซกับเจ้าหนี้ที่เรียกว่า ทรอยก้า เมื่อ 4 ปีก่อน เป็นการสื่อสารด้านกระบวนทัศน์ที่ผิดพลาด เพราะเจ้าหนี้ทรอยก้าเชื่อว่าจะสามารถทำให้กรีซหันมาเดินแนวทางทุนนิยมตามที่กำหนดเอาไว้ของยูโรโซนได้ ในขณะที่รัฐบาลกรีซและคนกรีกกลับคิดอีกแบบหนึ่ง

ปัญหาหนี้สินของกรีซยุ่งยากดังที่เห็นกันอยู่ มาจากรากฐานรัฐสวัสดิการที่หลงทางจนกู่ไม่กลับ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับประชานิยมแม้แต่น้อย

การกล่าวหาแบบพล่อยๆ ว่า เศรษฐกิจกรีซล่มสลาย เพราะประชานิยม จึงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยปัญญาแม้แต่น้อย และทำให้คนจำนวนไม่น้อยหลงทางจาก “โกหกคำโต” ได้ง่าย

Back to top button