“กสิกรไทย” ลุ้นหุ้นไทย Q3 ทะลุ 1,680 จุด รับรัฐบาลใหม่อัดนโยบายกระตุ้นศก.
“กสิกรไทย” ลุ้นหุ้นไทย Q3 ทะลุ 1,680 จุด รับรัฐบาลใหม่อัดนโยบายกระตุ้นศก.-ปลดล็อกเงินต่างชาติไหลเข้า
นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า จากกรณีการประชุมรัฐสภาวานนี้ (5 มิ.ย.) หนึ่งในวาระที่สำคัญคือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในเบื้องต้นเชื่อว่ากระบวนการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะสามารถดำเนินการได้ตามคาด และน่าจะเห็นความชัดเจนโฉมหน้าคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดใหม่ได้ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกระยะสั้นที่สำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ทำให้มองว่า SET INDEX มีโอกาสปรับขึ้นทะลุ 1,680 จุดภายในไตรมาส 3/62
อย่างไรก็ตาม ถ้าการเจรจาประเด็นความขัดแย้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนออกมาในทิศทางเชิงบวกในเวทีซัมมิต G20 ซึ่งจะจัดขึ้นวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้ ณ ประเทศญี่ปุ่น มีความเป็นไปได้ที่ SET INDEX จะปรับขึ้นไปทดสอบเป้าหมายล่วงหน้า 12 เดือนที่ระดับ 1,722 จุดภายในไตรมาส 3/62 เช่นเดียวกัน
“ประเด็นความขัดแย้งสงครามการค้าสหรัฐฯและจีน เชื่อว่าผลเจรจาจะออกมาในทิศทางเป็นบวก เพราะในฝั่งสหรัฐฯเริ่มมีความกังวลถึงผลกระทบเศรษฐกิจในระยะถัดไป หากยกระดับความรุนแรงมาตรการภาษีเพิ่มขึ้น ฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าถ้าสหรัฐฯยังใช้มาตรการภาษี 25% ในวงเงิน 2.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อไปถึงสิ้นปีนี้ มีโอกาสจีดีพีไทยจะต้องถูกปรับลดประมาณการลงเหลือ 3.1% จากปัจจุบันประเมินไว้ที่ 3.4% เพราะส่งออกจะเหลือไม่เติบโตเลย และมีกรณีเลวร้ายที่สุดคือสหรัฐฯยกระดับขึ้นภาษีวงเงินที่เหลืออีก 3 แสนล้านดอลลาร์ จีดีพีไทยจะลดลงเหลือ 2.6% ตามการส่งออกที่หดตัว 2% แต่เชื่อว่าทั้ง 2 กรณีไม่น่าจะเกิดขึ้น แม้ว่าจะเป็นความเสี่ยง แต่ปัจจุบันเรายังมองว่าผลเจรจาน่าจะออกมาในทิศทางที่ดี”นายสุนทร กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว มองว่าในช่วง 2-3 เดือนจะทยอยออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศรอบใหม่ อาทิ นโยบายเพิ่มรายได้ภาคครัวเรือน ด้วยการเข้าไปดูแลราคาสินค้าเกษตรประเภท ยางพารา,ปาล์ม,และข้าว เป็นต้น นอกจากนั้น คาดจะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยอาจจะเพิ่มสิทธิประโยชน์เข้าไปใช้จ่ายในร้านสะดวกซื้อ 7-11 เพิ่มเติม ปัจจุบันประเมินว่ารัฐบาลยังมีงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาทที่คอยใช้อัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป ขณะที่ศักยภาพรัฐบาลยังสามารถกู้เงินได้เพิ่ม เนื่องจากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ระดับกว่า 40% ต่ำกว่าเพดานที่กำหนดที่ระดับ 60% ต่อจีดีพี
นักวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวอีกว่า รัฐบาลใหม่น่าจะทยอยอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท คาดเห็นความชัดเจนในช่วง 6 เดือน โดยโครงการส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานประเทศ
ส่วนด้านการค้าระหว่างประเทศ น่าจะเห็นการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับฝั่งประเทศแถบยุโรป ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าทะเลของไทย แข่งขันได้ดีจากการปลดล็อกเรื่องภาษี และในเชิงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละกว่า 400 บาท เชื่อว่าจะเห็นการปรับขึ้นเป็นขั้นบันได เพราะการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ มีความแตกต่างจากรอบที่แล้ว ที่มีการชดเชยให้กับเอกชนด้วยการลดภาษีนิติบุคคล ทำให้อาจมีความกังวลบ้างเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเอกชนในระยะสั้น
ด้านนโยบายในฝั่งตลาดทุน ปัจจุบันนโยบายการลดหย่อนภาษีสำหรับกองทนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) จะหมดอายุในสิ้นปีนี้ คาดว่ารัฐบาลชุดใหม่น่าจะต้องอนุมัติให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ เพราะต้องมีกระบวนการตั้งกองทุนรูปแบบใหม่ ซึ่งมองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเม็ดเงินไหลเข้าหุ้นไทยเพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้ด้วย
สำหรับแนวโน้มเงินลงทุนจากต่างชาติ คาดว่ามีโอกาสไหลเข้าตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นในครึ่งปีหลัง แม้ว่าจะเป็นสัดส่วนไม่สูงนัก เพราะอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนไทย ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศในตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่มี Valuation ที่ต่ำน่าสนใจลงทุน ,เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ มีทุนสำรองสูง ,ทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า แต่ยังมีเสถียรภาพ ตามนโยบายผ่อนคลายนโยบายดอกเบี้ยในฝั่งสหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า เป็นประโยชน์กับตลาดทุนในตลาดเกิดใหม่
“นอกเหนือจากปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจไทยที่มีเสถียรภาพแล้ว การได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้กองทุนต่างชาติหลายรายที่เป็นประเภท Active Fund ที่มีข้อจำกัดเงื่อนไข สามารถเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมากองทุนต่างชาติส่วนมากที่เข้ามาลงทุนเป็นประเภท Passive Fund ที่เพิ่มน้ำหนักตามการเคลื่อนไหวของดัชนีฯ”นายสุนทร กล่าว
ด้านกลยุทธ์การลงทุนในระยะสั้นทยอยซื้อสะสม เพื่อไปรอขายทำกำไรในช่วงดัชนีขึ้นไปแถว 1,680 จุด โดยแนะนำ 8 ธีมหลัก ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก ได้แก่ CPALL,HMPRO กลุ่มสินค้าเกษตร ได้แก่ CPF กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ได้แก่ CK,STEC กลุ่มปิโตรเครมี ได้แก่ SCC กลุ่มธนาคาร ได้แก่ BBL,SCB กลุ่มกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ TFFIF กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ AMATA และกลุ่มไอซีที ได้แก่ TRUE
ด้านธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทสิ้นปี 62 จากเดิมที่ 33.0 มาอยู่ที่ 31 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยสำคัญต่อทิศทางเงินบาท ได้แก่
1.นโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นและยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และกดดันให้ความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ลดลง โดยสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มแรงกดดันทางการค้ากับประเทศอื่นๆ ต่อเนื่อง เพื่อลดการขาดดุลทางการค้า ทั้งจากมาตรการภาษีที่ทำให้การนำเข้าลดลง เพิ่มช่องทางในการส่งออกสินค้าไปประเทศต่างๆ รวมทั้งการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐฯ ไม่ให้ประเทศที่กำลังเร่งการเติบโตมาเป็นคู่แข่งของสหรัฐฯ อย่างจีนละเมิดได้ โดยเป็นเป้าหมายที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ยังต้องบรรลุเพื่อให้ได้คะแนนนิยมจากชาวอเมริกันเพื่อให้ตนได้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นสมัยที่สอง
ประเด็นการค้าในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ตลาดเข้าสู่ภาวะกลัวความเสี่ยง ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ค่าเงินสกุลค่าเงินเยน และฟรังก์สวิส แข็งค่าขึ้นมาก โดยการกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ รุนแรง จากความเชื่อมโยงทางห่วงโซ่การผลิตกับเม็กซิโกในระดับสูงด้านการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มที่จะรุนแรงต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ ยังข่มขู่ที่จะขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าเกือบทั้งหมดจากจีน และห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ค้าขายกับบริษัทหัวเว่ย โดยจีนได้เริ่มใช้มาตรการตอบโต้ทั้งมาตรการภาษีและมาตรการอื่น ๆ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังมีแผนจะเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่มีการเกินดุลกับสหรัฐฯ เช่น อินเดีย ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ ได้ประกาศยุติสิทธิพิเศษด้านภาษีที่เคยให้กับอินเดีย รวมทั้งแผนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า กลุ่มยานยนต์ จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างเยอรมนี ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
2.ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดช่องให้มีการลดดอกเบี้ยนโยบาย กดดันให้ดอลลาร์อ่อนค่า ที่ผ่านมาตลาดกังวลว่าสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระยะอันใกล้ สะท้อนจากส่วนต่างดอกเบี้ยระยะ 2 ปีที่สูงกว่าระยะ 5 ปี มาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้ตลาดมองว่าเฟดอาจจำเป็นต้องหันมาลดดอกเบี้ยนโยบายลงปีนี้ โดยนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดเริ่มหันมาเปิดช่องให้สามารถสนับสนุนการลดดอกเบี้ย และมีสมาชิกเฟดอีกหลายรายออกมาสนับสนุนการลดดอกเบี้ย โดยตลาดเพิ่มโอกาสต่อการลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในเดือนกันยายนมาอยู่ที่ 92.8% และตลาดคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในปีนี้ คือในเดือนกันยายนและธันวาคม ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า
3.เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลง จากความรุนแรงของสงครามการค้า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 จะยังขยายตัวสูงและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ (ISM) กลับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 สะท้อนภาพการผลิตที่อ่อนแอลงหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศใช้ภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีน อีกทั้งแรงกดดันต่อเงินเฟ้อที่สำคัญ อย่างค่าจ้างแรงงานก็ชะลอลงมาก ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจากการใช้จ่ายเอกชน (Core PCE inflation) ลดลงต่ำกว่าเป้าหมายของเฟดที่ 2.0%