พาราสาวะถี
น่าจะเป็นพรรคสุดท้ายที่ต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อทำให้ทุกอย่างโปร่งใส กับโควตา 7 รัฐมนตรี 8 ตำแหน่งของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาใช้เวลาร่วม 10 ชั่วโมงในการถกเพื่อให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค แน่นอนว่า เป็นการปะทะกันทางความคิดระหว่างฟากฝ่ายของหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันกับทีมงานของอดีตหัวหน้าพรรคกับฝั่งของกปปส. แต่สุดท้ายไม่มีอะไรในกอไผ่ทุกอย่างลงตัวด้วยมติพรรค
อรชุน
น่าจะเป็นพรรคสุดท้ายที่ต้องประกอบพิธีกรรมเพื่อทำให้ทุกอย่างโปร่งใส กับโควตา 7 รัฐมนตรี 8 ตำแหน่งของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาใช้เวลาร่วม 10 ชั่วโมงในการถกเพื่อให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรค แน่นอนว่า เป็นการปะทะกันทางความคิดระหว่างฟากฝ่ายของหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันกับทีมงานของอดีตหัวหน้าพรรคกับฝั่งของกปปส. แต่สุดท้ายไม่มีอะไรในกอไผ่ทุกอย่างลงตัวด้วยมติพรรค
โดย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นั่งควบรองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่เก้าอี้ว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คงต้องลุ้นกันว่าสลับได้หรือไม่ เมื่อมีส.ส.ซึ่งรวมถึงคนที่ได้ตำแหน่งร่วมลงชื่อกันขอสลับเก้าอี้ โดย นิพนธ์ บุญญามณี ที่ถูกวางให้เป็นว่าการขอสลับกับ จุติ ไกรฤกษ์ ที่พรรคเสนอให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อพิจารณาจากมิติทางการเมืองคงไม่มีปัญหาใด ๆ
ขณะที่อีก 3 เก้าอี้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือพลิกโผไปจากที่คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า ถาวร เสนเนียม เป็นรมช.คมนาคม คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช เป็นรมช.ศึกษาธิการและ สาธิต ปิตุเตชะ เป็นรมช.สาธารณสุข มองอย่างรอบด้านนี่คือการจัดสรรโควตารายภาคได้ดีในระดับหนึ่ง แม้จะมีเสียงทักท้วงจากส.ส.สายใต้ว่า น่าจะหายไป 1 เก้าอี้ก็ตาม เพราะความจำเป็นเวลานี้อยู่ที่การเข้าไปทำให้นโยบายที่ขายฝันไว้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด
พร้อม ๆ กับการกอบกู้วิกฤตศรัทธาที่เกิดขึ้นกับพรรค แรงกระเพื่อมหากพิจารณาจากเสียงทักท้วงที่ตามมาน่าจะไม่มี เพราะสไตล์พรรคเก่าแก่เมื่อมีมติแล้วทุกอย่างเป็นอันยุติ อย่างที่บอก พรรคที่ดูท่าว่าจะมีปัญหาภายในมากกว่าใครพวกคือพรรคแกนนำรัฐบาลนั่นแหละ ล่าสุด เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค อดีตคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ผู้ซึ่งเป็นทั้งแม่ทัพวางแผนสู้รบทุกรูปแบบในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคอีสาน
จนนำมาซึ่งบทสรุปการเลือกตั้งที่พรรคได้ส.ส.เขต 5 คน ทำคะแนนแบบบัญชีรายชื่อได้ถึง 17 คน ออกมาโวยลั่นโดนผู้ใหญ่ของพรรคลอยแพ ทั้งที่ทำคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรคเป็นล้าน ที่ผ่านมามีการพูดคุยไว้ตั้งแต่เริ่มต้น ให้อยู่เฉย ๆทางผู้ใหญ่จะดูแลและจะดูแลให้ทั่วถึง เป็นธรรม แต่ผลปรากฏว่าเมื่อเคาะเก้าอี้รัฐมนตรี คนที่อยู่เฉยๆ เป็นสุภาพบุรุษหรือส.ส.ตลาดล่างไม่ได้รับการดูแล แต่คนที่ไปจี้เช้าถึงเย็นถึงจะได้รับการดูแล
มีการนำไปเทียบเคียงกับการเกลี่ยเก้าอี้เสนาบดีของพรรคเก่าแก่ ที่พบว่ากระจายตัวอย่างทั่วถึง ด้วยเหตุนี้จึงมีการขู่ฟ่อด ๆ ว่า ถ้ายังไม่ได้รับการเหลียวแล พร้อมหารือกันระหว่างส.ส.ของพรรค 20 จังหวัด เพื่อทบทวนท่าทีการขับเคลื่อนทางการเมือง แน่นอนว่า ไม่ใช้วิธีการลาออกเพื่อแก้ปัญหา แต่อาจจะไม่ทำตามมติพรรค เคาะกะลากันอย่างนี้ คงไม่มีอะไรให้ต้องลุ้น อย่างที่รู้กันเก้าอี้มันมีน้อย แค่ผู้มีอำนาจสืบทอดก็จับจองไปแล้ว 5-6 ตำแหน่ง ไหนจะต้องระดับแกนนำอีก
อย่างที่เห็นระดับเกรดเอก็มาถูกพรรคตัวแปรสำคัญแยกไปเกือบหมด และต้องจัดแบ่งให้กับพรรคร่วมอื่น ๆ อีก จึงเหลือที่นั่งให้พรรคแกนนำจำนวนจำกัด เป็นธรรมดาของนักการเมืองบ้านนอก ขอสักครั้งในชีวิตที่ได้สัมผัสเก้าอี้รัฐมนตรี ยิ่งหนนี้ได้โชว์ผลงานจากพลังสืบทอดที่เกื้อหนุนจึงฝันหวานกันมากเป็นพิเศษ พออกหักพลาดหวังอาการจึงออกมาอย่างที่เห็น แต่เชื่อแน่ว่าด้วยปัจจัยที่มีเหลือเฟือ แค่เรียกไปคุยทุกอย่างก็จะเงียบเป็นปกติ
แต่ไม่จบแค่นั้น ขยับที่ภาคอีสานไม่พอ ล่าสุด 13 ส.ส.ใต้ของพรรคสืบทอดอำนาจก็ออกมาทวงเก้าอี้กันอีก ด้วยเหตุผลเดียวกันที่ผ่านมาอยู่แบบเงียบ ๆ ไม่เคยกดดันหรือต่อรองใด ๆ ทางกลุ่มมีประสานกับทางผู้ใหญ่เป็นการภายใน ด้วยหลักการและเหตุผล พร้อมแจกแจงละเอียดยิบ คนภาคใต้เลือกพปชร.เข้ามาเพราะต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไม่มีคนในสัดส่วนของภาคใต้เข้าไปนั่งบริหารก็คงจะสู้พรรคการเมืองอื่นไม่ได้
นี่เป็นเหตุผลสุดคลาสสิก ซึ่งจะว่าไปก็มีน้ำหนักอยู่บ้าง เพราะอุตส่าห์ได้เก้าอี้ส.ส.มาแล้ว แต่ไม่ได้ปูนบำเหน็จเก้าอี้รัฐมนตรี มันก็ยากที่จะตอบชาวบ้าน แต่หากคนในพื้นที่บอกว่าเลือกเพราะผู้นำเผด็จการไม่ใช่เพราะพรรคอันนั้นก็จบเห่ได้เหมือนกัน ส่วนอ้างว่าพรรคคู่แข่งอย่างภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์จัดเต็มทั้ง 2 พรรค เกรงว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพปชร.จะสูญพันธุ์ที่ภาคใต้นั้น อันนี้เรื่องจริงและไม่ใช่เฉพาะสองพรรคดังว่าเท่านั้น ยังมีอนาคตใหม่ที่คอยหายใจรดต้นคออีกต่างหาก
ทว่าในภาวะที่ตัวผู้นำเองพยายามจัดสรรปันส่วนเก้าอี้ให้ลงตัวทั้งพี่น้องของตัวเอง รวมทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็แสนสาหัสแล้ว ยังจะมาก่อหวอดภายในพรรคกันอีก นี่แหละความเป็นจริงของการเมือง โดยเฉพาะการเมืองที่ว่าด้วยรัฐบาลผสมหลายพรรค นี่ยังไม่นับรวมพรรคร่วมพรรคเล็กพรรคน้อย ที่วันก่อน ดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ออกมาประกาศเป็นฝ่ายค้านอิสระ หากส่งคนของพรรคชาติไทยพัฒนามาดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ไม่เพียงเท่านั้นคล้อยหลังจากหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการส่งมือใหม่จากพรรคชาติพัฒนามาคุมงานด้านนี้ นักวิชาการและเอ็นจีโอยังช่วยกันออกโรงเตือนรัฐมนตรีคนใหม่ไม่เขี้ยวจริงอย่ามา ที่นี่ของแรง บอกได้คำเดียวหนทางการที่จะเดินของอำนาจสืบทอดที่วางกลไกกันมาดิบดี แต่ทางที่จะเดินไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องไม่ลืมเป็นอันขาดว่า นักการเมืองได้ชื่อพวกพันธุ์พิเศษ
ใช่ว่ารู้ไส้รู้พุงและวางกลไกสืบทอดป้องกันพรรคพวกตัวเองอย่างแน่นหนาแล้วจะรอดจากคมหอกคมดาบของคนเหล่านั้น เพราะขึ้นชื่อว่าถนนสายการเมืองที่ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร เรื่องความปลิ้นปล้อนนั้นไม่ต้องพูดถึง คนบางคนดูเหมือนจะวางตัวเป็นผู้ดีมีสกุล พูดจาน่าเชื่อถือ แต่พอได้อำนาจที่ต้องการแล้วฟังคำอธิบายถึงสิ่งที่ตัวเองเคยพูดไว้พวกกะล่อนยังเรียกพี่ นี่แหละการเมืองชั่วการเมืองเลวที่ผู้นำเผด็จการก่นด่ามาตลอดหลังการยึดอำนาจ ก่อนที่จะกระโจนเข้าสู่เส้นทางสายนี้เสียเอง