บลจ.ภัทร ขายกองทุนตปท. ลงทุนตามดัชนี MSCI ACWI

บลจ.ภัทร ขายกองทุนตปท. ลงทุนตามดัชนี MSCI ACWI เปิดจองซื้อ 18-26 มิ.ย.62


นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บลจ.ภัทร เปิดเผยว่า บลจ.ภัทรจะเปิดเสนอขายกองทุนเปิด ภัทร พาสซีฟ โกลบอล อิควิตี้ (Phatra Passive Global Equity Fund – PHATRA PGE) ในระหว่างวันที่ 18-26 มิ.ย.62 ซึ่งเป็นกองทุน Feeder Fund สำหรับลงทุนในกองทุนรวมหลักเพียงกองเดียวคือ iShares MSCI ACWI ETF

สำหรับกองทุนหลักนี้เน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานของดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนอัตราผลตอบแทนของตลาดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมถึงกลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ผ่านกลยุทธ์การลงทุนแบบ Passive กล่าวคือกองทุนหลักจะเลือกลงทุนในหุ้นที่เป็นตัวแทนขององค์ประกอบของดัชนีอ้างอิงเพื่อสะท้อนการลงทุนให้เหมือนดัชนีอ้างอิง (Representative Sampling) โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด สัดส่วนอุตสาหกรรม อัตราผลตอบแทน และสภาพคล่อง

โดยกองทุนนี้เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการเพิ่มโอกาสการลงทุนในหุ้นทั่วโลก เพื่อเป็นส่วนประกอบของการจัดสรรการลงทุน อีกทั้งสามารถลงทุนได้ในระยะยาวและรับความเสี่ยงได้สูง ทั้งนี้ กองทุน PHATRA PGE ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเกือบทั้งหมด คือไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าเงินลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี

ส่วนของมุมมองการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 62 นายยุทธพลกล่าวว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม โดยรวมตลาดหุ้นยังคงมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดพันธบัตรในภาวะที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งตลาดหุ้นยังได้รับแรงหนุนจากท่าทีที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางหลัก อาทิ FED, ECB และธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่แสดงความเต็มใจจะใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น

นอกจากนั้น ปัจจัยอื่นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่  (1) ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศต่างๆ คือธนาคารกลางสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 18-19 มิ.ย. และธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันที่ 20 มิ.ย. (2) ผลการประชุม OPEC ระหว่างวันที่ 25-26 มิ.ย. ที่เวียนนา ซึ่งพิจารณาการต่ออายุมาตรการควบคุมกำลังการผลิตน้ำมัน ภายใต้สถานการณ์ปัญหาในเวเนซุเอลา อิหร่านและลิเบียที่ยังคงดำรงอยู่ และ (3) ผลการประชุม G20 ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. ซึ่งอาจนำไปสู่การพบปะหรือมีข้อตกลงอย่างเป็นทางการระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจีน โดยเหตุการณ์เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะต่อไป

Back to top button