ตลาดหุ้นขาลง

โจทย์ใหญ่ของตลาดหุ้นในยามดอกเบี้ยในตลาดโลกเป็นขาลงคือตลาดจะเป็นขาลงหรือขาขึ้น


พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล

โจทย์ใหญ่ของตลาดหุ้นในยามดอกเบี้ยในตลาดโลกเป็นขาลงคือตลาดจะเป็นขาลงหรือขาขึ้น

คำตอบคือในระยะสั้นขึ้นกับเงื่อนไขว่าฟันด์โฟลว์จะไหลเข้าหรือไหลออกถ้าเป็นอย่างแรกจะได้เห็นการวิ่งขึ้นชั่วคราวของดัชนีจนกระทั่งค่าพี/อีของตลาดสูงเกินไปแต่ในระยะยาวแล้วดัชนีตลาดจะต้องลงตามอัตราดอกเบี้ย

เหตุผลคือดอกเบี้ยคือภาพสะท้อนความต้องการเงินของทั้งธุรกิจและผู้บริโภค

เมื่อใดก็ตามที่ความต้องการเงินสำหรับภาคธุรกิจเพื่อการลงทุนมากขึ้นผสมกับความต้องการใช้เงินของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นหากเป็นตรงกันข้ามอัตราดอกเบี้ยจะผกผันตรงเป็นขาลงตามไปด้วย

ในบางกรณีความต้องการใช้เงินอาจจะไม่ลดลงแต่ความสามารถชำระหนี้ตกต่ำลงเจ้าหนี้ที่ดูแลปริมาณเงินจะต้องคำนึงถึงคุณภาพสินเชื่อของลูกหนี้ทำให้การปล่อยปริมาณเงินในตลาดถดถอยลงอัตราดอกเบี้ยจะถูกลงก็ไม่มีความหมายอะไร

สำหรับตลาดหุ้นไทยอาจจะโชคดี (จะด้วยบังเอิญหรือฟ้าดินเป็นใจก็สุดแท้แต่) เพราะข่าวสารและข้อมูลลบของอัตราดอกเบี้ยขาลงของโลกกลายเป็นข่าวดีเฉพาะหน้าส่วนหนึ่งเพราะทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่แข็งแกร่งเกินกว่าพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาเพื่อหลบภัยผ่านตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราทำให้ค่าบาทแข็งต่อเนื่องที่สุดในเอเชียตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นข้ามหลายแนวต้าน

ตลาดเก็งกำไรกลับมาคึกคักเพราะฟันด์โฟลว์ไหลเข้ารุนแรง  ส่งผลต่อตลาดหุ้นและตลาดทุนไทยเชิงบวกเพราะจะทำให้ทุนเก็งกำไรพากันหนีตายเข้ามามาก

ตัวเลขซื้อสะสมสุทธิของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยที่เริ่มเป็นบวกอีกครั้งหลังจากติดลบมาในช่วง 5 เดือนแรกนอกจากเหตุเพราะไทยมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศแข็งแกร่งแล้วส่วนหนึ่งยังเป็นเพราะบรรดาทุนเก็งกำไรต่างชาติต่างรู้ทัน “จุดอ่อน” อำนาจรัฐไทยได้ดีว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจควบคุมนโยบายการเงินที่อยู่ในกำมือเทคโนแครตอย่างผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และธปท.ก็มีขีดจำกัดในการแทรกแซงค่าบาท

ข้อจำกัดสำคัญของธปท.ในการบริหารระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวเสมือนถูกผูกมัดมือชกทำให้บรรดาผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติหรือฟันด์โฟลว์ที่เชื่อกันว่าเตรียมเงินก้อนใหญ่ระดับ 8 หมื่นล้านบาท เพื่อเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นไทยสบช่องพากันเร่งซื้อเงินบาทเพื่อนำมาถือหลักทรัพย์ที่กล่าวมาจนล่าสุดค่าบาทแข็งสุดในรอบ 2 เดือนและล่าสุดต่ำกว่า 31.30 บาทต่อดอลลาร์ด้วย

คาดว่าการไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ที่ค่อนข้างมากและบาทแข็งจากผลพวงการลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ถึง 3 ครั้งในครึ่งหลังของปีนี้จะส่งผลตลอดครึ่งหลังของปีนี้จนอาจทะลุทะลวงข้ามเส้นสัญญาณทางเทคนิคสำคัญยืนเหนือ 1,700 จุดไม่ยากเย็นนักในอนาคตอันใกล้

อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจึงมีนัยแฝงว่าความสามารถทำกำไรภาคธุรกิจอ่อนแอลงซึ่งหากปรากฏในงบการเงินว่าอัตรากำไรสุทธิลดลงอัตราเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้นถดถอยลงและค่าพี/อีพุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ราคาหุ้นในอนาคตมีแนวโน้มถดถอยเป็นขาลงมากกว่าขาขึ้น

คำแนะนำของการเล่นหุ้นช่วงขาลงนั้นมีอยู่มากมายมีทั้งที่ถูกและผิดแถมมีผิดมากกว่าถูกเพราะบางครั้งเมื่อตลาดโดยรวมเป็นขาลงราคาหุ้นพื้นฐานที่ควรจะดีกลับไม่ขานรับเพราะไม่ใช่หุ้นยอดนิยมและหุ้นที่ผลประกอบการปานกลางหรือเลวร้ายกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดก็คงไม่ต้องพูดถึง

การลงทุนเล่นหุ้นยามตลาดที่ดอกเบี้ยเป็นขาลงจึงเป็นการบ้านที่ยากพอสมควร

โดยทั่วไปแล้วกลยุทธ์เหมาะสมในตลาดหุ้นยามที่ดอกเบี้ยจะเป็นขาลงจะต้องมีตัวแปรให้พิจารณาดังนี้

– ถือเงินสดไว้ในปริมาณเผื่อเหลือเผื่อขาดหากว่ากลยุทธ์ “ซื้อสวน” ทำงานติด ๆ ขัด ๆ เป็นการรักษาสภาพคล่องในมือ

– เลือกถือหุ้นที่รู้จักดียาวนานไม่ใช่เพราะชื่นชอบหรือเคยกำไรมาก่อนแบบเฮละโลแต่ด้วยความรู้พื้นฐานถึงสุขภาพกิจการแผนธุรกิจและพฤติกรรมผู้ถือหุ้นใหญ่หรือผู้บริหาร

– เลือกลงทุนเก็งกำไรในหุ้นที่มีข่าวควบรวมกิจการทั้งฉันมิตรและปรปักษ์ภายใต้เงื่อนไขว่าหลังจากดีลจบแล้วจะมีโมเดลธุรกิจที่มีอัตรากำไรสุทธิและสุทธิต่อหุ้นดีขึ้น

– เลือกซื้อหุ้นที่ราคาร่วงมาต่ำกว่าบุ๊กแวลูเพียงเพราะกำไรต่อไตรมาสลดลงเนื่องจากเทคนิคทางบัญชีเพราะโดยพื้นฐานแล้วจะกลับสู่ระดับเดิมโดยไว

– เลือกใช้กลยุทธ์ที่สุ่มเสี่ยงน้อยที่สุดเช่นซื้อขายแบบปิรามิดถือคติการลงทุนแบบกำไรน้อยดีกว่าติดหุ้น

– เตือนสติตนเองเสมอว่าอย่าติดกับดัก “คุณตลาด”ตามนิทานเรื่อสั้น ๆ ว่าด้วยการเก็งกำไรในตลาดหุ้นของเบนจามิน แกรห์ม

หากทำได้อย่างที่กล่าวมานี้อย่างค่อนข้างเคร่งครัดและมีสติโอกาส “ติดยอดดอย”หรือมีสภาพ “ชาวดอย” จะลดน้อยลงแม้ว่าอาจจะไม่ได้ผลเต็มร้อยก็ตาม

ท้ายสุดต้องจำคำพูดเก่าแก่ของพะคีร่าในนิทานเมาคลีหรือ The Jungle Book ของรัดยาร์ด คิปลิง ที่ว่า “ผู้ล่าอาจจะกลายเป็นผู้ถูกล่า” ได้เสมอ

Back to top button