PTTEP โอกาสลงทุนในตะวันออกกลาง
PTTEP ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากข่าวบวก โบรกฯคงเป้าปี 62 ที่ 166 บ. หลังจากรวมการลงทุนในทุกโครงการที่มีความชัดเจนแล้ว พร้อมคงคำแนะนำ “ซื้อ”
รายงานพิเศษ
ราคาหุ้นบนกระดานของหุ้น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากข่าวบวก หลังบริษัทประกาศผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าได้ลงทุนโครงการเพิ่มเติม ล่าสุด เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.62 ทาง ปตท.สผ. แจ้งว่า บริษัท พีทีทีอีพี โมซัมบิก แอเรีย 1 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ถือหุ้นในโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน (โครงการฯ) สัดส่วน 8.5% ได้ร่วมกับกลุ่มผู้ร่วมทุน ประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในการพัฒนา (FlD: Final lnvestment Decision) และก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบกสำหรับ 2 สายการผลิตแรก ในสาธารณรัฐโมซัมบิก
นับเป็นการรอคอยกันมาหลายปีว่าโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน จะสามารถประกาศการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายในการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวบนบกได้หรือไม่ เนื่องจาก PTTEP ได้เข้าลงทุนสัดส่วน 8.5% ในโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2555 และตามแผนเดิมคาดจะมีการประกาศ FlD ในช่วงปี 2557-2558 และจะทำการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2562-2563 แต่โครงการก็ถูกเลื่อนมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบันกว่า 4 ปี แล้ว
เนื่องจากติดปัญหาหลักจากรัฐบาลโมซัมบิก เนื่องจากโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน เป็นโครงการ LNG ขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศโมซัมบิก จึงต้องใช้ระยะเวลาในการที่จะกำหนดกรอบการลงทุนให้ชัดเจน รวมถึงในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลง ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าในการลงทุนได้ จึงถูกเลื่อนมาต่อเนื่องถึงปัจจุบันที่ราคาน้ำมันค่อนข้างยืนได้ในระดับหนึ่ง โครงการลงทุนต่าง ๆ จึงกลับมาดำเนินการตามแผน
ทั้งนี้ PTTEP ได้มีการลงทุนในโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ตามมูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชีอยู่ที่ 1.9 พันล้านเหรียญ และมีการใช้เงินลงทุนไประหว่างทางอีกประมาณ 400 ล้านเหรียญ รวมมูลค่าสุทธิจะอยู่ราว 2.3 พันล้านเหรียญ หรือราว 7.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้รวมไว้ในประมาณการก่อนหน้านี้แล้ว
ดังนั้นจึงยังคงประมาณการเดิม แต่มีการปรับปรุงระยะเวลาในการเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ออกไปเป็นปี 2567 จาก 2 สายการผลิตแรกด้วยกำลังการผลิตรวม 12.88 ล้านตันต่อปี ซึ่งในปัจจุบันมีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวรองรับประมาณ 11.1 ล้านตันต่อปี (คิดเป็นสัดส่วน 80% ของกำลังการผลิตทั้งหมด) โดยมีผู้ซื้อหลักจากทั้งทวีปเอเชียและยุโรป และช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) ให้กับ PTTEP ตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 140 ล้านบาร์เรล
ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.62 โดย ปตท.สผ. แจ้งว่า บริษัท PTTEP HK Holding Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น เพื่อเข้าถือหุ้นทั้งหมด 100% ในบริษัท Partex Holding B.V. (Partex) จาก มูลนิธิ Calouste Gulbenkian Foundation ด้วยมูลค่ารวม 622 ล้านเหรียญฯ หรือราว 1.9 หมื่นล้านบาท
โดยบริษัท Partex ถือเป็นบริษัทชั้นนำ ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมในภูมิภาคตะวันออกกลางมานานกว่า 80 ปี ปัจจุบันลงทุนใน 7 โครงการ แบ่งเป็น 4 โครงการเป็นธุรกิจ upstream และอีก 2 โครงการเป็นธุรกิจ mid-stream ครอบคลุม 5 ประเทศ
ในส่วนของธุรกิจ upstream มีปริมาณสำรองปิโตรเลียม (2P Reserves) ปี 2561 อยู่ที่ 65 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีปริมาณการขายสุทธิในปี 2561 อยู่ที่ 1.6 หมื่นบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ทั้งนี้การลงทุนในโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ของ PTTEP ถือเป็นจุดเริ่มสำคัญเข้าแหล่งพลังงานใหญ่ของสองประเทศ แม้สัดส่วนถือหุ้น และคาดการณ์ผลตอบแทนแทบไม่มีนัยสำคัญ
การเข้าลงทุนซื้อ Partex ครั้งนี้ ถือเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ของ PTTEP ที่นอกเหนือจากการลงทุนในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา และมาเลเซียแล้ว ยังมีกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางเป็นเป้าหมายที่สำคัญของ PTTEP เช่นกัน
โดยโครงการลงทุนหลักของ Partex จะอยู่ในโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของแต่ละประเทศ ดังนั้นแม้จะเข้าไปถือสัดส่วนเพียง 1-2% ของแต่ละโครงการ แต่มองเป็นโอกาสสำคัญที่จะเข้าไปต่อยอดการลงทุนใหม่ ๆ เพิ่มเติมทั้งในโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในระยะยาวมากกว่า
หากดูกำไรสุทธิของ Partex พบว่าปี 2560 อยู่ที่ราว 23 ล้านเหรียญ ซึ่งคาดว่าปี 2561 กำไรของ Partex น่าจะปรับตัวขึ้น ตามราคาน้ำมัน เบื้องต้นคาดว่าน่าจะอยู่ราวกว่า 30 ล้านเหรียญ หรือราว 1 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 2-3% ของกำไรปี 2561 ของ PTTEP
ดังนั้น หากเทียบกับ CAPEX ที่ PTTEP เข้าซื้อกิจการครั้งนี้กว่า 1.9 หมื่นล้านบาท จะพบว่าผลตอบแทนจากการลงทุนอาจไม่สูงมากนัก ราว 6% ขณะที่ปกติ IRR ของโครงการ upstream จะอยู่ที่ 10-15% และโครงการ mid-stream จะอยู่ราว 7-8%
ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบโลกฟื้นตัวแรง โดยน้ำมันดิบดูไบวานนี้เพิ่มขึ้น 2.3% ปิดที่ 58.98 เหรียญ เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 64.5 เหรียญ เทียบกับสมมติฐานของฝ่ายวิจัยฯ ทำไว้ 60 เหรียญในปี 2562 และปี 2563 เป็นต้นไปคาดที่ 65 เหรียญ
ขณะเดียวกันก่อนหน้าเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ทางปตท.สผ. แจ้งว่า บริษัท PTTEP HK Offshore Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น (Share Sale and Purchase Agreement : SSPA) เข้าซื้อธุรกิจทั้งหมดของบริษัท Murphy Oil Corporation (Murphy) ในประเทศมาเลเซีย ผ่านการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทย่อยซึ่งได้แก่บริษัท Murphy Sabah Oil Ltd. (Murphy Sabah) และ Murphy Sarawak Oil Ltd. (Murphy Sarawak) ในสัดส่วนร้อยละ 100
ปัจจุบันทั้งสองบริษัทมีการลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการที่อยู่ในระยะผลิต 2 โครงการ ระยะพัฒนา 1 โครงการ และระยะสำรวจ 2 โครงการ โดยมีประมาณการปริมาณสำรองปิโตรเลียม (2P*) จำนวน 274 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีปริมาณการขายสุทธิปี 2561 ประมาณ 48,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน (เป็นน้ำมันและคอนเดนเสทร้อยละ 62)
ดังนั้นจากการเข้าไปลงทุนในโครงการดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จของ ปตท.สผ.ในการดำเนินตามแผนกลยุทธ์
ในขณะที่ทางบล.เอเซีย พลัส ยังคงมูลค่าพื้นฐาน ณ สิ้นปี 2562 เท่ากับ 166 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นมูลค่าพื้นฐานระยะยาวหลังจากรวมการลงทุนในทุกโครงการของ PTTEP ที่มีความชัดเจนแล้ว โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”