เปิด 6 หุ้นแรงไม่สนภาวะตลาดผ่านครึ่งปีราคาบวกเกิน 150%
รวมทีม 6 หุ้นชาวสวน ประจำครึ่งแรกปี 58 ราคาพุ่งชนิดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ผ่านไปแค่ 6 เดือน ขยับขึ้นเกินเท่าตัวครึ่ง งานนี้เม้าท์มอยได้ทันทีว่า “เป๋าตุงกันเกือบถ้วนหน้า”
รวมทีม 6 หุ้นชาวสวน ประจำครึ่งแรกปี 58 ราคาพุ่งชนิดไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ผ่านไปแค่ 6 เดือน ขยับขึ้นเกินเท่าตัวครึ่ง งานนี้เม้าท์มอยได้ทันทีว่า “เป๋าตุงกันเกือบถ้วนหน้า”
“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจ “หุ้นชาวสวนประจำครึ่งแรกปี 2558” โดยใช้เกณฑ์หุ้นที่ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้น เกินกว่า 150% ขึ้นไป ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งเริ่มนับจากวันทำการเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 จนถึง วันที่ 30 มิถุนายน2558 และเมื่ออ้างอิงข้อมูลจากราคาปิดตลาดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พบว่า มีหุ้นเข้าข่ายเกณฑ์ที่ใช้อยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ตัว ซึ่งถือเป็นหุ้นที่น่าจับตามอง สำหรับช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้
หุ้นที่ราคาขึ้นแรงมากสุดอันดับแรกคือ บริษัท ทาคูนิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TAKUNI โดยราคา ณ วันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 11.50บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น8.64บาท หรือ 302.10% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.86บาท โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก สืบเนื่องจากในไตรมาส 1 บริษัทมีกำไรสุทธิเกือบเทียบเท่ากับกำไรของทั้งปี 2557 ส่งผลให้เกิดแรงซื้อเพื่อเข้ามาเก็งกำไรอย่างหนาแน่น บนสมมุตฐานที่กำไรของบริษัททั้งปี จะเติบโตขึ้นได้กว่า 3 เท่าตัว
ขณะที่ราคาหุ้น TAKUNI วานนี้ (9 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 11.30 บาท ปรับตัวลง 0.20 บาท หรือ 1.74% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.94 ล้านบาทและมีอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือ “P/E”ที่ระดับ 104.83 เท่า
หุ้นที่ราคาขึ้นแรงมากสุดอันดับสองคือ บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO โดยราคา ณ วันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 22.90บาทปรับตัวเพิ่มขึ้น 16.40 บาท หรือ252.31% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 6.50บาท(ที่ราคาพาร์ปัจจุบัน) โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลจากแรงซื้อเก็งกำไร หลังคาดการณ์ว่า ต้นทุนในการผลิตยางมะตอยของบริษัทจะคงอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาขายอยู่มาก ไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งสิ่งที่สามารถสะท้อนประเด็นนี้ได้ก็คือ ผลกำไรสุทธิในงวดไตรมาส 1 ที่มีตัวเลขสูงจนเกือบเท่ากับผลกำไรในปี 2557 ทั้งปี
ขณะที่ราคาหุ้น TASCO วานนี้ (9 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 23.70 บาท ปรับตัวลง 0.30 บาท หรือ 1.25% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,311.00ล้านบาท และมีอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือ “P/E”ที่ระดับ 17.62 เท่า
หุ้นที่ราคาขึ้นแรงมากสุดอันดับสามคือ บริษัท เอเซียพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ APCS โดยราคา ณ วันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 6.80บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น4.48บาท หรือ 193.10% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.32บาท โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องมาจากการเข้าเก็งกำไรต่อประเด็นเรื่องบริษัทอาจพลิกกลับมามีกำไรในปีนี้ หลังประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยงบในไตรมาส 1 ที่ออกมาดีได้กลายเป็นตัวส่งสัญญาณถึงแนวโน้มที่ดีขึ้น อีกทั้งหุ้นตัวนี้ยังมีปัจจัยทางเทคนิคเข้ามาสนับสนุนอีกทางหนึ่งด้วย
ขณะที่ราคาหุ้น APCS วานนี้ (9 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 6.20 บาท ปรับตัวลง0.30 บาท หรือ 4.62% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 16.61 ล้านบาท โดยไม่สามารถคิดอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือ “P/E”ได้ เนื่องจากบริษัทยังอยู่ในภาวะขาดทุน
หุ้นที่ราคาขึ้นแรงมากสุดอันดับสี่คือ บริษัท ไทยลักซ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TLUXE โดยราคา ณ วันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 8.25บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น5.09บาท หรือ 161.08% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.16บาท โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรกมาจากแรงซื้อเก็งกำไรเกี่ยวกับรับอานิสงส์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งติดต่อกัน จนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.50% ซึ่งเรื่องนี้อาจช่วยกระตุ้นให้บริษัทสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ได้มากขึ้น ขณะที่การกลับมามีกำไรในไตรมาส 1 ถือเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่อการคาดการณ์ดังกล่าว
ขณะที่ราคาหุ้น TLUXE วานนี้ (9 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 8.00 บาท ปรับตัวลง0.05 บาท หรือ 0.62% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 19.04 ล้านบาท และมีอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือ “P/E”ที่ระดับ 1,335.78 เท่า
หุ้นที่ราคาขึ้นแรงมากสุดอันดับห้าคือ บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC โดยราคา ณ วันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 2.16บาทปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.33 บาท หรือ160.24% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 0.83บาท (ที่ราคาพาร์ปัจจุบัน) โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก เกิดจากกระแสเก็งกำไรเรื่องงานออกแบบและก่อสร้างเหมืองโปแตช จ.ชัยภูมิ รวมไปถึงการที่บริษัทได้รับงานวางท่อก๊าซขนาดใหญ่ให้กับกลุ่ม ปตท. บวกกับมีงาน Backlog ตุนไว้ในมืออีกเยอะ ขณะที่กำไรในไตรมาส 1 เติบโตขึ้นกว่า 120% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ราคาหุ้น TRC วานนี้ (9 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 2.16 บาท ปรับตัวขึ้น 0.02 บาท หรือ 0.93% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 71.17 ล้านบาท และมีอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือ “P/E”ที่ระดับ 34.81 เท่า
หุ้นที่ราคาขึ้นแรงมากสุดอันดับหกคือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG โดยราคา ณ วันที่ 30มิถุนายน ปิดตัวที่ระดับ 15.30บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น9.40บาท หรือ 159.32% จากราคาปิด ณ วันที่ 5 มกราคม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.90บาท โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากการคาดการณ์เรื่องผลประกอบการว่า จะเติบโตขึ้นเกินกว่าเป้า 20% ในปีนี้ จากการขยายสาขาสถานีบริการน้ำมันให้ครบ 1,200 แห่ง อีกทั้งยังมีเรื่องการเตรียมเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวล และขยะ และยังรวมไปถึงกรณีที่ถูกคัดเลือกให้ติด MSCI Global Small Cap อีกด้วย
ขณะที่ราคาหุ้น PTG วานนี้ (9 ก.ค.) ปิดที่ระดับ 15.60 บาท ปรับตัวลง 0.20 บาท หรือ 1.27% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 136.14 ล้านบาท และมีอัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น หรือ “P/E”ที่ระดับ 47.12 เท่า
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ถูกนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงการแนะนำเพื่อประกอบการลงทุน และเพื่อเตือนสตินักลงทุนว่า การที่หุ้นปรับตัวขึ้นมาแรง โดยสวนทางกับสภาวะที่แท้จริงของตลาดนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเก็งกำไรบนประเด็นเชิงบวกของบริษัท ขณะที่บางส่วนได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริงไปแล้ว อย่างเช่น ผลประกอบการ หรือการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ
ดังนั้นนักลงทุนจึงควรคำนึงถึงราคาเหมาะสมของหุ้นต่างๆเป็นหลักว่า ระดับที่เหมาะสมนั้นควรจะอยู่ที่ใด และหากเมื่อดูเป็นรายตัว ตามในรายงานฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า หุ้นบางตัวนั้นมีค่า P/E ที่สูงมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือ หุ้นตัวนั้นมีราคาที่สูงเกินจริงอย่างต้องพึงระวัง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรใช้วิจารณญาณในการลงทุน