SET รูด 9 จุดเซ่น 3 ปัจจัยถ่วง! มาตรการสกัดบาทแข็ง-ศึกการค้ารอบใหม่-หุ้นเข้าเขตซื้อมากไป
SET รูด 9 จุดเซ่น 3 ปัจจัยถ่วง! มาตรการสกัดบาทแข็ง-ศึกการค้ารอบใหม่-หุ้นเข้าเขตซื้อมากไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ เวลา 16.09 น. อยู่ที่ระดับ 1,719.42 บาท ลบ 8.56 จุด หรือ 0.50% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.26 หมื่นล้านบาท
โดยปัจจัยที่ส่งผลให้ดัชนียังคงปรับตัวลดลงคาดมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย ประเด็นธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ได้มีการปรับปรุงมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทและเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการช่วยลดแรงกระแทกที่จะเข้ามาที่อัตราแลกเปลี่ยน
นอกจากนี้ นักลงทุนกลับมาวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าอีกครั้ง หลังจากที่ ปธน.ทรัมป์ กล่าววานนี้ (16 ก.ค.62) ว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐกับจีนยังคงไม่คืบหน้า และยังคงอยู่ห่างไกลจากการบรรลุข้อตกลงทางการค้าพร้อมกับขู่ว่าสหรัฐสามารถเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมต่อสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 3.25 แสนล้านดอลลาร์หากต้องการ
อีกทั้ง ในช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ เห็นได้จากยอดซื้อสะสมของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาจนถึง 15 ก.ค.62 อยู่ที่ 5.83 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้หุุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวขึ้นแรงจนเข้าเขตซื้อมากเกินไป (Overbought) โดยทั้ง 3 ปัจจัย ส่งผลให้นักลงที่เข้าซื้อหุ้นก่อนหน้านี้ถือจังหวะนี้เทขายหุ้นออกมาทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงดังกล่าว
อนึ่งเมื่อวันที่ 12 ก.ค.62 ธปท. ประกาศมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการปรับปรุงเกณฑ์ค่าเงินบาท ดังนี้
1.ให้สถาบันการเงินคุมยอดคงค้างในบัญชี Non resident Baht Account (NBRA) รวมกับ Non-resident Baht Account for securities (NBRs) ให้มียอดคงค้าง ณ สิ้นวันของแต่ละบัญชีไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อราย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม หรืออีก 1 สัปดาห์หลังจากนี้, 2.ให้บัญชี Special Purpose Non-resident Baht Account (SNA) มียอดคงค้าง ณ สิ้นวันเกินกว่า 200 ล้านบาท ได้แต่ต้องไม่เกินวงเงินสินเชื่อตามเกณฑ์ ของ ธปท. และเฉพาะในส่วนที่สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อผ่านบัญชี sNA หรือที่ได้รับจากการออกจำหน่ายพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในไทย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคม หรืออีก 1 สัปดาห์หลังจากนี้
และ 3.เพิ่มความเข้มงวดของรายงานยอดเงินคงค้างการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยให้รายงานถึงระดับชื่อของผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง เริ่มมีผลบังคับใช้ในรายงานเดือนกรกฎาคมนี้