พาราสาวะถี
ออกมาปฏิเสธกันหน้าสลอนสำหรับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ต่อกรณีการย้ายมาซบของ “เสี่ยลาว”พรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยุคยิ่งลักษณ์จากพรรคเพื่อไทย ไม่เกี่ยวกับเรื่องคดีความใด ๆ ไม่มีการใช้เรื่องดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือต่อรองแต่อย่างใด สงสัยคงจะลืมกันไปว่า ยุคของรัฐบาลเผด็จการคสช.มีการตอกย้ำเรื่องคดีความของพรรคนายใหญ่อยู่บ่อยครั้ง และล่าสุดในการแถลงนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังตอกย้ำในประเด็นดังกล่าว
อรชุน
ออกมาปฏิเสธกันหน้าสลอนสำหรับแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ต่อกรณีการย้ายมาซบของ “เสี่ยลาว”พรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยุคยิ่งลักษณ์จากพรรคเพื่อไทย ไม่เกี่ยวกับเรื่องคดีความใด ๆ ไม่มีการใช้เรื่องดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือต่อรองแต่อย่างใด สงสัยคงจะลืมกันไปว่า ยุคของรัฐบาลเผด็จการคสช.มีการตอกย้ำเรื่องคดีความของพรรคนายใหญ่อยู่บ่อยครั้ง และล่าสุดในการแถลงนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังตอกย้ำในประเด็นดังกล่าว
โดยผู้นำเผด็จการสืบทอดอำนาจ ประกาศในที่ประชุมรัฐสภาชัดเจน “วันนี้ไม่อยากก้าวล่วงใคร เพราะมีคดีค้างอยู่กว่าพันคดี เตรียมตัวไว้แล้วกัน เรื่องอะไรไม่รู้” เป็นเหมือนคำขู่ที่เตือนฝ่ายค้านระวังให้ดีกับการอภิปรายโจมตีตัวเอง แต่ในอีกด้านถ้าหากนำมาพิจารณาควบคู่กับข้อครหาเรื่องพรรคสืบทอดอำนาจใช้คดีความไปกดดันหรือต่อรองให้นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามเข้าร่วมกับตัวเองตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง จนกระทั่งมาถึงกรณีล่าสุด มีแนวโน้มที่คนจำนวนไม่น้อยจะเชื่อเช่นนั้น
หรืออาจเรียกได้ว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ไม่ต่างกันกับกรณีของบรรดาผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ถูกเล่นงานด้วยมาตรา 44 และเพิ่งมาคลายล็อกให้ก่อนประชาชนจะหย่อนบัตร นั่นย่อมสะท้อนกระบวนการคิดและการกระทำได้เป็นอย่างดีว่าหวังผลเช่นไร หลังจากที่รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเราทำให้ก้าวมาสืบทอดอำนาจได้ทั้งที่ไม่ชนะเลือกตั้ง เป้าหมายต่อไปของพรรคของคณะเผด็จการก็คือ การปูพรมยึดหัวหาดท้องถิ่น เป้าแรกคือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด
เปิดตัวกันไปแล้วในภาคใต้เริ่มต้นที่จังหวัดสงขลา โดย พันเอกสุชาติ จันทรโชติกุล ผู้ก่อตั้งพรรคและผู้ประสานงานพรรคพลังประชารัฐภาคใต้ ประกาศลงชิงชัยเก้าอี้นายกอบจ.สงขลา ถึงกับอ้างว่าปฏิเสธเก้าอี้รัฐมนตรีเพราะตั้งใจจะลุยงานท้องถิ่นเต็มตัว ไม่เพียงเท่านั้นยังมีพาดพิงไปถึงคู่แข่งสำคัญอย่างประชาธิปัตย์ด้วย โดยอ้างว่าได้คุยกับ นิพนธ์ บุญญามณี อดีตนายกอบจ.คนเดิมที่วันนี้ไปนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยมหาดไทยกับ ถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยคมนาคม ในทำนองขอเปิดทางให้ตัวเอง
ด้วยเหตุผลที่ว่าในจังหวัดสงขลาพรรคประชาธิปัตย์มีรัฐมนตรี 2 คนแล้ว ตำแหน่งนายกอบจ.ขอให้พรรคพลังประชารัฐบ้าง งานนี้ถ้าถามถึงการตัดสินใจของสองคนนิพนธ์คงไม่หลีกทาง แต่ถาวรในฐานะอดีตแกนนำกปปส.และเป็นตัวตั้งตัวตีที่เสนอให้พรรคเก่าแก่เข้าร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจตั้งแต่ต้น คงพร้อมที่จะหลีกทางให้ด้วยความเต็มใจ อย่างไรก็ตาม มันคงไม่ได้ง่ายอย่างนั้น เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นจะถือเป็นการวัดกำลังความนิยมที่มีต่อพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผมอีกครั้ง
หลังจากการเลือกตั้งส.ส.ในพื้นที่กทม.พ่ายแพ้ราบคาบ ขณะที่ภาคใต้ก็เสียเก้าอี้ให้กับคนของพรรคสืบทอดอำนาจไปจำนวนไม่น้อย ดังนั้น เลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นในสองพื้นที่ดังกล่าวจึงอาจจะบอกได้ว่า เป็นการช่วงชิงกันอย่างเข้มข้นของสองพรรคดังว่า โดยมีตัวสอดแทรกที่สำคัญคือผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่และภูมิใจไทย ซึ่งในสนามกทม.กรณีผู้ว่าฯ เมืองหลวงนั้น ก็มีข่าวเล็ดลอดมาตั้งแต่ไก่โห่ว่าพรรคเก่าแก่จะยอมถอยให้พลังประชารัฐ
แต่คงเป็นแค่ข่าวโคมลอย เพราะถ้ายอมถอยจริง ก็เท่ากับว่าพรรคเก่าแก่ยอมทิ้งฐานเสียงสำคัญของตัวเองซึ่งคงไม่ใช่แน่ ไม่เพียงแต่จะแสดงท่าทีว่าไม่มีการเกี้ยเซียะกัน ยังมีข่าวถึงขั้นที่ว่าประชาธิปัตย์จะวางเดิมพันสูงด้วยการส่ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาลุยสนามผู้ว่าฯ กทม.ด้วยตนเอง ถือเป็นการตัดไม้ข่มนามคู่ต่อสู้ไปในตัว ทั้งนี้พรรคสืบทอดอำนาจก็คงสู้ยิบตา เห็นได้จากการวางตัวรัฐมนตรีในรัฐบาลและการใช้คนของพรรคคู่แข่งที่มาสวามิภักดิ์ร่วมเดินเกมในการบริหารงานภายในศาลาว่าการเสาชิงช้าในปัจจุบัน
ยังคงมีเสียงวิจารณ์ต่อเนื่องกับการที่ผู้นำสืบทอดอำนาจรวบงานด้านความมั่นคงมาไว้ในมือ กำกับดูแลทั้งทหาร ตำรวจและดีเอสไอ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะคงจะใจหายไม่น้อยกับการที่เสียอำนาจเด็ดขาดอย่างมาตรา 44 ไป ดังนั้น การที่กุมบังเหียนหน่วยงานเหล่านี้ จึงทำให้เชื่อได้ว่าจะสามารถสั่งการ ควบคุม ให้ทุกอย่างดำเนินไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการ เห็นได้จากการประกาศกระชับอำนาจในกรณีโผแต่งตั้งโยกย้าย
รู้กันดีอยู่แล้วว่า ในส่วนของทหารตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมนั้นฝ่ายการเมืองจะไม่สามารถเข้าไปยุ่มย่ามกับการแต่งตั้งโยกย้ายได้ ตำแหน่งสำคัญต้องเป็นเรื่องที่ผ่านการเสนอโดยกองทัพและมาเคาะกันในชั้นของคณะกรรมการพิจารณา แต่ท่านผู้นำก็บอกว่าตัวเองจะต้องกลั่นกรองรายชื่อเหล่านั้น นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่วางกลไกกันไว้นั้นเอื้อต่อการสืบทอดอำนาจมากน้อยเพียงใด
พอจะเข้าใจได้ ยิ่งได้เห็นท่าทีของผบ.เหล่าทัพบางคน และมองไปยังสายสัมพันธ์ของผู้นำเหล่าทัพบางราย ล้วนแล้วแต่เป็นความเกี่ยวพันทั้งในแง่ของสายการบังคับบัญชา ความผูกพันระหว่างรุ่น ที่สำคัญคือการสืบสายสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ อย่างไรก็ตาม การเมืองที่เดินกันในระบอบโดยไร้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดัชนีชี้วัดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีใครอุ้มสมหรือหนุนหลัง ถ้าไร้ซึ่งผลงานและความเดือดร้อนของประชาชนหนักหน่วงรุนแรง กระแสกดดันย่อมมีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงขึ้นได้ทุกเมื่อ
เช่นเดียวกับการไปคุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าท่านผู้นำจะมีเจตนาอย่างไร แต่หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมานั่งหัวโต๊ะ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพมากกว่า หากยังเกิดเครื่องหมายคำถามต่อการทำงานขององค์กรสีกากี บิ๊กตู่ไปชี้นิ้วให้ซ้ายหันขวาหันก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา ที่สำคัญยุคของเผด็จการอำนาจเด็ดขาดยังปฏิรูปองค์กรแห่งนี้ไม่ได้
อีกเรื่องที่สังคมกังขาคือ การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ของท่านผู้นำ เป็นประเด็นที่น่าคิด เพราะหากไม่มีปัญหาคนอย่าง วิษณุ เครืองาม จะอธิบายได้แบบฉะฉาน แต่วันนี้กับยืนกระต่ายขาเดียวว่าไม่ตอบ พร้อมกับคำพูดปริศนา “แล้ววันหนึ่งจะรู้เองว่าทำไมถึงไม่ควรพูด” แทนที่จะจบยิ่งทำให้คนต้องค้นหาคำตอบกันเข้าไปอีก รอดูกันต่อว่ากรณีนี้จะจบอย่างไร