กลุ่ม BTS-STEC-RATCH-GULF บิดงาน O&M มอเตอร์เวย์ M6-M81 ต่ำสุด 2.13 หมื่นล้าน
กลุ่ม BTS-STEC-RATCH-GULF บิดงาน O&M มอเตอร์เวย์ M6-M81 ต่ำสุด 2.13 หมื่นล้าน
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยผลการเปิดซองเอกสารข้อเสนอทางด้านการลงทุนและผลตอบแทน หรือข้อเสนอซองที่ 2 การให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ในวันนี้ (19 สิงหาคม 2562)
โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย ผลปรากฏว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) กิจกรรมร่วมค้า บีจีเอสอาร์ นำโดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ร่วมกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 21,329 ล้านบาทเป็นราคาต่ำที่สุด
เทียบกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 29,849 ล้านบาท และ กลุ่มกิจการร่วมค้า CCCC-UN ประกอบด้วยบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ร่วมกับบริษัท China Communications Construction Company Ltd. ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 26,289 ล้านบาท
ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ปรากฎว่า กิจกรรมร่วมค้า บีจีเอสอาร์ ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 17,809 ล้านบาท เป็นราคาต่ำสุด ขณะที่ BEM ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 25,196 ล้านบาท และกลุ่มกิจการร่วมค้า UN-CCCC ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 23,149 ล้านบาท
ทั้งนี้ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยต่อไปอีกว่า ขั้นตอนจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดความสมบูรณ์ถูกต้องและครบถ้วนของข้อเสนอซองที่ 2 ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย โดยข้อเสนอจะต้องมีความเป็นไปได้และเป็นไปตามข้อกำหนด ก่อนที่จะพิจารณาจัดลำดับเพื่อหาผู้ที่ผ่านการประเมินสูงสุด โดยผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอขอรับค่าตอบแทนต่ำที่สุดและตรวจสอบแล้วว่าข้อเสนอมีความครบถ้วนสมบูรณ์ จะถือว่าเป็น “ผู้ผ่านการประเมินสูงสุด” ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562
และต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดำเนินงานของกรมทางหลวง และขั้นตอนการเจรจากับผู้ผ่านการประเมินสูงสุด ก่อนที่จะประเมินให้เป็น”ผู้ชนะการคัดเลือก” และพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆ ของ พ.ร.บ. เอกชนร่วมลงทุนฯ ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนได้ภายในเดือนมกราคม 2563
สำหรับขอบเขตความรับผิดชอบของเอกชนตามสัญญานี้ ประกอบด้วยงานระยะที่ 1 การลงทุนออกแบบและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางและระบบบริหารจัดการจราจรที่ทันสมัย พร้อมก่อสร้างอาคารต่างๆ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายในระยะเวลา 3 ปี ต่อจากนั้นจะเป็นงานระยะที่ 2 เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทั้งในส่วนของงานโยธาและงานระบบ ตลอดระยะเวลา 30 ปี อาทิเช่น การจัดเก็บเงินค่าผ่านทางนำส่งให้กรมทางหลวง (รัฐเป็นเจ้าของรายได้ค่าผ่านทาง) การบริหารจัดการและควบคุมการจราจร งานด่านชั่งน้ำหนัก งานกู้ภัย การซ่อมแซมบำรุงรักษาถนนและอุปกรณ์ระบบต่างๆ เป็นต้น
โดยเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนการให้บริการ (Availability Payment) หลังจากการเปิดให้บริการเส้นทางเต็มรูปแบบแล้ว ภายในวงเงินรวมไม่เกิน 33,258 ล้านบาท สำหรับสายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และไม่เกิน 27,828 ล้านบาท สำหรับสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81)
ทั้งนี้ หากการปฏิบัติงาน O&M ของเอกชนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ เช่น ความเรียบของผิวถนน การสะท้อนแสงของป้ายและเส้นจราจร ความสว่างของไฟส่องทาง การซ่อมแซมถนนที่ชำรุดเสียหายให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด การจัดการรถติดขัดบริเวณหน้าด่าน การตอบสนองต่ออุบัติเหตุและเหตุการณ์ฉุกเฉิน ความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์งานระบบต่างๆ ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ อัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต การรักษาคุณภาพตามเกณฑ์การประเมินมาตรฐาน ISO เป็นต้น เอกชนจะถูกปรับลดค่าตอบแทนที่จะได้รับในแต่ละไตรมาสตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ต่อไป