“หอการค้าไทย” มองมาตรการกระตุ้นศก. ดัน GDP โตเกิน 0.4% หนุนทั้งปีขยายตัว 3.0-3.4%
"หอการค้าไทย" มองมาตรการกระตุ้นศก. ดัน GDP โตเกิน 0.4% หนุนทั้งปีขยายตัว 3.0-3.4%
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยมีปัจจัยลบมากมาย ทั้ง Trade war เศรษฐกิจจีนชะลอ การส่งออกติดลบ ภัยแล้ง ความเชื่อมั่นลด ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยชะลอตัวลงอย่างมาก ดังนั้นการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย
“มาตรการต่างๆ ที่ออกมา เชื่อว่าจะทำให้เศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น โดยประชาชนในแต่ละกลุ่มจะได้รับประโยชน์แตกต่างกัน โดยคาดว่าผู้มีรายได้น้อยจะซื้อสินค้ามากขึ้นในช่วง 2 เดือนนี้ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมากขึ้น พร้อมการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย เช่นเดียวกันนักธุรกิจก็เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นการบริโภค การลงทุน ความเชื่อมั่น ปริมาณสินเชื่อ และการสร้างสภาพคล่องของธุรกิจ” นายกลินท์ กล่าว
ทั้งนี้การที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากผลสำรวจที่กล่าวมาข้างต้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยและพอใจกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตได้ โดยทางหอการค้าไทยคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจโตอย่างน้อย 0.4% ในปีนี้ และคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวทั้งปีได้ถึงร้อยละ 3.0%-3.4%
สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะใช้เม็ดเงินจำนวน 316,813 ล้านบาท ใน 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรประสบภัยแล้ง โดยแบ่งการศึกษาเป็น 2 ส่วน คือการสำรวจในเชิงวิชาการจากประชาชนทั่วไป และสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มนักธุรกิจของหอการค้าไทย ซึ่งพบว่า ทั้งกลุ่มประชาชนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เพราะจะช่วยเพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชน ทำให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้น ช่วยเหลือคนจน ช่วยเหลือเกษตรกร ในขณะเดียวกัน ก็จะช่วยสร้างสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น
โดยการประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจจากมาตรการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีที่วงเงินถูกใช้ไม่เต็มที่ และกรณีวงเงินที่ถูกใช้มากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณที่เข้ามาในระบบในไตรมาสที่ 3 ประมาณ 47,657.3-61,020 ล้านบาท และในไตรมาสที่ 4 ประมาณ 102,639.9-122,381.8 ล้านบาท เมื่อรวมทั้งปีคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาประมาณ 150,297.2-183,401.8 ล้านบาท และคาดว่าจะทำให้ GDP ของประเทศ ขยายตัวได้ร้อยละ 2.8-3.4% โดยเฉลี่ย 3%
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรเร่งดำเนินการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และควรประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทราบอย่างละเอียด รวมทั้งกลไกการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ ควรอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้เข้าถึงนโยบายของรัฐได้เร็วมากขึ้น ทั้งนี้ ควรระมัดระวังเรื่องของการทุจริตคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณดังกล่าว จึงควรมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่เข้มงวด เพื่อให้งบประมาณถึงมือประชาชนอย่างทั่วถึง