จ่อระดมทุน TFFIF ระลอกสอง! “สคร.” เสนอดึงรายได้รถไฟฟ้า-โทลเวย์-รฟฟ.เข้ากองด้วย
จ่อระดมทุน TFFIF ระลอกสอง! “สคร.” เสนอดึงรายได้รถไฟฟ้า-โทลเวย์-รฟฟ.เข้ากองด้วย
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า มีแนวคิดนำผลตอบแทนจากโครงการรถไฟฟ้าสายม่วงและสายสีน้ำเงิน โครงการมอเตอร์เวย์สาย 7 และ 9 และโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ ทางด่วนดอนเมือง-โทลเวย์ มาเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ หรือ TFFIF) เพื่อระดมทุนมาใช้ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ต้องขึ้นอยู่ว่าโครงการนั้นๆ มีความต้องการเงินทุนหรือต้องการระดมทุนเท่าไหร่ ขณะที่ในส่วนของทางด่วนดอนเมือง-โทลเวย์ ไม่ได้เป็นของหน่วยงานของรัฐ จึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และในหลักการจะต้องไม่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
ส่วนความคืบหน้าการระดมทุนผ่าน TFFIF2 ของกรมทางหลวงนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขกฎหมายของกรมทางหลวง เพื่อให้นำรายได้จากค่าผ่านทางมาเป็นช่องทางระดมทุนผ่าน TFFIF ได้ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และต้องนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎรต่อไป และในเบื้องต้นคาดว่าจะมีการระดมทุนจาก TFFIF 2 ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าของการควบรวม บมจ. ทีโอที (TOT) และบมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาตินั้น นายประภาศ ระบุว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนที่จะนำเสนอครม. ภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยกระบวนการควบรวมต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับจากตั้งแต่มีมติครม.ออกมา
นอกจากนั้น นายประภาศ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใดเสนอเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการเข้ามา มีเพียงการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ที่คณะกรรมการชุดปัจจุบันจะครบวาระในเดือน ต.ค.นี้ แต่ยอมรับว่าบางหน่วยงานที่ยังมีคณะกรรมการไม่ครบอย่างเช่น องค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ขสมก.) ซึ่งสคร.มีหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานกับรัฐมนตรีของต้นสังกัด เร่งรัดสรรหาและนำเสนอคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจชุดใหม่
นายประภาศ ยังมั่นใจว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจในงบประมาณปี 2562 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ 333,951 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดวันที่ 12 ก.ค.รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมเท่ากับ 129,815 ล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ของแผนงาน ส่วนการนำส่งรายได้แผ่นดินในปีนี้ สคร.คาดจะเก็บเงินนำส่งรายได้ตามเป้าหมาย 168,000 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2563 ตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้นำส่ง 188,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 62 ภาพรวมของรัฐวิสาหกิจมีกำไรสุทธิดีขึ้น ทำให้สามารถนำส่งรายได้ 161,677 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 10% จากเป้าหมายรายได้นำส่งสะสม จำนวน 146,784 ล้านบาท และเป้าหมายทั้งปีอยู่ที่ 168,000 ล้านบาท โดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีการนำส่งรายได้สูงสุด เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล
ส่วนรัฐวิสาหกิจกลุ่มพลังงาน ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีการนำส่งรายได้สูงเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกทั้งรัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงินได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการใช้บริการทางการเงินที่หลากหลายของลูกค้าในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานอีกด้วย