ตลาดหุ้นกับทฤษฎีดาว

ตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงที่ผ่านมา เกิดความถี่ของการผันผวนทั้งเชิงลบและเชิงบวก จนยากต่อการกำหนดทิศทางการลงทุนมีการปรับขึ้นแรงและลงแรง จนเปรียบเปรยกันว่า เป็นการเคลื่อนไหวลักษณะเดียวกับกระแสน้ำทะเล ตอนช่วงขาขึ้นระยะทางที่หุ้นจะวิ่งขึ้นสูงกว่าระยะทางที่หุ้นตกลง ในทางกลับกันช่วงขาลงระยะทางที่หุ้นตกลง จะยาวกว่าระยะทางที่หุ้นวิ่งขึ้น


พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง

ตลาดหุ้นทั่วโลกช่วงที่ผ่านมา เกิดความถี่ของการผันผวนทั้งเชิงลบและเชิงบวก จนยากต่อการกำหนดทิศทางการลงทุนมีการปรับขึ้นแรงและลงแรง จนเปรียบเปรยกันว่า เป็นการเคลื่อนไหวลักษณะเดียวกับกระแสน้ำทะเล ตอนช่วงขาขึ้นระยะทางที่หุ้นจะวิ่งขึ้นสูงกว่าระยะทางที่หุ้นตกลง ในทางกลับกันช่วงขาลงระยะทางที่หุ้นตกลง จะยาวกว่าระยะทางที่หุ้นวิ่งขึ้น

กรอบการเคลื่อนไหวดังกล่าว ทำให้นึกถึง “ทฤษฎีดาว (Dow’s Theory) ที่ถูกยกย่องให้เป็น “บิดาของการวิเคราะห์หุ้นทางเทคนิคตะวันตก” ที่มีกรอบความคิดว่า “การขึ้นลงของหุ้นเปรียบเสมือนการขึ้นลงของน้ำทะเล เวลาน้ำทะเลขึ้นคลื่นลูกหลังมันจะสูงกว่าลูกหน้าเสมอ แต่ในทางกลับกันเวลาน้ำทะเลลงคลื่นลงหลังจะต่ำกว่าลูกแรกเสมอนั่นเอง

จุดกำเนิด “ทฤษฎีดาว” มาจาก Charles Henry Dow ผู้ก่อตั้งสำนักหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal โดย Charles Henry Dow เป็นนักเศรษฐศาสตร์การเงิน ด้วยยุคสมัยนั้นเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์หุ้น มีขอบเขตที่จำกัดทางเทคโนโลยีจึงยากต่อการอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เขาสร้างดัชนีตัวหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า “ดาวโจนส์” โดยนำหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงกลุ่มหนึ่งมาคำนวณเป็นดัชนี เพื่อแทนภาพรวมของตลาด เพื่ออธิบายภาวะของตลาดได้ง่ายและเห็นภาพมากยิ่งขึ้น

จากนั้น Charles Henry Dow นำเอาตัวเลขดัชนีดาวโจนส์ มาวาดเป็นกราฟและนำเสนอแก่ผู้อ่านว่า มันมีรูปแบบที่แสดงความสัมพันธ์ของราคาและปริมาณการซื้อขายกับแกนเวลา จากนั้นเขาได้เปลี่ยนจากบทวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานมาเป็น บทวิเคราะห์วิจารณ์หุ้นด้วยกราฟแทน

ต่อมา Charles Henry Dow เสียชีวิตลง  แฟนหนังสือและเพื่อนของเขา มีการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในหนังสือของเขา จนทำให้เกิดเป็นทฤษฎีดาว (Dow’s Theory) มาจนถึงปัจจุบัน โดยกรอบความคิด “ทฤษฎีดาว” แบ่งแนวโน้มราคาหุ้นออกเป็น 3 ประเภท คือ..

1)แนวโน้มใหญ่ หรือแนวโน้มหลัก (Primary Trend) แนวโน้มประเภทนี้ จะกินเวลาการเคลื่อนที่ ตั้งแต่ 200 วันขึ้นไป อาจยาวนานถึง 4 ปี โดยมีลักษณะการเคลื่อนไหว อย่างเช่นแนวโน้มขาขึ้น จุดต่ำสุดของคลื่นใหม่ จะสูงกว่าคลื่นเก่าเสมอ ในทางตรงกันข้ามจุดสูงสุดของคลื่นใหม่ จะสูงกว่า คลื่นเก่าเสมอ และเมื่อราคาขึ้นจะกินระยะเวลานานกว่าลงเสมอ

ส่วนแนวโน้มขาลง จุดต่ำสุดของคลื่นใหม่ จะต่ำกว่า คลื่นเก่าเสมอ ในทางกลับกันจุดสูงสุดของคลื่นใหม่จะต่ำกว่า คลื่นเก่าเสมอ และเมื่อราคาลงจะกินระยะเวลานานกว่าขึ้นเสมอ

2)แนวโน้มรองหรือแนวโน้มระยะกลาง (Intermediate Trend) มีระยะเวลาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน เป็นแนวโน้มที่ราคาไม่เคลื่อนที่ไปตามแนวโน้มใหญ่ แต่จะทำแนวโน้มเป็นของตัวเอง สามารถเป็นได้ทั้งแนวโน้มขาขึ้น แนวโน้มขาลง และแนวโน้ม sideway แต่การเคลื่อนที่จะยังวิ่งอยู่ภายใต้ของแนวโน้มใหญ่ (ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการพักฐานของแนวโน้มใหญ่ เพื่อจะวิ่งไปต่อตามแนวโน้มเดิม)

3)แนวโน้มย่อย (Minor Trend) เป็นแนวโน้มที่นักวิเคราะห์คิดว่าไม่มีนัยสำคัญ เพราะเป็นการแกว่งตัวเล็ก ๆ ในส่วนของแนวโน้มรองเท่านั้น เฉลี่ยกินเวลาประมาณ 3 สัปดาห์

จึงเป็นการบ้านที่นักวิเคราะห์ต้องมานั่งขบคิดร่วมกันว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกที่เป็นอยู่ขณะนี้จะอยู่ช่วงไหนของ “ทฤษฎีดาว” กันแน่.? นั่นหมายถึงทำให้นักลงทุนรู้ว่าตอนนี้เราอยู่ที่แนวโน้มไหน เพื่อจะได้เตรียมตัววางแผนรับมือกับตลาดได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวกันต่อไป

Back to top button