PTTGC วางเป้าเพิ่มพอร์ตสินค้าเคมีภัณฑ์แตะ 30% ในปี 73 หวังลดปัญหาขยะพลาสติก

PTTGC วางเป้าเพิ่มพอร์ตสินค้าเคมีภัณฑ์แตะ 30% ในปี 73 หวังลดปัญหาขยะพลาสติก


นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้น บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายที่จะมีผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Performance Materials and Chemicals) และผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Chemicals) ในพอร์ตของบริษัทเพิ่มเป็น 30% ภายในปี 2573 จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 10% และวางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าการผลิตเม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single use) ของกลุ่มบริษัทจะหมดไป เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกและสร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น ตลอดจนลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วย

นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ขนาด 4.5 หมื่นตัน/ปี ร่วมกับบริษัท แอลพลา กรุ๊ป จำกัด (ALPLA) จากยุโรป ในสัดส่วน 70:30 ตามลำดับ ซึ่งจะมีการลงนามสัญญาร่วมทุนในวันที่ 4 ก.ย.นี้ โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จใน 1 ปีครึ่ง และก็มีโอกาสที่จะขยายได้หากโครงการแรกประสบความสำเร็จ

สำหรับการที่จะร่วมมือกันเพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก มีอยู่ 3 ส่วนด้วยการไม่ใช้ การนำมารีไซเคิล และการผลิตสินค้าไบโอพลาสติก ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทให้ความสำคัญกับงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวทาง Sustainable Business โดยในปีนี้มีงบลงทุนสำหรับ R&D ประมาณ 1.6 พันล้านบาท หรือราว 4% ของกำไรสุทธิ

ด้านนายคงกระพัน กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่มีความรุนแรงขึ้น บริษัทก็จะปรับตัวเองให้มีความเข็งแรง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของสภาพตลาด ส่วนในระยะสั้นก็วางเป้าหมายลดต้นทุนราว 10% และขยายตลาดอื่นเพิ่มเติม รวมถึงการทำประกันความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ ด้วย ขณะที่ปัจจุบันสถานการณ์มาร์จิ้นโรงกลั่น และอะโรเมติกส์ดีขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 2/62  ส่วนสายโอเลฟินส์และโพลิเมอร์ยังไม่ดีมากนัก

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า แม้ว่าจะมีเรื่องสงครามการค้าเกิดขึ้น แต่เชื่อว่าผลกระทบไม่มาก เพราะผลิตภัณฑ์ที่ได้จะขายในสหรัฐเป็นหลัก โดยสหรัฐนับว่าเป็นตลาดใหญ่ และมีต้นทุนวัตถุดิบอย่าง Shale gas ที่ถูก อย่างไรก็ตามการดำเนินการจะยังต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังและรอบคอบ

Back to top button