พาราสาวะถี

วันนี้ มีสองเรื่องสำคัญให้ตามลุ้นกัน เรื่องแรกผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณากรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย อัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ยื่นร้องขอให้วินิจฉัยการนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ขัดรัฐธรรมนูญต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยหรือไม่ โดย รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการระบุว่า ยังมีคำร้องของนักศึกษารามคำแหงในกรณีเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามา


อรชุน

วันนี้ มีสองเรื่องสำคัญให้ตามลุ้นกัน เรื่องแรกผู้ตรวจการแผ่นดินจะพิจารณากรณีที่ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย อัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ยื่นร้องขอให้วินิจฉัยการนำคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ขัดรัฐธรรมนูญต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยหรือไม่ โดย รักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการผู้ตรวจการระบุว่า ยังมีคำร้องของนักศึกษารามคำแหงในกรณีเดียวกันเพิ่มเติมเข้ามา

โดยผู้ร้องคือ ภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่นอกจากยื่นร้องว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่แล้ว ยังได้ยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาเพิ่มเติมว่า การกระทำดังกล่าวมีผลทำให้การกระทำ ในเวลาต่อมาของรัฐบาล เช่น การตั้งคณะรัฐมนตรี การแถลงนโยบาย การโยกย้ายข้าราชการเป็นโมฆะไปด้วยหรือไม่

เนื่องจากคนที่ร้องมองเห็นว่าตัวเองในฐานะประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีได้แถลงนโยบาย หรือให้คำมั่นสัญญาเมื่อเข้าปฏิบัติหน้าที่ในกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ก็จะไม่ได้รับการปฏิบัติตามที่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีระบุไว้ จึงถือว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญระบุให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพดังกล่าว มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินได้

คงต้องรอดูกันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินจะมีบทสรุปต่อเรื่องนี้อย่างไร โยนเผือกร้อนให้องค์กรที่มีอำนาจวินิจฉัยพิจารณาต่อหรือเลือกที่จะจบด้วยตัวเอง ส่วนอีกเรื่องกกต.จะพิจารณากรณีที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปยื่นให้ยุบพรรคตัวเอง หากวิเคราะห์จากสิ่งที่คนซึ่งไปยื่นร้องให้ยุบกรณีนี้ไม่น่าจะมีอะไรซับซ้อนกกต.น่าจะปิดเกมได้เร็ว แม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์ในหลายแง่มุมแต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นของบุคคลอื่นที่ไม่มีอำนาจโดยตรง

แน่นอนว่า สำหรับบุคคลที่มองต่างมุมจากไพบูลย์มีทั้ง สามารถ แก้วมีชัย และ สมชัย ศรีสุทธิยากร ที่มองว่า กระบวนการยุบและตัวคนที่เป็นส.ส.จะย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐเลย มันไม่น่าจะเป็นไปโดยง่ายดาย โดยไม่มีกระบวนการอื่นใด โดยสามารถมองว่ากรณีนี้ไม่น่าจะทำได้ แม้จะอ้างว่าทำตามข้อบังคับพรรคที่เขียนไว้ นอกจากจะขัดกับรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังห้ามควบรวมพรรคหลังเลือกตั้ง จะควบรวมได้ต้องหลังสภาสิ้นวาระหรือหลังสภาถูกยุบเท่านั้น

ไม่ว่าจะโดยลายลักษณ์อักษรหรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงกระทำไม่ได้เด็ดขาด มิเช่นนั้น ก็จะเปิดช่องให้มีการกวาดต้อนส.ส.จากพรรคเล็กเข้าพรรคใหญ่ด้วยวิธีขอเลิกกิจการพรรคกันหมด

ขณะที่สมชัยชี้ว่าหากยุบพรรคของไพบูลย์แล้ว จะต้องนำคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปกว่า 45,000 คะแนนลบออก และนำไปคำนวณใหม่ ซึ่งไพบูลย์สามารถไปสังกัดเฉพาะพรรคที่จะได้ส.ส.พึงมีเพิ่มขึ้นเท่านั้น หากพรรคที่จะได้จำนวนส.ส.เพิ่มมากขึ้นไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐไม่รู้ว่าจะรับไพบูลย์หรือไม่ นอกจากนี้ หากไพบูลย์ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ ถามว่าจะแทรกลำดับของผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่กกต.ต้องหาคำตอบให้ได้

อย่างไรก็ตาม สดศรี สัตยธรรม อดีตกกต.อีกรายกลับมองว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหาซับซ้อน การยุบพรรคของไพบูลย์ไม่ได้มีปัญหาในข้อกฎหมายใด เพราะในวรรคท้ายของมาตรา 91 ของกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ระบุไว้ชัด เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้ถือว่าการสิ้นสภาพของพรรคการเมืองตามมาตรานี้ เป็นการถูกยุบพรรคการเมือง และไม่จำเป็นต้องมีการคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีใหม่แต่อย่างใด

น่าสนใจในความเห็นของสดศรีที่เป็นอดีตผู้พิพากษาซึ่งมองไปยังการรัฐธรรมนูญขององคาพยพเผด็จการคสช.ว่า มีความฉลาดล้ำลึกเป็นอย่างมากมีการวางหมากหลายชั้น คาดการณ์ล่วงหน้าหลายช็อต ล็อกให้กลายเป็นแบบนี้ หากเป็นความเห็นส่วนตัวถ้าไม่มีวรรคท้ายของมาตรา 91 ของกฎหมายพรรคการเมืองก็คงต้องมีการคำนวณส.ส.ใหม่ พอมีวรรคท้ายก็เลยเป็นการเลี่ยงประเด็นนี้ไปโดยปริยาย แหม! ก็เขาทำมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะอยู่แล้ว สิ่งสำคัญกกต.ชุดนี้ไม่ต้องเป็นห่วงปมคำนวณปาร์ตี้ลิสต์การันตีคุณภาพ

เสียงวิจารณ์ยังไม่จบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลด้วยการแจกแหลก ล่าสุด เป็น อาทิตย์ อุไรรัตน์ ตั้งคำถามทำไมรัฐบาลจึงคิดออกแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินคนจนให้ซื้ออาหารข้าวของอุปโภคบริโภค แจกเงินคนไปเที่ยวเพื่อเป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร และค่าจับจ่ายใช้สอย  และการแจกเงินเพื่อหวังว่าจะเป็นแรงกระเพื่อมเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่ไม่รู้เหมือนกันว่าโยนก้อนหินลงในมหาสมุทรแล้ว จะทำให้มหาสมุทรกระเพื่อมเพียงใด

มาตรการการแจกเหล่านี้ก็รู้กันอยู่ว่าไม่ได้สร้างความเติบโตที่ยั่งยืนแก่เศรษฐกิจ มิหนำซ้ำ ยังตรงข้ามกับคำสอนของศาสตร์พระราชาโดยสิ้นเชิง ที่ท่านเคยสอนไว้ว่า แทนที่จะเอาปลาให้เขาสอนให้เขาตกปลาไม่ดีกว่าหรือ สิ่งที่ทำเป็นการส่งเสริมสนับสนุนนายทุนใหญ่ได้อภิสิทธิ์ผูกขาดแทบทุกสิ่งทุกอย่าง และต้อนให้คนจนส่วนใหญ่จนแทบไม่มีที่อยู่ที่ยืนบนผืนแผ่นดินไทย แล้วไปโยนเศษปลาให้คนละตัวสองตัว ถึงจะประทังชีวิตได้วันหนึ่ง แต่ก็ต้องอดอีกต่อไป

สอดรับกับ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่วิจารณ์นโยบายดังกล่าว หวังอะไรไม่ได้เลย แน่นอนว่า นอกจากกระบอกเสียงทั้งหลายจะออกมาตอบโต้แล้ว ท่านผู้นำสืบทอดอำนาจก็จะตำหนิอีกว่าเป็นพวกมือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนั้นหาได้เข้าใจในกลไกที่จะขับเคลื่อนอันมาจากข้อเสนอของพวกสอพลอไม่  มีแต่ฝันตามรายงานและสคริปต์ที่ได้รับเวลาจะพูดบนเวที วันนี้เอาแค่เรื่องข้าวเหนียวราคาแพงที่นายทุนได้ประโยชน์แต่ชาวนามองตาปริบ ๆ อยากฟังวิสัยทัศน์ท่านผู้นำว่ารู้ เข้าใจและจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

Back to top button