อาจไม่ใช่ขาลงแต่ไม่ใช่ขาขึ้น (2) (ตอนจบ)
ตัวเลขล่าสุดของปีงบประมาณระบุว่าสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณ 7.79 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้วโดยมีสาเหตุจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% ก่อนหน้านี้ ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มจากปีก่อน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ทำให้รายจ่ายพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีแต่รายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยซึ่งผิดคาดมากจากเดิมที่เชื่อในเหตุกันว่าการลดภาษีจะย้อนกลับมาทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เน้น “ใช้อุปทานสร้างอุปสงค์” ที่เคยใช้ได้ผลในยุคโรนัลด์ เรแกน เมื่อกว่า 30 ปีก่อน
พลวัตปี 2019 : วิษณุ โชลิตกุล
ตัวเลขล่าสุดของปีงบประมาณระบุว่าสหรัฐฯ ขาดดุลงบประมาณ 7.79 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 17% จากปีที่แล้วโดยมีสาเหตุจากการที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสู่ระดับ 21% จากระดับ 35% ก่อนหน้านี้ ขณะที่การใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มจากปีก่อน 3.0 แสนล้านดอลลาร์ทำให้รายจ่ายพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปีแต่รายได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยซึ่งผิดคาดมากจากเดิมที่เชื่อในเหตุกันว่าการลดภาษีจะย้อนกลับมาทำให้รายได้ภาษีเพิ่มขึ้นตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เน้น “ใช้อุปทานสร้างอุปสงค์” ที่เคยใช้ได้ผลในยุคโรนัลด์ เรแกน เมื่อกว่า 30 ปีก่อน
ก่อนหน้านี้นางเยลเลนได้เคยออกมาเตือนถึงความเสี่ยงที่เป็นผลมาจากความหละหลวมของมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อในตลาดซึ่งส่งผลตัวเลขหนี้สินภาคเอกชนในปัจจุบันของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์
นางเยลเลนเตือนว่าปัญหาหนี้ของรัฐบาลจะมีความรุนแรงและจะระบาดหนักในช่วงที่คนเกิดยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงวัยเกษียณพอดีซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีรายจ่ายเกี่ยวกับเงินบำเหน็จบำนาญและค่ารักษาพยาบาลมากมาย
มองไปในอนาคตตัวเลขคาดการณ์ล่วงหน้าของสำนักงานกรรมาธิการงบประมาณของรัฐสภา (CBO-Congressional Budget Office) ระบุว่ายอดขาดดุลงบประมาณล่าสุดที่เป็นสถิติใหม่สิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา 8.04 แสนล้านดอลลาร์ (จากประมาณการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ 5.63 แสนล้านดอลลาร์) นั้นยังต่ำไปในอนาคตสิ้นปีค.ศ. 2020 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าจะเกิน 1 ล้านล้านดอลลาร์
สำนักงบประมาณแห่งสภาคองเกรส (CBO) คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะพอกพูนขึ้นจนถึงระดับ 900,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้
ยอดสะสมหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ มีความหมายมากกว่าปกติตรงที่ว่าอัตราการเติบโตของหนี้ได้แซงหน้าอัตราการเติบโตของจีดีพีในแต่ละปีมากขึ้นต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
หากนำข้อมูลในสิ้นปีที่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เกิดขึ้นค.ศ. 2008 มาเทียบตัวเลขข้างต้นจะยิ่งสยดสยองมากขึ้นเพราะในปีนั้นสหรัฐฯ มีขนาดจีดีพีที่ระดับ 14.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มียอดหนี้สาธารณะต่ำกว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยอดหนี้ที่ระดับ 22 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยืนยันว่าภายใน 10 ปีมานี้อัตราเติบโตของหนี้สาธารณะสูงมากถึง 123% โดยมีขนาดคิดเป็น 106% ของจีดีพีส่งผลให้ต้องทำงบประมาณขาดดุล
สหรัฐฯ เคยทำงบประมาณเกินดุลได้อยู่ 4 ปีในยุคของประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งเศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟูสุดขีดก่อนที่บัญชีงบดุลจะกลับมาติดลบตัวแดงอีกครั้งหลังจากประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู.บุช นำกองทัพสหรัฐฯ บุกอิรักนโยบายลดภาษีที่ทรัมป์ประกาศใช้เมื่อปลายปี 2017 รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณสูงขึ้นโดยเฉพาะในด้านกลาโหมยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้สหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตที่สุดในโลกต้องเผชิญปัญหาขาดดุลงบประมาณมากขึ้น
ดูเหมือนคำเตือนทั้งหลายจะไม่เข้าหูทรัมป์เอาเลยเพราะข้อเรียกร้องให้เฟดลดดอกเบี้ยลงอีก 1% ในอีก 6 เดือนข้างหน้ามันง่ายมากแม้จะทำยากลำบาก
จากการฉายภาพอนาคต CBO ระบุว่างบประมาณปีหน้าคาดว่าจะติดลบหรือขาดดุลประมาณ 9.81 แสนล้านดอลลาร์และคาดว่าภายใน 11 ปีข้างหน้าตัวเลขขาดดุลงบประมาณจะพอกพูนไปที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ แต่นักลงทุนส่วนหนึ่งเชื่อว่าน่าจะมากกว่าเพราะรายได้จากภาษีที่ลดลงจากผลพวงสงครามการค้า
ข้อเท็จจริงที่หนี้สาธารณะจะทะลุเพดานขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามการขาดดุลงบประมาณพร้อมกับคำถามเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น (โดยไม่ต้องขึ้นภาษี) ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยแบบที่เคยเกิดกับเมืองดีทรอยต์เมื่อหลายปีก่อน
ที่สำคัญการที่รัฐบาลมีหนี้เพิ่มขึ้นต้องออกพันธบัตรมาดูดซับเงินจากตลาดทวีคูณทำให้เฟดเกิดลำบากในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะถ้าขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นภาระต่อรัฐบาลในการชำระคืนหนี้แต่จะลดก็ยากเพราะรัฐบาลอเมริกันต้องออกพันธบัตรมาแย่งทุนเอกชนมากขึ้น
โดนัลด์ ทรัมป์ เคยทำให้ดัชนีดาวโจนส์นิวไฮมาหลายรอบ แต่ไม่ใช่ในอนาคตแน่นอน