พาราสาวะถี
วานนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธีรับพระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์ในโอกาสที่นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยืนยันหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ผมไม่อาจจะกล่าวได้ว่าจะสามารถไปจบเรื่องอื่นได้หรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่พวกเราคือ คณะรัฐมนตรีทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ” โดยที่ก่อนเข้าสู่พิธีก็มีวลีเด็ดว่า “อย่าไปวิจารณ์อะไรกันให้มากนัก”
อรชุน
วานนี้ หลังเสร็จสิ้นพิธีรับพระราชดำรัสและลายพระราชหัตถ์ในโอกาสที่นำคณะรัฐมนตรีเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยืนยันหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “ผมไม่อาจจะกล่าวได้ว่าจะสามารถไปจบเรื่องอื่นได้หรือไม่ แต่ก็เป็นเรื่องที่พวกเราคือ คณะรัฐมนตรีทุกคนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ” โดยที่ก่อนเข้าสู่พิธีก็มีวลีเด็ดว่า “อย่าไปวิจารณ์อะไรกันให้มากนัก”
อย่างไรก็ตาม คล้อยหลังจากนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีพลเอกประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญและเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบมาตรา 46 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 และ มาตรา 22 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 หรือไม่
แต่ได้ตีตกคำร้องของ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และ อัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัย โดยผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า การกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมายหรือการกระทำทางปกครอง พร้อมทั้งตีตกเรื่องร้องของ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ปมเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าทุกอย่างเป็นไปโดยชอบแล้ว
ทั้งนี้ มีคำถามตามมาว่า แล้วกระบวนการของฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญนั้นจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ปิยบุตร แสงกนกกุล ยืนยันว่า แม้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรยังสามารถพิจารณาญัตติดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการ รัฐสภากับศาลรัฐธรรมนูญมีศักดิ์และสิทธิ์เท่ากันไม่มีใครด้อยไปกว่าใคร
ส่วนประเด็นที่เกิดคำถามตามมาว่า กรณีที่รัฐบาลได้จัดพิธีรับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อน้อมรับเป็นสิริมงคลนั้น จะมีผลต่อกระบวนการที่ฝ่ายต่าง ๆ ดำเนินการเรื่องการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบถ้วนหรือไม่ ปิยบุตรยืนยัน โดยยกความเห็นของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งใหม่ การถวายสัตย์ปฏิญาณมีไปแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนเรื่องการรับพระราชดำรัสพร้อมลายพระราชหัตถ์นั้นมีมาหลายรัฐบาล แต่ต่างกันตรงที่วิธีการ
ทั้งนี้ ปิยบุตรได้ยกเอาหนังสือหลังม่านการเมืองของวิษณุมาอธิบายต่อเรื่องดังกล่าวด้วยว่า เมื่อนายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ฯ เมื่อถวายสัตย์ฯ เสร็จแล้ว โดยทั่วไปพระมหากษัตริย์จะมีพระราชดำรัส เพื่ออำนวยพรหรือให้กำลังใจแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติหน้าที่ในฝ่ายบริหารต่อไป ในอดีตที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีก็ได้มีการนำพระราชดำรัสเหล่านี้มาเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารประเทศ
โดยวิษณุได้เขียนไว้ว่าในสมัยบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการขอพระบรมราชานุญาตนำพระราชดำรัสมาตีพิมพ์เป็นลายลักษณ์อักษรเข้ากรอบรูปสวยงามแจกรัฐมนตรีทุกคน เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจในการทำงาน แต่ครั้งนี้ที่พลเอกประยุทธ์ทำนั้นเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิธีดังกล่าว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จะทำแบบที่นายบรรหารทำหรือคณะรัฐมนตรีชุดอื่นหรือพลเอกประยุทธ์ทำก็ถือว่าไม่ใช่การถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่
แน่นอนว่า เรื่องที่เป็นสิริมงคลและเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความซาบซึ้งของผู้ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ รวมทั้งคนไทยทุกคนที่ได้ติดตามข่าวนี้ด้วย ส่วนเรื่องปัญหาการถวายสัตย์ฯ ไม่ครบของพลเอกประยุทธ์นั้น ยังคงต้องดำเนินการกันต่อไปเพื่อให้ได้ข้อสรุป เนื่องจากสิ่งที่ได้ทำผิดพลาดไปนั้น มันจะกลายเป็นบรรทัดฐานในอนาคต แน่นอนว่า หากไม่ทำให้เรื่องนี้จบมันจะกลายเป็นการสร้างปัญหาที่มิบังควรในวันข้างหน้าได้
คงต้องอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า จะพิจารณาประเด็นนี้อย่างไร ขณะเดียวกัน เพิ่งทราบจากคำแถลงของโฆษกรัฐบาลว่า เหตุที่ท่านผู้นำไม่ไปตอบกระทู้ถามของฝ่ายค้านในเรื่องนี้นั้น ไม่ใช่การหนีสภา แต่เป็นเพราะไม่มีการประสานงานมาจากทางสภาฯ โดยอ้างว่ามีการประสานมาเพียงแค่ครั้งแรกตอนที่ท่านผู้นำจะเดินทางไปราชการที่ยะลาเท่านั้น ส่วนการประชุมสภาฯ หลังจากนั้นไม่ได้รับหนังสือประสานงานแต่อย่างใด ประเด็นนี้คงต้องไปไล่บี้เอากับ ชวน หลีกภัย ว่าเป็นไปตามที่กระบอกเสียงรัฐบาลว่ามาหรือไม่
เพราะหากย้อนกลับไปดูบทสัมภาษณ์ของจอมหลักการก็ย้ำมาโดยตลอดว่าได้ประสานกับทางฝ่ายรัฐบาลโดยตลอด และก็ได้รับคำตอบว่านายกฯ ไม่ว่าง คงต้องรอฟังว่าประธานสภาฯ จะชี้แจงเรื่องนี้อย่างไร แต่เวลานี้คงไม่จำเป็นที่จะต้องมาฟังคำแก้ตัวเรื่องการไปตอบกระทู้แล้ว เนื่องจากมีญัตติที่ฝ่ายค้านยื่นไว้จะมีการบรรจุให้ทันสมัยประชุมที่จะเปิดสภาฯ กันในวันที่ 19 กันยายนนี้หรือไม่ และคนที่บอกว่าไม่ได้หนี ไม่ได้กลัวสภาฯ จะไปตอบเองหรือไม่
ขณะเดียวกัน ทางพรรคฝ่ายค้านปมว่าด้วยส.ส.เพื่อไทยวิเคราะห์แนวโน้มการยุบพรรคอนาคตใหม่ นำมาซึ่งความไม่พอใจของฝ่ายที่ถูกวิจารณ์ไม่น้อย ล่าสุด ปิยบุตรก็ออกมาย้ำอีกรอบว่าคนที่พูดทั้ง สุทิน คลังแสง และ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว น่าจะบอกกันตรง ๆ เวลาที่เจอในสภาฯ ไม่ใช่การไปพูดบนเวทีกิจกรรมแบบนั้น เพราะจะทำให้สมาชิกพรรคอนาคตใหม่เสียความเชื่อมั่น แล้วก็ต้องตามแก้ปัญหากันไม่หยุดหย่อน
แม้จะยืนยันว่าสัมพันธ์พรรคฝ่ายค้านยังเหนียวแน่น แต่ที่ปิยบุตรบอกว่า “การสื่อสารความหวังดีให้มาบอกกันตรง ๆ เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ไม่ทราบว่าความหวังดีนั้นคุณต้องการพูดกับใคร ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ผมไม่เคยวิเคราะห์สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยแบบที่พรรคเพื่อไทยทำกับพรรคอนาคตใหม่” ถือเป็นปฏิกิริยาที่น่าคิดอยู่ไม่น้อยจะเกิดรอยปริแยกจนยากประสานหรือไม่น่าติดตาม แต่ข่าวนี้คงทำให้ฝ่ายเสี้ยมคงคึกคักกันน่าดู