EGCO มั่นใจกำไรปี 62 โตตามเป้า 6% จ่อปิดดีลซื้อธุรกิจพลังงานสัปดาห์นี้
EGCO มั่นใจกำไรปี 62 โตตามเป้า 6% จ่อปิดดีลซื้อธุรกิจพลังงานสัปดาห์นี้
นายจักษ์กริช พิบูลย์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์กำไรจากการดำเนินงานในปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายราว 6% จากระดับ 9.2 พันล้านบาทในปีที่แล้ว แม้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะทำกำไรจากการดำเนินงานได้ 5.5 พันล้านบาท เติบโต 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนก็ตาม แต่เนื่องจากในช่วงปลายปีจะมีโรงไฟฟ้าหลายแห่งหยุดซ่อมบำรุงตามแผนงานประจำปี เช่น โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี หยุดในช่วงเดือน พ.ย.และ ธ.ค. และโรงไฟฟ้าขนอม หยุดในช่วงเดือน ต.ค.และ พ.ย.
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาส 4/62 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จาก 2 โครงการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนรวม 383 เมกะวัตต์ (MW) ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน ซานบัวนาเวนทูรา ในฟิลิปปินส์ ขนาด 455 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 49% และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในลาว ขนาด 1,280 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 12.5% ก็จะเข้ามาช่วยหนุนผลประกอบการ แต่คงจะไม่มากนักเพราะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในช่วงปลายปี
สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ บริษัทยังคงมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่มีเงินสดอยู่ราว 2 หมื่นล้านบาทพร้อมรองรับการลงทุนใหม่ ๆ โดยคาดว่าในช่วง 1-2 วันนี้จะสามารถปิดดีลการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ธุรกิจพลังงานในประเทศอย่างน้อย 1 ดีล และยังได้ร่วมกับพันธมิตรเพื่อเข้าประมูลลงทุนโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในไต้หวัน ซึ่งเป็นโครงการ Greenfield จำนวน 2 โครงการ คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ โดยมองไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน
นอกจากนี้ ยังมองโอกาสขยายลงทุนในประเทศที่มีฐานอยู่แล้ว เช่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ และตลาดในประเทศใหม่ ๆ นอกจากไต้หวัน ก็จะเป็นเมียนมาและเวียดนาม แต่การลงทุนในเวียดนามต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันมีหลายโครงการที่มีการก่อสร้าง แต่ไม่สามารถส่งไฟฟ้าได้ตามปริมาณที่กำหนดเพราะมีข้อจำกัดเรื่องสายส่ง
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโครงการในมือที่อยู่ระหว่างสรุปแผนลงทุนในเวียดนาม คือโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กวางจิ ขนาด 1,220 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนอร์ชั่นแนล จำกัด (EGATi) และ Kyushu Electric Power ในสัดส่วน 30:40:30 ตามลำดับ โดยสถานะปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาซื้อขายไฟฟ้า, เจรจางานรับเหมาก่อสร้าง,เจรจาสัญญาซื้อขายถ่านหิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเดือน ก.ย.หลังจากนั้นจะเจรจาเรื่องจัดหาเงินกู้ คาดว่าจะสรุปแผนและนำไปสู่การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในปลายปี 63 ขณะที่การก่อสร้างจะใช้ระยะเวลา 4 ปี แล้วเสร็จพร้อม COD ในปลายปี 67
นายจักษ์กริช กล่าวอีกว่า บริษัทยังให้ความสนใจลงทุนธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก เช่น ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงธุรกิจในกลุ่ม S-Curve เพื่อให้สอดรับกับยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruptive Technology)
สำหรับธุรกิจ LNG นั้นปัจจุบันบริษัทได้ร่วมกับ SK E&S ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นพันธมิตรในโรงไฟฟ้า Paju และมีความเชี่ยวชาญธุรกิจ LNG เพื่อแสวงหาโอกาสลงทุน LNG ในไทย ซึ่งเดิมบริษัทมองโอกาสที่จะได้เข้าลงทุน LNG ที่เกี่ยวเนื่องกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้รับสิทธิที่จะจัดหาและนำเข้า LNG ในระยะยาว แต่ล่าสุดรัฐบาลได้ปรับแผนและให้สิทธิกฟผ.ทดลองนำเข้า LNG ในตลาดจร (spot) เท่านั้น ทำให้อาจเป็นข้อจำกัดลงทุน LNG ในไทย แต่บริษัทก็ยังมองโอกาสลงทุน LNG ในต่างประเทศเพิ่มเติม ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรอีกรายเพื่อนำไปสู่การลงนามสัญญาร่วมลงทุนธุรกิจซื้อขาย LNG ในต่างประเทศ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในต้นปี 63
ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่จะจัดตั้งในพื้นที่โรงไฟฟ้าระยองที่หมดอายุไปแล้วนั้น เบื้องต้นจะดำเนินการภายใต้ชื่อ “นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง”บนพื้นที่ 500 ไร่ เพื่อพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในลักษณะ Smart Industrial Estate รองรับการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะได้รับอนุมัติในช่วงกลางปี 63 หลังจากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าในพื้นที่ปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็จะหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญมาเข้าร่วมลงทุนด้วย โดยคาดว่าจะได้เริ่มพัฒนาพื้นที่ในอีก 2 ปีหลังจากนั้น
ด้านการลงทุนในปีนี้ บริษัทวางเป้าหมายใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ซื้อกิจการโรงไฟฟ้า Paju ในเกาหลีใต้ และใช้พัฒนาโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยในช่วงครึ่งแรกปีนี้ใช้เงินลงทุนไปแล้ว 2.64 หมื่นล้านบาท
สำหรับราคาหุ้น EGCO ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ในระดับมากกว่า 300 บาทในปัจจุบัน จะทำให้บริษัทศึกษาเรื่องการแตกมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หรือไม่นั้น ก็มีการพิจารณาตามแผนปกติ แต่บริษัทยังไม่มีคำตอบในขณะนี้
“ยังไม่มีคำตอบเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติของคนที่บริหารเรื่องการเงิน ต้องมองหลาย ๆ อย่างเพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้ประโยชน์สูงสุด ทุกเรื่องไม่ใช่เรื่องแตกพาร์อย่างเดียว เราก็ดูอยู่ แต่ไม่มีคำตอบ คือไม่ได้ว่าเราจะแตกไม่แตก เป็นเรื่องปกติ ยังมีเวลา ไม่รีบร้อนอะไร เรื่องนี้ดาบสองคม ต้องดูให้ดี”นายจักษ์กริช กล่าวตอบคำถามกรณีมีแนวคิดการแตกพาร์หรือไม่
โดยปัจจุบัน EGCO มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 27 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 5,147 เมกะวัตต์ใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 โครงการ คิดเป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 554 เมกะวัตต์
ได้แก่ โรงไฟฟ้าไซยะบุรี จะเริ่ม COD ในไตรมาส 4/62 , โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา เริ่ม COD ในไตรมาส 4/62 , โรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 1 ในลาว เริ่ม COD ไตรมาส 2/65 และโรงไฟฟ้ากังดง ในเกาหลีใต้ เริ่ม COD ไตรมาส 4/63 ขณะที่วางเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 30% ใน 10 ปีจากปัจจุบันที่อยู่ราว 17%
ด้านนายกัมปนาท บำรุงกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกลยุทธ์และบริหารสินทรัพย์ ECGO กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นข้อเสนอการขายไฟฟ้าสำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาในปี 62-68 (SPP Replacement) ให้แก่ กฟผ.จำนวน 1 โครงการ คือ เอ็กโก โคเจนระยอง รวม 30 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้า SPP Replacement ขนาดราว 120 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือขายให้กับ กฟผ.ก็จะจำหน่ายให้กับลูกค้าอุตสากรรม
ส่วนโครงการ SPP ที่จะหมดอายุของบริษัทอีก 3 โครงการ ไม่ได้ยื่นต่อสัญญา เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ได้แก่ โครงการที่สระบุรี มี 2 โครงการ หมดอายุไปแล้ว 1 โครงการเมื่อวานนี้ (2 ก.ย.) และอีก 1 โครงการจะหมดอายุในปีหน้า ส่วนอีก 1 โครงการที่สมุทรปราการ จะหมดอายุในปีถัดไป