สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 ก.ย. 2562
สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 3 ก.ย. 2562
ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) หลังจากผลสำรวจบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ การที่มาตรการตอบโต้ทางภาษีของสหรัฐและจีนเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ยังได้ฉุดหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมและกลุ่มเทคโนโลยีร่วงลงอย่างหนัก เนื่องจากบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในสองภาคส่วนนี้มีการลงทุนจำนวนมากในประเทศจีน
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,118.02 จุด ร่วงลง 285.26 จุด หรือ -1.08% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปิดที่ 2,906.27 จุด ลดลง 20.19 จุด หรือ -0.69% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 7,874.16 จุด ลดลง 88.72 จุด หรือ -1.11%
ตลาดหุ้นยุโรปปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลภาคการผลิตที่อ่อนแอ ขณะที่ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) กดดันตลาดหุ้นอังกฤษร่วงลง
ดัชนี Stoxx Europe 600 ลดลง 0.23% ปิดที่ 379.81 จุด
ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 5,466.07 จุด ลดลง 26.97 จุด หรือ -0.49%, ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมันปิดที่ 11,910.86 จุด ลดลง 42.92 จุด หรือ -0.36% และ ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,268.19 จุด ลดลง 13.75 จุด หรือ -0.19%
ตลาดหุ้นลอนดอนปิดลดลงเมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบไร้ข้อตกลง และกังวลกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย หลังสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจภาคการผลิตที่อ่อนแอ
ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,268.19 จุด ลดลง 13.75 จุด หรือ -0.19%
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงกว่า 2% เมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลว่า ภาคการผลิตของสหรัฐและยุโรปที่เข้าสู่ภาวะถดถอย จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกที่ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนส.ค.
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนต.ค. ร่วงลง 1.16 ดอลลาร์ หรือ 2.1% ปิดที่ 53.94 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.ปีนี้
สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย. ลดลง 40 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 58.26 ดอลลาร์/บาร์เรล
สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 6 ปีเมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนแห่เข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังจากภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลง ซึ่งได้ฉุดตลาดหุ้นสหรัฐดิ่งลงอย่างหนัก นอกจากนี้ การอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ยังเพิ่มความน่าดึงดูดให้กับทองคำ
สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. พุ่งขึ้น 26.5 ดอลลาร์ หรือ 1.73% ปิดที่ 1,555.9 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2556
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนธ.ค. เพิ่มขึ้น 89.5 เซนต์ หรือ 4.88% ปิดที่ 19.237 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 23.9 ดอลลาร์ หรือ 2.57% ปิดที่ 955.6 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 4.00 ดอลลาร์ หรือ 0.3% ปิดที่ 1535.20 ดอลลาร์/ออนซ์
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (3 ก.ย.) เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากผลสำรวจบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของสหรัฐหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ขณะที่เงินปอนด์ดีดตัวขึ้นหลังจากพรรครัฐบาลของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้สูญเสียเสียงข้างมากในสภา ซึ่งทำให้นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) แบบไม่มีข้อตกลง
ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 105.99 เยน จากระดับ 106.19 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9874 ฟรังก์ จากระดับ 0.9904 ฟรังก์ นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ที่ระดับ 1.3326 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.3328 ดอลลาร์แคนาดา
เงินปอนด์ดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.2085 ดอลลาร์ จากระดับ 1.2067 ดอลลาร์ ขณะที่ยูโรอ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.0966 ดอลลาร์ จากระดับ 1.0970 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 0.6760 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.6716 ดอลลาร์สหรัฐ