มติเอกฉันท์!! ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ปมนายกฯถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน

มติเอกฉันท์!! ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ปมนายกฯถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน


วันนี้(11 ก.ย.62) ศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา213 ว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา5 วรรคหนึ่ง และเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่

ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า นายภาณุพงศ์ชูรักษ์ ได้ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าการกระทำที่ถูกกล่าวอ้างว่าละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ.2561 มาตรา 7(11)และมาตรา46 ก็ตามแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ.2561 มาตรา 47 (1) บัญญัติว่า “การใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา46 ต้องเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพอันเกิดจากการกระทำของหน่วยงานของรัฐเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานซึ่งใช้อำนาจรัฐและต้องมิใช่เป็นกรณีอย่างหนึ่งอย่างใด

ดังต่อไปนี้ (1) การกระทำของรัฐบาล” และมาตรา 46 วรรคสามบัญญัติว่า “…ถ้าศาลเห็นว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามมาตรา 47 ให้ศาลสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา”เห็นว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมือง(Political Issue)ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์อันอยู่ในความหมายของการกระทำของรัฐบาล(Act of Government)ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญพ.ศ.2561 มาตรา47(1)

ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับคำร้องไว้พิจารณาได้ ตามมาตรา 46 วรรคสามประกอบกับเมื่อวันที่16 กรกฎาคม2562เวลา17.45น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายกรัฐมนตรีนำคณะรัฐมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณ ก่อนเข้ารับหน้าที่ณพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิตหลังจากนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณจบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัส เพื่อให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้น้อมนำไปเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน

และต่อมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม2562 เวลา 09.00 น.นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะรัฐมนตรีได้เข้ารับพระราชดำรัสในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ซึ่งพระราชทานเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมทั้งทรงลงพระปรมาภิไธยโดยเข้ารับต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ณห้องรับรองชั้น5 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 46 วรรคสามและมาตรา 47 (1)

ส่วนกรณีที่ นายเรืองไกรลีกิจวัฒนะ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา49 ว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 และการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องต่อรัฐสภาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 นั้น เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา49 ประกอบมาตรา 3 วรรคสอง และเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 หรือไม่

ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า เป็นเพียงกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องไม่กระทำการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 และมาตรา 162 ซึ่งเป็นการกระทำที่เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกร้องได้ดำเนินการหรือยุติไปแล้วก่อนที่ผู้ร้อง จะได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา49 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 มาตรา 7(3)ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้

ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยและเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้วคำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป

Back to top button