FED-ECB กับทิศทางดอกเบี้ย
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาแห่งรัฐหรือคณะรัฐมนตรีจีน มีมติปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ทั้งแบบเป็นวงกว้างและแบบกำหนดเป้าหมายในช่วงเวลาเหมาะสม หลังสถานการณ์ในต่างประเทศ มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นและเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันช่วงขาลง โดยการปรับลด RRR เป็นแนวทางให้สถา บันการเงินสามารถปล่อยเงินกู้ได้มากขึ้น ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy)
พลวัตปี 2019 : สุภชัย ปกป้อง
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาแห่งรัฐหรือคณะรัฐมนตรีจีน มีมติปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ทั้งแบบเป็นวงกว้างและแบบกำหนดเป้าหมายในช่วงเวลาเหมาะสม หลังสถานการณ์ในต่างประเทศ มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้นและเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับแรงกดดันช่วงขาลง โดยการปรับลด RRR เป็นแนวทางให้สถา บันการเงินสามารถปล่อยเงินกู้ได้มากขึ้น ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real Economy)
บรรดานักวิเคราะห์ต่าง ๆ ประเมินกันว่า นอกจากการปรับลด RRR แล้ว เชื่อว่า จีนจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาเพิ่มเติมอีก หลังตัวเลขส่งออกและนำเข้าเดือนส.ค. 62 ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 4 แล้ว โดยสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) ระบุว่ายอดส่งออกเดือนส.ค. 62 หดตัว 1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สวนทางที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.3% ช่วงเดือนก.ค. 62
ทว่าการปรับลด RRR จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนฟื้นหรือไม่และจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป..!??
ไม่เพียงสัญญาณการถดถอยทางเศรษฐกิจของจีนเท่านั้น แต่ฟากฝั่งสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา มีสภาพที่ไม่แตกต่างกันนัก เมื่อดูตัวเลขทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่ออกมา..สะท้อนให้เห็นทิศทางว่า การประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ช่วงเดือนนี้ มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างไรหรือไม่..
เริ่มจากการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) วันที่ 12 ก.ย. 62 นี้ ถูกจับตามากสุดรอบหลายปีว่า ECB จะกำหนดทิศทางดำเนินนโยบายอย่างไร ภายใต้ปัญหารุมเร้าเศรษฐกิจภายในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในยูโรโซน สุ่มเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/62 หดตัวลง 0.1% สาเหตุหลักมาจากยอดการส่งออก ที่ลดลงและผลกระทบจากข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ เชื่อว่า ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยและรื้อฟื้นโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รอบใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน โดยตลาดการเงินประเมินว่า มีแนวโน้ม 80% ที่ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.20%
โดยการประชุมนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 62 ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ระดับ 0% ถือเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.40% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% พร้อมระบุว่าจะยังตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปหรือปรับลดลง อย่างน้อยจนถึงช่วงครึ่งแรกปี 2563
ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีกำหนดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) วันที่ 17-18 ก.ย. 62 วาระสำคัญที่ทั่วโลกจับตาคือจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือไม่.!? หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 30-31 ก.ค. 62 มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2551
นักวิเคราะห์สำนักต่าง ๆ ประเมินว่ามีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% หลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 130,000 ตำแหน่ง ช่วงเดือนส.ค. 62 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้มีกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25%
โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือฟิทช์เรทติ้งส์ คาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% การประชุมนโยบายการเงินช่วงเดือนธ.ค. 62 และจากนั้นจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมตลอดปี 2563 ขณะที่ “เวลส์ฟาร์โก” ระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เฟด จะลดดอกเบี้ยลง 0.25% รอบนี้ ท่ามกลางเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำและข้อพิพาทการค้านั่นเอง..!!
แน่นอนว่าหาก ECB และเฟด มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ จะเป็นเข็มทิศบอกทางได้ว่าการประชุมคณะ กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย (25 ก.ย. 62) อาจต้องปรับอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้งได้เช่นกัน..!!